กรมวิชาการเกษตร โชว์ผลงานมาตรการ GMP Plus ป้องเชื้อโควิด 19 เข้าตาเอกอัครราชทูตจีน รักษาแชมป์ส่งออกทุเรียนไปจีน 4 เดือนกว่ายอดส่งออกทะลุเป้าเกิน 5 แสนตัน สร้างรายได้แล้วกว่า 5 หมื่นล้านบาท ส่งต่อ GMP Plus คุมเข้มทุเรียนภาคใต้ พร้อมชงของบ 59 ล้านสร้างแลปศูนย์กลางตรวจสอบสร้างความเชื่อมั่นผลไม้ไทยปลอดภัย
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากนโยบายผลักดันการส่งออกผลไม้ไปจีนของนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำชับให้ผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ยึดแนวปฏิบัติตามมาตรการ GMP Plus ของกรมวิชาการเกษตร ทำให้ประเทศไทยสามารถรักษาแชมป์ตลาดส่งออกทุเรียนไปจีนไว้ได้ โดยตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ -17 มิถุนายน 2565 มีการส่งออกทุเรียนผลสดจากไทยไปจีนปริมาณ 509,138 .89 ตัน รวมมูลค่า 54,418.45 ล้านบาท รวมทั้งจากการเดินทางมาเยี่ยมชมสวนและล้งทุเรียนที่จังหวัดจันทบุรีของนายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูต สาธารณรัฐประชาชนจีนได้สร้างความเชื่อมั่นทุเรียนไทยคุณภาพดีและมีมาตรฐานความปลอดภัยตั้งแต่กระบวนการปลูก การคัดคุณภาพ การฆ่าเชื้อปนเปื้อนและการขนส่งภายใต้มาตรการ GMP Plus ที่เข้มข้นในการส่งออกไปยังประเทศจีน โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด -19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งสินค้าออกจากไทยไปจีนอย่างมาก โดยเอกอัครราชทูตจีนได้กล่าวชื่นชมและขอบคุณผู้ส่งออกไทยที่ปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เข้มงวดดังกล่าว
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า การส่งออกผลไม้ไปจีนในปีนี้ภายใต้มาตการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโควิด -19 ซึ่งจีนให้ความสำคัญและเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้าที่นำเข้าอย่างมากถือว่าประสบความสำเร็จสามารถส่งออกทุเรียนได้เกินเป้าที่ตั้งไว้ เนื่องจากนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เตรียมการวางแผนล่วงหน้าโดยลงพื้นที่ จ.จันทบุรีเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2565 เพื่อหารือแนวทางการบริหารจัดการผลไม้ปี 65 และจัดทำมาตรการการส่งออกร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรีพร้อมด้วยผู้แทนภาคเอกชนและเกษตรกร พร้อมเน้นย้ำขอให้ช่วยกันพัฒนาทุเรียนคุณภาพปลอดโควิด-19 เพื่อรักษาตลาดส่งออก โดยต้องมีความซื่อสัตย์ไม่ตัดทุเรียนอ่อนมาจำหน่าย ขณะที่ภาคเอกชนต้องยกระดับโรงคัดบรรจุเข้าสู่ GMP Plus ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้จัดทำแนวปฏิบัติไว้เพื่อให้จังหวัดจันทบุรีเป็นพื้นที่นำร่องสร้างระบบทำให้ทุเรียนไทยปลอดโควิดเพื่อให้จีนเชื่อมั่นว่าทุเรียนไทยปลอดโควิด 100%
ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรได้ขยายผลมาตรการ GMP Plus ไปสู่การส่งออกทุเรียนในภาคใต้ ซึ่งคาดการณ์ว่าทุเรียนใต้ในปีนี้จะให้ผลผลิตเร็วกว่าทุกปีคือตั้งแต่เดือนมิถุนายน-สิงหาคม และจะมีรายได้จากการส่งออกเพิ่มขึ้นมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ โดยสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 จ.สุราษฎร์ธานี กรมวิชาการเกษตรได้จัดอบรมหลักสูตรการพัฒนาทักษะผู้ควบคุมคุณภาพผลผลิตประจำโรงคัดบรรจุผลไม้ทั้งเปลือกแก่ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุผลไม้ภาคใต้ เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการการป้องกันเชื้อโควิด-19 รวมทั้งจัดทีมออกปฏิบัติการเชิงรุกเข้าตรวจโรงคัดบรรจุตามมาตรการควบคุมป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโควิด-19ติดปนเปื้อนไปกับทุเรียน โดยมีโรงคัดบรรจุในเขตจังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี ผ่านการตรวจรับรองตามมาตรการ GMP Plus แล้วจำนวน 79 โรงคัดบรรจุ
“มาตรการ GMP Plus เป็นที่ยอมรับของจีนช่วยสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพและความปลอดภัยของผลไม้ไทย ได้อนุมัติงบประมาณให้สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จ.จันทบุรี ในระยะเร่งด่วนวงเงินจำนวน 1.5 ล้านบาท สำหรับจัดทำห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ออกตรวจทุเรียนส่งออกไปจีน ส่วนในระยะยาวเพื่อเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้เตรียมเสนอของบกลางจากคณะรัฐมนตรีภายในวงเงิน 59 ล้านบาทตามโครงการยกระดับมาตรฐานสินค้า เพื่อสร้างห้องปฏิบัติการตรวจรับรองปัจจัยการผลิตและสินค้าเกษตรเพื่อป้องกันเชื้อปนเปื้อนสู่คนและสิ่งแวดล้อม โดยเมื่อห้องแลปนี้สร้างแล้วเสร็จจะเป็นศูนย์กลางในการตรวจสอบและให้บริการแก่เกษตรกร ผู้ประกอบการในการผลิตและส่งออกผลไม้ปลอดภัย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ซึ่งมูลค่าส่งออกผลไม้โดยเฉพาะทุเรียนสร้างรายเข้าประเทศปีละหลายแสนล้านบาท” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว