กลุ่มบางจากฯโชว์ผลงาน Q1 ปลื้ม!EBITDA รายไตรมาสทะลุกว่าหมื่นล้านเป็นครั้งแรก รับผลกระจายลงทุน เร่งสร้างความมั่นคงและสมดุลทางด้านพลังงานจากสถานการณ์ตึงเครียดรัสเซีย-ยูเครน และตอบโจทย์สังคมคาร์บอนต่ำ ชี้แนวโน้มราคาน้ำมันทรงตัวสูงหนุนผลการดำเนินงานไตรมาส2โตต่อเนื่อง สร้างสถิติใหม่ด้วยกำลังการกลั่นเต็มศักยภาพกว่า 122,000 บาร์เรลต่อวัน
ไปเจาะลึกในรายละเอียดทั้งหมดจากการเปิดเผยของประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัทบางจากฯ “ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช”โดยขมวดในแต่ละประเด็นย่อย ดังนี้
EBITDA รายไตรมาสทะลุกว่า 1.37 หมื่นล้านบาทเป็นครั้งแรก
ผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ของปี 2565 ว่า บริษัท บางจากฯ และบริษัทย่อย มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 69,055 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จากไตรมาสก่อน และร้อยละ 67 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 คิดเป็น EBITDA 13,714 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 48 จากไตรมาสก่อน และร้อยละ 189 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และมีกำไรสุทธิส่วนของบริษัทใหญ่ที่ 4,356 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 148 จากไตรมาสก่อน และร้อยละ 91 จากช่วงเดียวกันของปี 2564 คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 3.12 บาท
โดยผลดำเนินงานที่ปรับเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งมาจากการเปลี่ยนวิธีบันทึกเงินลงทุนใน OKEA เป็นบริษัทย่อยซึ่งเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 เป็นต้นมา และจากกลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมันที่ได้รับปัจจัยหนุนจากราคาน้ำมันดิบและราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก อุปทานพลังงานที่ตึงตัวหลังสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครน และการขยายตัวของอุปสงค์น้ำมันหลังความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนโควิด-19 รวมทั้งการทยอยผ่อนคลายมาตรการจำกัดกิจกรรมทางสังคมในหลายประเทศทั่วโลก เป็นผลให้ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยไตรมาสแรกปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 96.21 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 17.95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลจากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 36.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยกลุ่มบริษัทฯ ได้วางแผนทยอยเก็บสำรองน้ำมันล่วงหน้า ทำให้มี Net Inventory Gain (กำไรจากสต็อกน้ำมันสุทธิ ปรับด้วยผลต่างจากสัญญาซื้อขายน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันล่วงหน้า)ในไตรมาสนี้กว่า 2,900 ล้านบาท
ปัจจัยหนุนดังกล่าวยังส่งผลให้ค่าการกลั่นพื้นฐานปรับตัวสูงขึ้น ทำให้โรงกลั่นบางจากฯ มีการปรับเพิ่มอัตรากำลังการผลิตจนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ในขณะที่กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติและพัฒนาธุรกิจใหม่ก็ได้รับปัจจัยหนุนจากราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะราคาก๊าซธรรมชาติที่ปรับเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 367 เมื่อเทียบกับปี 2564
ปลื้ม!ผลงาน กลุ่มธุรกิจขาขึ้น
กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 63 จากไตรมาสก่อนและร้อยละ 108 จากปี 2564 มี Inventory Gain 3,566 ล้านบาท (คิดเป็น Net Inventory Gain ราว 2,350 ล้านบาท) ค่าการกลั่นพื้นฐานปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.84 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.6 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากส่วนต่างราคาน้ำมันสำเร็จรูปและน้ำมันดิบอ้างอิง (Crack Spread) ของทุกผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้นตามภาวะตลาดโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนต่างราคาน้ำมันดีเซล-ดูไบ (GO-DB) ซึ่งดีเซลเป็นผลิตภัณฑ์ที่โรงกลั่นบางจากฯ ผลิตได้มากที่สุด ส่งผลให้โรงกลั่นปรับเพิ่มอัตรากำลังการผลิตเฉลี่ยมาอยู่ที่ระดับ 122,100 บาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็นร้อยละ 102 ของกำลังการผลิตรวมของโรงกลั่น ทั้งนี้ การปรับกำลังการกลั่นยังช่วยรองรับการขยายตลาดส่งออกของผลิตภัณฑ์ UCO (Unconverted Oil) อีกด้วย
ด้านธุรกิจการค้าน้ำมันโดย BCPT ปรับตัวดีขึ้นจากกำไรต่อหน่วยของผลิตภัณฑ์กลุ่มน้ำมันเตาเกรดกำมะถันต่ำที่ปรับเพิ่มขึ้น สะท้อนความต้องการใช้น้ำมันเตาในกลุ่มเรือขนส่งปรับเพิ่มขึ้นตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ขณะที่ธุรกิจระบบขนส่งน้ำมันทางท่อและโลจิสติกส์โดย บจก. กรุงเทพขนส่งเชื้อเพลิงทางท่อและโลจิสติกส์ (BFPL) ได้เริ่มดำเนินการบริหารระบบขนส่งน้ำมันทางท่อ ช่วงกรุงเทพ – บางปะอิน เพื่อเป็นช่องทางการเพิ่มรายได้ ลดต้นทุนขนส่งน้ำมัน ลดการสูญเสียระหว่างขนส่ง และลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ
กลุ่มธุรกิจการตลาด ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 338 จากไตรมาสก่อน โดยหลักมาจากราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่า ส่งผลให้มี Inventory Gain เพิ่มขึ้น และปริมาณการจำหน่ายรวมของธุรกิจตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 จากไตรมาสก่อน และร้อยละ 14 จากปี 2564 เนื่องจากประชาชนมีภูมิคุ้มกันจากการได้รับวัคซีนโควิด-19 และอุตสาหกรรมการบินเริ่มฟื้นตัวจากการเปิดประเทศ นอกจากนี้ แม้ธุรกิจการตลาดจะยังคงได้รับผลกระทบด้านค่าการตลาดสุทธิ เนื่องจากต้นทุนราคาน้ำมันสำเร็จรูปปรับตัวสูงขึ้นตามภาวะตลาดโลก และบริษัทฯ ได้ให้ความร่วมมือกับภาครัฐโดยตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรเพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน แต่ด้วยนโยบายการบริหารจัดการต้นทุนและการผลักดันยอดขายน้ำมันหล่อลื่นซึ่งมีค่าการตลาดสูงกว่า ส่งผลให้ค่าการตลาดรวมสุทธิต่อหน่วยปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 จากไตรมาสก่อน แม้ยังคงลดลงร้อยละ 22 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว พร้อมมุ่งเน้นขยายธุรกิจในกลุ่ม Non-Oil ทำให้ร้านกาแฟอินทนิลสามารถเพิ่มยอดขายกาแฟได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนมีนาคม 2565
กลุ่มธุรกิจพลังงานไฟฟ้า โดยบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 196 จากไตรมาสก่อน และร้อยละ 214 จากปี 2564 โดยหลักมาจากการรับรู้กำไรก่อนหักภาษีจากการขายเงินลงทุนทั้งหมดในบริษัท Star Energy Group Holdings Pte. Ltd. (“SEGHPL”) 2,031 ล้านบาท รวมถึงปัจจัยหนุนจากค่าความเข้มแสงเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น และการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ของโครงการ Solar Rooftop ในประเทศไทย ร่วมกับการรับรู้การผลิตไฟฟ้าเต็มไตรมาสของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ชิบะ 1 ประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้ เมื่อเดือน มีนาคมที่ผ่านมา บีซีพีจีได้เปิด COD โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์โคมากาเนะ ประเทศญี่ปุ่น กำลังการผลิตตามสัญญา 25 เมกะวัตต์ ทำให้ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าฯ ในประเทศญี่ปุ่นทั้งสิ้น 59.7 เมกะวัตต์
กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ โดยบริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) ได้รับปัจจัยบวกจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคา B100 อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะยังคงได้รับผลกระทบจากมาตรการปรับลดสัดส่วนการผสม B100 เพื่อตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศ ส่งผลให้ผลการดำเนินงานในไตรมาสนี้ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 35 และมีกำไรขั้นต้นเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 41 ตามลำดับเทียบจากไตรมาสก่อน พร้อมทั้งรับรู้รายได้จากธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง (High Value Products (HVP) เช่น การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ส่งเสริมสุขภาพภายใต้แบรนด์ B nature+ ผ่านช่องทางออนไลน์ ร้านกาแฟอินทนิล 50 สาขา ตลอดจนการจำหน่ายผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือเกรดเภสัชกรรม โดยในไตรมาสนี้ บีบีจีไอมีค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 จากไตรมาสก่อน จากการเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) และการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ซึ่งเริ่มทำการซื้อขายใน ตลท. เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2565 เป็นต้นมา
กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติและพัฒนาธุรกิจใหม่ ปรับลดลงร้อยละ 12 จากไตรมาสก่อน แต่ปรับเพิ่มขึ้น กว่าร้อยละ 1,000 จากช่วงเดียวกันของปี 2564 จากแนวโน้มราคาพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยหลักมาจากผลการดำเนินงานของ OKEA ที่มี EBITDA สูงขึ้นร้อยละ 401 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้จะมีปริมาณการจำหน่ายที่ลดลง เนื่องจากในไตรมาสนี้ไม่มีการจำหน่ายจากแหล่ง Ivar Assen และการหยุดซ่อมบำรุงตามแผนของแหล่ง Gjøa แต่มีปัจจัยบวกจากราคาขายเฉลี่ยน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่สูงขึ้น โดยเฉพาะราคาก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 367 จากปีก่อนหน้า ทั้งนี้ จากที่กลุ่มบริษัทฯ เปลี่ยนการบันทึกเงินลงทุนใน OKEA เป็นบริษัทย่อย ทำให้รับรู้ผลการดำเนินงานด้วยวิธีการจัดทำงบการเงินรวมตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 สำหรับในปี 2565 คาดว่า OKEA จะมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 18,500-20,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ซึ่งได้รวมผลของการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในแหล่ง Ivar Aasen จากร้อยละ 0.554 เป็นร้อยละ 2.777 ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2565
ปรับแผนธุรกิจเหมาะสม เร่งลงทุน-รักษาสมดุลหนุนเติบโตไตรมาส2
สำหรับไตรมาส 2 ของปีนี้ ราคาน้ำมันยังคงได้รับแรงหนุนจากภาวะอุปทานน้ำมันดิบที่ตึงตัวอย่างมากจากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่วนราคาน้ำมันใสยังได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์น้ำมันที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องหลังจากหลายประเทศทั่วโลกผ่อนคลายมาตรการเดินทาง ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อกลุ่มธุรกิจโรงกลั่นฯ ธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติและพัฒนาธุรกิจใหม่ อีกทั้งค่าการกลั่นพื้นฐานยังมีแนวโน้มที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้โรงกลั่นบางจากฯ ยังคงมุ่งเน้นรักษากำลังการกลั่นให้สูงอย่างต่อเนื่อง ด้านธุรกิจการตลาด ค่าการตลาดจะปรับตัวดีขึ้นจากมาตรการลดผลกระทบต่าง ๆ ตามแผนที่เตรียมไว้ แม้จะต้องเผชิญแรงกดดันจากต้นทุนราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ปรับตัวสูงขึ้นตามภาวะตลาดโลก โดยบริษัทฯ ยังคงติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อปรับแผนธุรกิจให้เหมาะสม เร่งการลงทุน เพื่อรักษาสมดุลระหว่าง การสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ และการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด โดยมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำในการผลักดันสังคมคาร์บอนต่ำ พร้อมทั้งดำเนินธุรกิจด้วยความคำนึงถึงเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและการกำกับดูแลกิจการ อย่างมีความรับผิดชอบต่อทุกภาคส่วน