หลายสำนักพยากรณ์ทางเศรษฐกิจต่างคาดการณ์ว่าภาคธุรท่องเที่ยวโลกรวมถึงประเทศไทยจะค่อยๆกลับมาฟื้นตัวและมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ช่วงไตรมาสสุดท้ายปี 64 นี้เป็นต้นไป และจะฟื้นตัวต่อเนื่องในไตรมาสแรกปี 65 โดยอาศัยเหตุปัจจัยจากประชากรโลกมีสัดส่วนการฉีดวัคซีนที่มากขึ้นเป็นตัวแปรสร้างความเชื่อมั่นให้การเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศกลับมาอีกครั้ง
ทว่า กลับตาลปัตรจากการคาดการณ์อย่างสิ้นเชิงเพราะพบว่าแม้ทั่วโลกจะมีสัดส่วนประชากรฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิตลดลงก็จริง แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดก็ยังคงมีต่อเนื่อง พร้อมทั้งมีสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นต่อเนื่องเช่นกันโดยเฉพาะสายโอไมครอนที่จะเข้ามาแทนที่สายพันธุ์เดลต้าเต็มตัว
ส่งผลให้การเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศยังคงชะลอตัว และถึงแม้ว่าช่วงที่ผ่านมาหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยจะผ่อนคลายมาตรการการเข้า-ออกประเทศแล้วก็ตาม แน่นอนว่าภาคธุรกิจท่องเที่ยว-สายการบิน รวมถึงห่วงโซ่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องยังคงได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตโควิดที่ลากยาวและหนักกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้
ถึงกระนั้น ก็ยังมีหลายสายการบินทั้งในและต่างประเทศประกาศกลับมาทยอยเปิดให้บริการในหลายเส้นทางการบิน และเพิ่มความถี่การบินมากขึ้นในบางเส้นทางการบิน พร้อมประกาศกลยุทธ์การตลาดเพิ่มทางเลือกด้วยการแข่งขันอัดโปรโมชั่นรองรับความต้องการของลูกค้า ทว่า ก็ยังปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
Logistics Time พาไปผ่าแผนและทิศทางการดำเนินธุรกิจปี 65 ของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส (BKP)ความคาดหมายผู้โดยสาร และมุมมองต่อดีมานด์ท่องเที่ยวจะกลับมาหรือไม่?และมีแผนอะไรบ้างเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวตอบโจทย์ “เอเชีย บูทีคแอร์ไลน์”ผ่าน 3 ผู้บริหารระดับสูง ดังนี้
เริ่มกันที่กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) “พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ” เปิดเผยว่า แนวโน้มการเดินทางของผู้โดยสารสายการบินบางกอกแอร์เวย์สในช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 ที่เริ่มมีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลต้า ภาพรวมการเดินทางลดลงอย่างเห็นได้ชัด ต่อเนื่องมาจนถึงเดือนสิงหาคม สายการบินฯ ได้เปิดให้บริการเส้นทาง sealed route เพื่อสนับสนุนนโยบายเปิดประเทศ ได้แก่ ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์และสมุยพลัส เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมความมั่นใจในการเดินทางมายังประเทศไทย จนกระทั่งในเดือนพฤศจิกายน 2564 จำนวนผู้โดยสารทยอยเพิ่มขึ้นจากนโยบายการเปิดประเทศ
“เส้นทางสมุยยังคงเป็นเส้นทางที่ได้รับความนิยมมากที่สุด โดยมีสัดส่วนรายได้ผู้โดยสารอยู่ที่ 63% ของรายได้ผู้โดยสารทั้งหมด เส้นทางภายในประเทศอื่น ๆ มีสัดส่วนรายได้ผู้โดยสารอยู่ที่ 35% และกลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ กรุงเทพ-พนมเปญ ที่เปิดปฏิบัติการบินเมื่อเดือนธันวาคม มีสัดส่วนรายได้ผู้โดยสาร อยู่ที่ 2% ของรายได้ผู้โดยสารทั้งหมดในปี 2564”
คาดปี 65 ธุรกิจการบินฟื้นตัวประมาณ 40%
กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บางกอกแอร์เวย์ส ระบุอีกต่อในปี 2565 คาดว่าธุรกิจการบินจะฟื้นตัวประมาณ 40% หลังจากอัตราการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น รวมถึงการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดโควิด-19 ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง โดยเส้นทางบินที่จะเปิดเพิ่มเติมในปี 2565 ได้แก่ กรุงเทพฯ-กระบี่ ซึ่งจะเปิดให้บริการในวันที่ 27 มีนาคม 2565 ส่วนในไตรมาสที่ 3 ได้แก่ เส้นทางการบินสมุย–เชียงใหม่ สมุย-ฮ่องกง กรุงเทพฯ-เสียมราฐ “ขณะที่ไตรมาสที่ 4 จะเปิดเส้นทางบิน เชียงใหม่-กระบี่ (เที่ยวเดียว) เชียงใหม่-ภูเก็ต (เที่ยวเดียว) สมุย-กระบี่ กรุงเทพฯ–ดานัง กรุงเทพฯ – หลวงพระบาง กรุงเทพฯ ย่างกุ้ง และ กรุงเทพฯ– มัลดีฟส์ อย่างไรก็ตาม การกลับมาเปิดให้บริการเส้นทางบินต่าง ๆ นั้น ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการเดินทางของนักท่องเที่ยว มาตรการการเดินทางของแต่ละประเทศ และการควบคุมสถานการณ์โควิด–19 ที่อาจยังไม่คลี่คลาย”
ภายในสิ้นปี 65 จะมีเครื่องบินในฝูงบินทั้งสิ้น 30 ลำ
นายพุฒิพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่าปัจจุบัน บริษัทฯ มีเครื่องบินจำนวน 37 ลำ โดยแผนการบริหารฝูงบินโดยภายในสิ้นปี 2565 จะมีเครื่องบินในฝูงบินทั้งสิ้น 30 ลำ โดยจะทยอยคืน Airbus A320 จำนวน 5 ลำ ซึ่งครบกำหนดสัญญาแล้ว รวมถึงจำหน่ายเครื่องบิน ATR72-500 อีกจำนวน 2 ลำ นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้ยกระดับมาตรฐานด้านการซ่อมบำรุง โดยได้รับใบรับรองหน่วยซ่อม ซึ่งผ่านการตรวจสอบตามหลักเกณฑ์ วิธีการและมาตรฐาน ตามข้อกำหนดใหม่ของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย โดยพัฒนาขีดความสามารถในการซ่อมบำรุงอากาศยานแบบ Airbus และ ATR ทั้งในระดับ Base Maintenance และ Line Maintenance
สำหรับในปี 2565 บริษัทฯ ได้คาดการณ์ว่าจะมีจำนวนผู้โดยสาร 2.6 ล้านคน ตั้งเป้ารายได้ผู้โดยสาร 8,175 ล้านบาท รวมเที่ยวบินกว่า 3.4 หมื่นเที่ยวบิน มีอัตราการขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ 65% และราคาบัตรโดยสารเฉลี่ยต่อเที่ยวคาดว่าจะอยู่ที่ 3,100 บาทต่อเที่ยว”
ปี 64 มีรายได้รวม 5,668.5 ล้านบาทลดลงร้อยละ 44.5
ด้านนายอนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโสสายงานการเงินและบัญชี กล่าวว่าถึงปี 64 บริษัทฯ มีรายได้รวมเท่ากับ 5,668.5 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 44.5 เมื่อเทียบกับปี 2563 ค่าใช้จ่ายรวมอยู่ที่ 8,145.1 ล้านบาท ลดลงจากปี 2563 ร้อยละ 45.4 ผลขาดทุนสุทธิของบริษัทฯ ในปี 2564 เท่ากับ 8,599.8 ล้านบาท โดยมีรายการขาดทุนสุทธิจากการยกเลิกสัญญาเช่ากองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์สนามบินสมุย จำนวน 5,434,7 ล้านบาท ในขณะที่ผลขาดทุนจากการดำเนินงานในปี 2564 เท่ากับ 2,532.5 ล้านบาท ขาดทุนลดลงร้อยละ 22.2 เมื่อเทียบกับปี 2563
“บริษัทฯ ยังมีแผนในการบริหารจัดการค่าใช้จ่าย โดยเน้นประเด็นที่สำคัญ ได้แก่ ลดเครื่องบินเช่าดำเนินงานเมื่อหมดอายุสัญญาจำนวน 5 ลำ ในปี 2565 ปรับเส้นทางบินให้ตรงกับความต้องการในการเดินทางโดยเน้นเส้นทางบินที่เชื่อมต่อสนามบินสมุย การได้รับการปรับลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับสนามบิน การจัดการด้านบุคลากรให้เหมาะสม การรักษาสภาพคล่องทางการเงิน การรักษาประสิทธิภาพยานพาหนะเพื่อลดค่าใช้จ่าย เช่น การบำรุงรักษา ตลอดจนการได้รับมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ อาทิ ในด้านภาษี”
ส่วนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสนามบิน ในปี 2564 บริษัท ครัวการบินกรุงเทพ มีรายได้อยู่ที่ 119.5 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 61 เนื่องจากมีจำนวนเที่ยวบินที่สนามบินสุวรรรณภูมิและสนามบินภูเก็ตลดลง บริษัท ภาคพื้นการบินกรุงเทพเวิลด์ไลด์ไฟล์ทเซอร์วิส จำกัด มีรายได้ 1,122.1 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 18 ทั้งนี้มีการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายจึงทำให้มีกำไรอยู่ที่ 237 ล้านบาท
“ขณะที่บริษัท ดับบลิวเอฟเอสพีจี คาร์โก้ จำกัด มีรายได้ในปี 2564 อยู่ที่ 2,140.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 รายได้ที่เติบโตดังกล่าวมาจากอัตราการใช้บริการคลังสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น”นายอนวัช กล่าว
เปิดไฮไลท์พันธมิตรทางการตลาดปี 65
ขณะที่นายจุลิน กอเจริญ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายขาย และรักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการตลาด กล่าวว่านโยบายการขายและการตลาดของสายการบินในปี 2565 จะเน้นการขายในตลาดต่างประเทศควบคู่กับการให้ความสำคัญกับตลาดในประเทศ การบริหารช่องทางการจัดจำหน่าย และกลยุทธ์ด้านราคา การพัฒนาระบบต่างๆ รวมถึงความสำคัญของระบบการจ่ายเงิน การให้ความสำคัญด้านรายได้เสริม การสื่อสารการตลาดและการมีส่วนรวมของลูกค้า และการเน้นย้ำในจุดแข็งของสายการบินฯ ในด้านความเป็นเลิศในการให้การบริการ
“โดยช่องทางการจัดจำหน่ายในประเทศยังคงเป็นช่องทางหลักที่ลูกค้าในประเทศใช้ คือ website/mobile และ Customer Care Centre 1771 ส่วนตลาดต่างประเทศจะจัดจำหน่ายผ่าน Billing and Settlement Plan Agents หรือ BSP agents ในตลาดหลัก อาทิ ยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น จีน แอฟริกาใต้ และอีกกว่า 20 ตลาดทั่วโลก รวมถึงการขายผ่านเครือข่ายสายการบินพันธมิตรทั่วโลก”
อีกช่องทางหนึ่งที่มุ่งเน้นมากในปีนี้คือช่องทาง API ผ่านโครงข่าย NDC และ metasearch เป็นหลัก เพราะเป็นโครงข่ายที่ช่วยให้บริษัทฯ ขยายช่องทางการเข้าถึงลูกค้าได้ครอบคลุมทุกกลุ่มทุกที่ทุกเวลาทั่วโลก ช่องทาง API เชื่อมต่อการเข้าถึงข้อมูลของเรา ทำให้การจัดจำหน่ายผ่าน OTA เป็นเรื่องง่ายและลดต้นทุนในการจัดจำหน่าย โดยขณะนี้ OTA หลักๆเหล่านี้ได้เชื่อมต่อกับระบบสำรองที่นั่งของสายการบินฯ เรียบร้อยแล้ว รวมถึง metasearch engine หลักทั้ง SkyScanner and Google นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังคงมีความตั้งใจให้ผลิตภัณฑ์และการบริการไปอยู่ในทุกๆ ที่ ที่ลูกค้าสามารถเลือกรับบริการได้ รวมถึงแอพพลิเคชั่น หรือ super APP ต่างๆ ซึ่งตอนนี้เรากำลังเชื่อมต่อกับ Robinhood รวมถึงการให้บริการจองผ่านแอพพลิเคชั่นที่ผู้บริโภคใช้ในชีวิตประจำวันให้คลอบคลุมมากยิ่งขึ้นต่อไป
“ในส่วนของสื่อสารการตลาด บริษัทฯ ได้นำเสนอการสื่อสารในแคมเปญ “คิดถึง…….ให้ถึง” เพื่อกระตุ้นการเดินทางของลูกค้าที่อาจจะไม่ได้มีโอกาสเดินทางในช่วงสถานการณ์ที่ผ่านมาให้กลับมาเดินทาง นอกเหนือจากนี้ เรายังจะทำกิจกรรมทางการตลาดที่ทำให้ แบรนด์ ของเราเป็นที่จดจำอย่างต่อเนื่องผ่านกิจกรรมต่างๆ โดยกิจกรรมหลักของปีนี้ คือจัดการแข่งขันวิ่งฮาลฟ์มาราธอน บางกอกแอร์เวย์สบูทีคซีรี่ย์ 2022 เพื่อสนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงกีฬา ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนในท้องถิ่น โดยจะจัดในแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ อาทิ เกาะสมุย ลำปาง ตราด พังงา และสุโขทัย”นายจุลิน ย้ำปิดท้าย