ขนส่งฯชวนคนไทยใช้รถยนต์ไฟฟ้า ลดภาษีประจำปีต่ำกว่ารถใช้เชื้อเพลิง

0
63

ขนส่งฯชวนคนไทยใช้รถยนต์ไฟฟ้า ลดภาษีประจำปีต่ำกว่ารถใช้เชื้อเพลิง ชี้รถยนต์ไฟฟ้าที่มีกำลังมอเตอร์ตามที่กฎหมายกำหนด สามารถจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกได้ ส่งเสริมการใช้รถพลังงานสะอาด ลดมลพิษทางอากาศอย่างยั่งยืน

นางสิริรัตน์ วีรวิศาล รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า การเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ของเชื้อเพลิงจากรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองใหญ่ที่มีปริมาณการใช้รถยนต์อย่างหนาแน่น เช่น กรุงเทพมหานคร การเลือกใช้รถยนต์พลังงานทางเลือกที่ไม่ปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมจึงเป็นทางออกที่จะช่วยลดมลพิษทางอากาศได้อย่างยั่งยืน ดังนั้น กรมการขนส่งทางบกจึงมีนโยบายสนับสนุนการใช้รถที่ใช้พลังงานทางเลือก โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) ด้วยการจัดเก็บอัตราภาษีรถประจำปีในอัตราที่ต่ำกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง พร้อมทั้งกำหนดคุณสมบัติของกำลังมอเตอร์ไฟฟ้า ความเร็วขั้นต่ำ รวมถึงส่วนควบและเครื่องอุปกรณ์ของรถที่จะจดทะเบียน ซึ่งจะต้องมีความมั่นคงแข็งแรง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสามารถใช้งานบนท้องถนนร่วมกับรถประเภทอื่นได้อย่างปลอดภัย โดยมีรายละเอียด ดังนี้

รถยนต์รับจ้างระหว่างจังหวัด รถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคน รถยนต์บริการธุรกิจ รถยนต์บริการทัศนาจร รถยนต์บริการให้เช่า รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกินเจ็ดคน รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกินเจ็ดคน รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล และรถยนต์สี่ล้อเล็กรับจ้าง ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ต้องมีกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 15 กิโลวัตต์ และต้องวิ่งได้ความเร็วสูงสุดไม่น้อยกว่า 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง ส่วนรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคนแบบพิเศษที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ต้องมีกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 100 กิโลวัตต์ โดยจะต้องติดเครื่องหมาย “e” หรือมีการกำหนดรหัสหรือรุ่นของผู้ผลิตที่แสดงถึงการใช้มอเตอร์ไฟฟ้าในการขับเคลื่อนรถไว้บริเวณท้ายรถอย่างถาวรและสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน

สำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกินเจ็ดคน รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกินเจ็ดคน รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล และรถยนต์สี่ล้อเล็กรับจ้างที่มีกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าหรือความเร็วสูงสุดไม่เป็นไปตามที่กล่าวมาข้างต้น ต้องมีกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 4 กิโลวัตต์และต้องวิ่งได้ความเร็วสูงสุดไม่น้อยกว่า 45 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยจะต้องติดเครื่องหมาย “s” ไว้บริเวณท้ายรถอย่างถาวรและสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ ในส่วนของรถยนต์รับจ้างสามล้อและรถยนต์สามล้อส่วนบุคคลที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ต้องมีกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 4 กิโลวัตต์ และวิ่งได้ความเร็วสูงสุดไม่น้อยกว่า 45 กิโลเมตร/ชั่วโมงและรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ต้องมีกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 250 วัตต์ และต้องวิ่งได้ความเร็วสูงสุดไม่น้อยกว่า 45 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในขณะที่รถจักรยานยนต์สาธารณะที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ต้องมีกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 250 วัตต์ แต่ไม่เกิน 4 กิโลวัตต์ และต้องวิ่งได้ความเร็วสูงสุดไม่น้อยกว่า 45 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทั้งนี้ มอเตอร์ไฟฟ้าของรถทุกประเภทข้างต้นจะต้องขับเคลื่อนรถรวมน้ำหนักบรรทุกด้วยความเร็วสูงสุดตามที่กำหนดได้ต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 30 นาที

รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า รถยนต์ไฟฟ้าเมื่อจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกแล้ว จะเสียภาษีรถประจำปีในอัตราภาษีต่ำกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง โดยหากเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกินเจ็ดคน (รถเก๋ง) ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า จะจัดเก็บภาษีตามน้ำหนักของรถตามรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกินเจ็ดคน (รถตู้) เช่น รถเก๋งที่ใช้พลังงานไฟฟ้าที่มีน้ำหนัก 1,510 กิโลกรัม เสียภาษีรถประจำปีตามน้ำหนักของรถตู้ ในอัตราคันละ 1,300 บาท ต่างจากกรณีรถเก๋งที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งจะมีการจัดเก็บตามความจุกระบอกสูบ (ซีซี) ส่วนรถตู้ รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล รถจักรยานยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า จัดเก็บภาษีในอัตรากึ่งหนึ่ง เช่น รถจักรยานยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง เสียภาษีรถประจำปีคันละ 100 บาท แต่รถจักรยานยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า จะเสียภาษีประจำปีในอัตราคันละ 50 บาท เท่านั้น ถึงแม้ว่ารถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจะเป็นนวัตกรรมใหม่ที่หลายคนอาจจะยังไม่คุ้นเคย แต่ถือเป็นนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งช่วยประหยัดค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและภาษีรถประจำปีให้กับเจ้าของรถได้อีกทางหนึ่งด้วย ประชาชนที่สนใจสามารถตรวจสอบรายละเอียดของรถยนต์ไฟฟ้าที่สามารถนำมาจดทะเบียนและอัตราภาษีรถประเภทต่าง ๆ ได้ที่เว็บไซต์ของกรมการขนส่งทางบก www.dlt.go.th