เมื่อคลื่นรถ EV บุกไทย ‘โอกาส’หรือ ‘หายนะ’อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย?

0
303

ถือเป็นคลื่นมาแรงโน้มถ่วงการเปลี่ยนเทรนด์เทคโนโลยีโลกยานยนต์สมัยใหม่สำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าหลังไหลกระทบฝั่งไทยอย่างต่อเนื่อง สังเกตได้จากงานมหกรรมยานยนต์มอเตอร์โชว์เมื่อช่วงเดือนเม.ย.ที่ผ่านมามียอดจองรถยนต์ภายในงานรวมทั้งสิ้น 33,936 คันโตจากปีก่อน 13.6%  ที่น่าฮือฮาที่หลายฝ่ายจับตาคือยอดจองรถยนต์ไฟฟ้าจะพุ่งสูงมากน้อยเพียงใด

ปรากฎว่าสูงถึง 3,000 คัน หรือคิดเป็นประมาณ 10% ของยอดจองภายในงานทั้งหมด ซึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันแพงจากวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน และได้อานิสงส์แรงหนุนจากมาตรการภาครัฐที่ปรับลดภาษีรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงเทรนด์การเปลี่ยนแปลงยานยนต์สมัยใหม่ หลอมรวมแม่เหล็กให้คนไทยสนใจรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น

ท่ามกลางคลื่นรถ EV บุกไทยผนวกแรงกระเพื่อมกระแสความตื่นตัวคนไทย แรงกระตุ้นมาตรการจากภาครัฐ ทำให้หลายฝ่ายต่างมองว่าช่วงเปลี่ยนผ่านจากยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปไปเป็น EV น่าจะเป็นโอกาสทองการเติบโตอุตสาหกรรมยานยนต์ และห่วงโซ่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องอย่างเนื่อง ทว่า หลังเหลือบเห็นงานวิจัยของ KKP Research ในหัวข้อ ‘เมื่ออุตสาหกรรมยานยนต์เปลี่ยนเป็น EV ทำไมไทยเสียเปรียบคู่แข่ง?’

ถือเป็นงานวิจัยจุดประกายจากห้วงความตื่นเต้นกลายเป็นข้อกังวลว่าการเปลี่ยนผ่านจากยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปไปเป็น EV ที่ผู้คนมองตรงกันว่ามันคือ “โอกาสทอง” แท้จริงแล้ว มันอาจกลายเป็น”หายนะ”วงล้ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทยก็เป็นได้ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น Logistics Time ขอขมวดจากงานวิจัยของ KKP Research ดังกล่าวต่อไปนี้

Power supply connect to electric vehicle for charge to the battery. Charging technology industry transport which are the futuristic of the Automobile. EV fuel Plug in hybrid car.

เมื่อไหร่? EV ขึ้นแท่นแทนเครื่องยนต์สันดาป

เรื่องนี้ KKP Research ระบุว่าภาพรวมรถ EV โลกแม้ว่าภาพรวมตลาดโลกจะเติบโตมาก โดยช่วงปี 2019-2021 ยอดขายรถ EV ทั่วโลกเติบโตเฉลี่ยถึง 70% แต่ KKP Research ประเมินว่า ตั้งแต่ปี 2022-2025 ยอดขาย EV ทั่วโลกจะเติบโตช้าลงมาก เหลือแค่เฉลี่ยปีละ 30% ไม่ใช่ว่าคนไม่นิยมแต่เพราะว่าจะผลิตไม่ทัน ทว่า แร่ลิเธียมที่จำเป็นในการทำแบตเตอรี่จะผลิตไม่ทัน และมีการคาดการณ์ว่าจะขาดแคลนในปี 2024-2026

เปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดก็คือว่า“แร่ลิเธียม”คือหัวใจหลักของการผลิตแบตเตอรี่ EV ซึ่งการผลิตรถ EV 1 คันต้องใช้แร่ลิเธียมเฉลี่ย 9 กิโลกรัม ปัจจุบันออสเตรเลียมีสัดส่วนการผลิตแร่ลิเธียมถึง 55% ของกำลังการผลิตทั่วโลก แต่ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันออสเตรเลียมีกำลังการผลิตอยู่เพียงแค่ 1 แสนตันต่อปีเพียงพอต่อการผลิต EV ประมาณ 11 ล้านคันต่อปี ทว่า ยอดขายรถเครื่องยนต์สันดาปทั่วโลกอยู่ที่ปีละ 80 ล้านคัน เพราะฉะนั้นระยะสั้นหากยังไม่มีเทคโนโลยีที่เพิ่มกำลังการผลิตแร่ลิเธียม หรือมีเทคโนโลยีใหม่ในการผลิตแบตเตอรี่ ยอดขายรถยนต์ EV ก็จะไม่เติบโตมากแม้ความต้องการจะมหาศาลก็ตาม

สะท้อนว่าไทม์ไลน์รถ EV จะขึ้นแท่นแทนยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปล่าช้าออกไปจากที่เคยประเมินเอาไว้!

ขีดความสามารถการแข่งขันไทยลดลง?คู่แข่งมาแรงแซงไทย

KKP Research ระบุในงานวิจัยอีกว่าจากไทยที่เป็น Detroit of Asia ฐานการผลิตรถยนต์สำคัญขายในตลาดโลกอาจไปสู่จุดจบแบบที่เคยเกิดขึ้นกับประเทศออสเตรเลียก็เป็นได้ โดย KKP Research ประเมินว่า การผลิตรถยนต์ในประเทศไทยมีแนวโน้มเหลือเพียงแค่การผลิตเพื่อขายในประเทศเท่านั้น หรือเลวร้ายที่สุดอาจจะต้องนำเข้ารถยนต์จากประเทศอื่นแทน ตามข้อมูลดังนี้

คู่แข่งสำคัญในตลาดโลกเราคือจีนและอินโดนีเซีย โดยสัดส่วนการส่งออกรถยนต์จากไทยไปตลาดโลกลดลงจาก 1.7% เหลือเพียง 1.3% แต่ถ้าไปดูจีนส่วนแบ่งในตลาดโลกเขาเพิ่มขึ้น 2 เท่าภายใน 5 ปี จาก 0.7% เป็น 1.5% เนื่องจากรถจีนเริ่มเป็นที่ยอมรับมากขึ้นและเจาะตลาดรถยนต์ได้ในหลายประเทศ

และหากพูดถึงรถ EV จีนถือได้ว่าเจาพัฒนาไปไกลมาก เนื่องจากเขาพัฒนาแบตเตอรี่มานานแล้ว และสามารถเป็นเจ้าของแบตเตอรี่ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยส่วนต้นน้ำมีแหล่งแร่ลิเธียม แร่โคบอลต์ ทำให้จีนเป็นเจ้าของกำลังการผลิตแบตเตอรี่รถ EV เกือบ 80% ของกำลังการผลิตโลก ที่สำคัญจีนไม่จำเป็นต้องย้ายฐานการผลิตรถ EV มาที่ประเทศไทยเลย เพราะว่าข้อตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ที่ไทยทำกับจีนกำหนดให้จีนสามารถส่งรถ EV มาขายในไทยโดยไม่ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว

ส่วนอินโดนีเซียมี 3 จุดแข็งรถ EV ที่ดีกว่าไทย ข้อแรกคือ อินโดนีเซียเป็นแหล่งแร่นิกเกิลที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งนิกเกิลเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่รถ EV ซึ่งนิกเกิลเป็นแร่ที่มีผลต่อราคาแบตเตอรี่อย่างมากเนื่องจากมีราคาสูงรองจากโคบอลต์และลิเธียม สอง ค่าแรงของอินโดนีเซียถูกกว่าไทย 3 เท่า  และสาม ตลาดภายในประเทศอินโดนีเซียใหญ่กว่าไทยเกือบ 4 เท่า ด้วยประชากรกว่า 273 ล้านคน ยอดขายรถยนต์ในอินโดนีเซียเฉลี่ยปีละ 1 ล้านคัน ส่วนยอดขายในไทยเฉลี่ยปีละ 8.6 แสนคัน

ไทยอาจเป็นชาติสุดท้ายฐานการผลิตรถเครื่องยนต์สันดาปโลก

วกกลับมามองประเทศไทย ตัวเลขส่วนแบ่งการส่งออกรถยนต์จากไทยไปตลาดโลกที่ลดลงจาก 1.7% เหลือเพียง 1.3% เป็นสัญญาณที่น่ากลัว เพราะหากยังลดลงอีกจากนี้ไปอาจทำให้การตั้งฐานผลิตยานยนต์ในไทยไม่คุ้มกับต้นทุน อีกปัจจัยหนึ่งคือตลาดส่งออกของไทยส่วนใหญ่เป็นตลาดประเทศพวงมาลัยขวา ซึ่งก็เป็นตลาดขนาดเล็กอยู่แล้ว แค่ 1 ใน 6 ของโลกเท่านั้น บางคนอาจสงสัยว่าแล้วทำไมไม่เปลี่ยนมาผลิตพวงมาลัยซ้ายไว้ใช้ส่งออก คำตอบคือมันไม่ง่ายอย่างที่คิดเพราะมีต้นทุนในการเปลี่ยนผ่านที่สูงมาก

อีกเรื่องสำคัญ ตามการวิเคราะห์ของ KKP Research ระบุว่าค่ายรถญี่ปุ่นปรับตัวไปสู่ EV ได้ช้าเมื่อเทียบกับค่ายยุโรป แต่ค่ายรถญี่ปุ่นเป็นเสาหลักอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นคือหากญี่ปุ่นยังไม่ทิ้งไทยไปไหน สถานะของไทยก็อาจจะเป็นชาติท้ายๆ ที่จะเป็นฐานการผลิตรถเครื่องยนต์สันดาปของโลก ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ชะลอตัวลงเรื่อยๆ

หรือไม่ญี่ปุ่นก็อาจจะทิ้งไทยไปลงทุนตั้งฐานการผลิตในประเทศอื่น เพราะไทยเราหมดความน่าสนใจไปแล้ว จุดแข็งที่เคยมีเรื่องต้นทุนแรงงานที่ต่ำก็เริ่มแพงขึ้น อย่าลืมว่าถ้าหันไปมองอินโดนีเซีย ต้นทุนค่าแรงเขาต่ำกว่าไทย 3 เท่า แถมยังมีความได้เปรียบทั้งขนาดตลาดในประเทศและแหล่งแร่สำคัญในการผลิตแบตเตอรี่

 EV (อาจ)กระทบอุตฯยานยนต์ไทย-การจ้างงานอาจหายไปครึ่งหนึ่ง

ในเรื่องนี้ KKP Research ระบุว่ายานยนต์ EV กระทบกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมากกว่าที่คิด ที่สำคัญการเปลี่ยนผ่านไปสู่รถ EV ไม่ใช่แค่แบตเตอรี่ ทว่า ยังเหมารวยมถึงห่วงโซ่การผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์จะเปลี่ยนไปอย่างมาก

KKP Research ยังประเมินด้วยว่า ชิ้นส่วนหลักที่จะหายไปแน่ๆ คือเครื่องยนต์ ระบบจ่ายเชื้อเพลิง และระบบส่งกำลังหรือเกียร์ ซึ่งผู้ผลิตเหล่านี้จะกระทบอย่างมาก รองลงมาคือกลุ่มผู้ผลิตตัวถัง ระบบเบรก ระบบหล่อเย็น ส่วนกลุ่มที่ไม่ค่อยกระทบคือพวกชิ้นส่วนภายใน ล้อ เครื่องเสียง

สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นคือการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์อาจหายไปครึ่งหนึ่งจากทั้งหมดกว่า 7-8 แสนตำแหน่ง และต่อให้สมมติว่าไทยปรับตัวและเปลี่ยนผ่านไปเป็นฐานผลิตรถ EV ได้ แต่อุตสาหกรรมการผลิตรถ EV ใช้แรงงานคนน้อยมาก มูลค่าการผลิตจะไปกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่

จาก Detroit of Asia อาจสู่จุดจบ…เหมือนแดนจิงโจ้

ด้วยข้อมูลทั้งหมดนี้จึงนำไปสู่ข้อสรุปว่าอุตสาหกรรมยานยนต์บ้านเราอาจกำลังเจอกับหายนะจากวงล้อเดิมที่ไทยเป็น Detroit of Asia ไปสู่จุดจบแบบที่เคยเกิดขึ้นกับประเทศออสเตรเลีย โดยช่วงปี 1970 ออสเตรเลียเคยเป็นฐานการผลิตรถยนต์อันดับ 10 ของโลก ในสมัยนั้นผลิตรถได้ถึงปีละ 4.65 แสนคัน แต่ช่วงปี 2006-2016 การผลิตรถยนต์ของออสเตรเลียลดลงเหลือเพียง 5,000 คันเท่านั้น ซึ่งช่วงนั้นคือช่วงที่ค่ายรถญี่ปุ่นอย่าง Toyota และ Mitsubishi ตัดสินใจย้ายฐานผลิตมาประเทศไทยแทน

ด้วยกระแสการเปลี่ยนผ่านไปสู่รถ EV ทำให้ไทยในวันนี้เผชิญกับสถานการณ์ที่คล้ายกับออสเตรเลียในวันนั้นตั้งแต่ต้นทุนแรงงานสูงขึ้นเมื่อเทียบกับคู่แข่ง อีกทั้งยังการขับเคลื่อนการปรับตัวไปสู่ EV ช้าของค่ายรถญี่ปุ่นส่งผลเสียต่อภาคการส่งออกรถไทยในตลาดโลกคล้ายออสเตรเลียในตอนนั้นที่ GM Holden ค่ายรถยักษ์ใหญ่ออสเตรเลียปรับตัวไม่ทันกับตลาดโลก ทำให้เสียส่วนแบ่งตลาดและขาด Economy of Scale ไป

และที่คล้ายกันที่สุดคือการที่ไทยมี FTA กับจีน ทำให้จีนส่งรถ EV มาขายในไทยได้โดยไม่ต้องเสียภาษี เช่นเดียวกับออสเตรเลียในวันนั้นที่มี FTA กับ ไทย จึงทำให้การนำเข้ารถยนต์จากไทยถูกกว่าที่ผลิตในประเทศตัวเอง

สถานการณ์ระหว่างไทยกับจีนจึงไม่ได้ต่างจากไทยกับออสเตรเลียเมื่อ 20 ปีที่แล้ว จากประเทศที่ได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตจากออสเตรเลียสู่ประเทศที่อาจจะมีจุดจบแบบออสเตรเลีย

ดูจากข้อมูลวิจัย KKP Research ดังกล่าวท่ามกลางเทรนด์การเปลี่ยนผ่านโลกยานยนต์เครื่องยนต์สันาดาปสู่ EV ที่ใครต่อใครโลกสวยและวาดฝันว่าเป็นโอกาสทองฝังเพชร ทว่า ที่ไหนได้มันคือจุดหายนะอุตฯยานยนต์ไทยก็เป็นไปได้หากทุกองคาพยพไม่ได้ถูกยกระดับการเดินหน้าในทิศทางที่ควรจะเป็น