“พาณิชย์” เสริมอาวุธทรัพย์สินทางปัญญาผู้สร้างงานศิลปหัตถกรรมไทย

0
72

“สินิตย์ เลิศไกร” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ขับเคลื่อนการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ในงานศิลปหัตถกรรมไทย มอบ sacit สานความร่วมมือกับ DIP เร่งสร้างความรู้ความเข้าใจด้านทรัพย์สินทางปัญญาให้แก่ผู้สร้างสรรค์งานหัตถกรรมไทย เน้นย้ำงานศิลปหัตถกรรมไทยทรงคุณค่าไม่ควรปล่อยให้ใครลอกเลียนแบบ

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งเสริม สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทยและต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ นับว่าเป็นภารกิจหนึ่งของกระทรวงพาณิชย์ ที่ขับเคลื่อนโดยสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ sacit ซึ่งจะเห็นได้ว่าทิศทางการสร้างสรรค์ งานศิลปหัตถกรรมไทยในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไป โดยมีการผสมผสานความคิดสร้างสรรค์ หรือนำนวัตกรรมมาผสมผสานให้ชิ้นงานมีเอกลักษณ์ ตลอดจนกระบวนการผลิตล้วนสร้างสรรค์มาจากภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือเป็นการสืบทอดต่อกันมาในแต่ละพื้นที่ ส่งผลให้ในบางชิ้นงานมีเพียงหนึ่งเดียวในโลก จึงถือได้ว่าเป็นหนึ่ง ในทรัพย์สินทางปัญญาที่ควรต้องปกป้อง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ให้ความสำคัญกับการปกป้องคุ้มครองสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา

รมช.พาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงพาณิชย์ ให้ความสำคัญด้านการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในทุกมิติมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เพื่อป้องกันการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ในงานศิลปหัตถกรรมไทย กระทรวงพาณิชย์ จึงมอบหมายให้ sacit สานความร่วมมือกับ DIP เพื่อปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในงานศิลปหัตถกรรมไทย ซึ่งเป็นงานที่สร้างสรรค์ขึ้นจากอัตลักษณ์และวัตถุดิบ ในท้องถิ่นหรือชุมชนเท่านั้น ตลอดจนการจดลิขสิทธิ์คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้กับงานศิลปหัตถกรรมไทยเพื่อไม่ให้ถูกนำไปลอกเลียนแบบได้ ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยให้การผลักดันด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาสามารถเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมได้มากขึ้น และสามารถผลักดันให้งานศิลปหัตถกรรมไทยที่ผ่านการจดลิขสิทธิ์กลายเป็นผลงานทรงคุณค่าของประเทศ สร้างชื่อเสียง และสร้างมูลค่าในเชิงพาณิชย์ได้อีกด้วย

ด้าน นายพรพล เอกอรรถพร รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย กล่าวเสริมว่า sacit น้อมรับนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ในด้านการส่งเสริมให้เกิดการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้กับงานศิลปหัตถกรรมไทย โดยการลงพื้นที่ 4 ภูมิภาค และประสานความร่วมมือกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา หรือ DIP จัดเตรียมเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ด้านทรัพย์สินทางปัญญา ร่วมลงพื้นที่ไปพร้อมกับ sacit เพื่อไปเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องการจดลิขสิทธิ์คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้กับชาวบ้านที่ทำงานศิลปหัตถกรรมไทย และในอนาคตจะเตรียมประสานงานร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัด และผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทย เพื่อเชื่อมโยงงานศิลปหัตถกรรมไทยที่มาจากภูมิปัญญาดั้งเดิม และสะท้อนภูมิศาสตร์นั้น ๆ เพื่อขับเคลื่อนการขึ้นทะเบียนเป็น GI Craft ต่อไป