กรมการขนส่งทางบกลั่น! หมดเวลาผ่อนผัน ชี้กฎหมายเปิดช่องให้รถมอไชค์ที่รับส่งผู้โดยสารต้องจดทะเบียนเป็นรถสาธารณะเท่านั้น ส่วนรถส่งอาหารและสิ่งของ เป็นรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล ( ป้ายดำ) ได้ตามเดิม ส่วนใครไม่มีสังกัดขนส่งเปิดให้ยื่นขอจัดตั้งวินใหม่ขึ้นทะเบียนรถจักรยานยนต์สาธารณะ
ผู้สื่อข่าวรายงานจาก กรมการขนส่งทางบก (ขบ.)ว่า ขบ.ได้รับทราบการประกาศเปลี่ยนแปลงรูปแบบการให้บริการ GrabBike (win) ของบริษัท แกร็บ ประเทศไทย โดยมีการยืนยันว่าจะนำรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลออกจากระบบ และมีการระบุว่าจะยุติการให้บริการในอีก 30 วันข้างหน้า ตามคำสั่งของกรมการขนส่งทางบก ทำให้เกิดความสับสนและกังวลในกลุ่มผู้ให้บริการที่เข้าร่วมกับบริษัทฯ รวมถึงประชาชนบางส่วนที่เป็นผู้ใช้บริการเดินทางรูปแบบดังกล่าวเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ ตามที่กระทรวงคมนาคมมีนโยบายส่งเสริมการให้บริการรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยผู้ให้บริการแอปพลิเคชันต้องขึ้นทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก เพื่อให้ภาครัฐสามารถควบคุมกำกับดูแลการให้บริการที่ปลอดภัยและเกิดการแข่งขันในการพัฒนาการให้บริการภายใต้กติกาเดียวกัน ซึ่งหลังจากประกาศเปิดรับคำขอตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2564 มีแอปพลิเคชันที่ได้รับการรับรองแล้วจำนวน 2 ราย ได้แก่ Hello Phuket Service และ Bonku
แต่สำหรับ Grab พบว่า มีการให้บริการเรียกรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล (ป้ายดำ) มาใช้รับจ้างบรรทุกคนโดยสาร ซึ่งนอกจากจะเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ฐานใช้รถไม่ตรงตามประเภทที่จดทะเบียนแล้ว ยังมีการคิดอัตราค่าโดยสารและค่าบริการไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดกรมการขนส่งทางบกจึงไม่สามารถรับรองระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการให้บริการในลักษณะที่นำไปสู่การฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าวได้
อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้มีการผ่อนผันและขอความร่วมมือ Grab ให้ปรับปรุงรูปแบบให้บริการ เพื่อนำไปสู่การยกเลิกการให้บริการรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล (ป้ายดำ) โดยให้เปลี่ยนไปเป็นการให้บริการรับส่งอาหารหรือสิ่งของแทน และใช้รถจักรยานยนต์สาธารณะที่ถูกต้องตามกฎหมายที่มีอยู่ในระบบมาให้บริการรับส่งคนโดยสารผ่านแอปพลิเคชัน เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งระหว่าง Grab และผู้ขับรถจักรยานยนต์สาธารณะ แต่บริษัทยังคงไม่ดำเนินการแต่อย่างใด กรมการขนส่งทางบกจึงต้องแจ้งให้นำการให้บริการที่นำไปสู่การฝ่าฝืนกฎหมายออกจากแอปพลิเคชัน อย่างไรก็ตาม ไรเดอร์ยังคงสามารถให้บริการส่งอาหารหรือสิ่งของได้ (Food Delivery และ Express) เนื่องจากการใช้รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลในลักษณะดังกล่าวมิได้ขัดต่อกฎหมายแต่ประการใด
นอกจากนั้นจะพบว่าในปัจจุบัน มีจักรยานยนต์สาธารณะในเขตกรุงเทพมหานครฯ กว่า 78,000 คัน ในกว่า 5,300 วิน ที่พร้อมให้บริการแก่ประชาชนในทุกพื้นที่ ซึ่งจดทะเบียนเป็นรถจักรยานยนต์สาธารณะอย่างถูกต้อง ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ต้องสวมเสื้อวิน มีบัตรติดเสื้อ โดยข้อมูลตัวคน บัตร และรถ ต้องถูกต้องตรงกัน เพื่อความปลอดภัยในการใช้บริการและได้รับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย
สำหรับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศยุติการให้บริการของบริษัทฯ ดังกล่าว คณะกรรมการประจำกรุงเทพมหานครได้เปิดให้ยื่นขอจัดตั้งวินใหม่หรือขึ้นทะเบียนเป็นผู้ขับรถจักรยานยนต์สาธารณะ เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้บริการรถจักรยานยนต์สาธารณะของประชาชน ซึ่งมีการเปิดให้ยื่นครั้งแรกในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ณ สำนักงานเขตทั้ง 50 แห่งของกรุงเทพมหานครและจะเปิดเพิ่มเติมในทุกๆ ไตรมาส