ชป.ผนึกภาครัฐ ผุดแผนปฎิบัติการผลักดันน้ำเค็มไม่ให้กระทบ ปชช.

0
102

กรมชลประทานผนึกภาครัฐวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ จัดทำแผนปฏิบัติการผลักดันลุ่มน้ำเค็ม ไม่ให้กระทบประชาชน-เกษตรกร

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน (ชป.) เปิดเผยว่า กรมชลฯ มีมาตรการบริหารจัดการน้ำในการบรรเทาปัญหาน้ำทะเลหนุนสูงในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างรัดกุม พร้อมเฝ้าระวังน้ำเค็มรุก เพื่อลดผลกระทบกับประชาชนให้มากที่สุด โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำของ กทม. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ รวมถึงความเค็มที่อาจจะหนุนสูงในช่วงฤดูแล้ง การเฝ้าระวังความเสี่ยงด้านคุณภาพน้ำ หรือ ค่าความเค็ม เพื่อไม่ให้ สูงเกิน 0.25 กรัม/ลิตร  ซึ่งเป็นเกณฑ์เฝ้าระวังเพื่อไม่ให้กระทบด้านการอุปโภคบริโภค และไม่ให้เกิน 2.0 กรัม/ลิตร เป็นเกณฑ์เฝ้าระวังเพื่อไม่ให้กระทบด้านการเกษตร ใน 4 แม่น้ำสายหลัก ที่ค่าความเค็มอาจสูงตามช่วงการหนุนของน้ำทะเล คือ แม่น้ำแม่เจ้าพระยาบริเวณ สถานีสูบน้ำสำแล , แม่น้ำท่าจีนบริเวณปากคลองจินดา , แม่น้ำแม่กลอง บริเวณคลองดำเนินสะดวก จังหวัดสมุทรสาคร และ แม่น้ำบางปะกง บริเวณอำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี

กรมชลฯ ได้วางมาตรการควบคุมค่าความเค็ม ดังนี้ วางแผนการระบายน้ำ จากเขื่อนเจ้าพระยา และเขื่อนพระรามหก ให้สอดคล้องกับระดับการขึ้นลงของน้ำทะเล โดยกำชับสำนักชลประทานที่ 10, 11 และ 12 บริหารจัดการประตูระบายน้ำและอาคารเชื่อมต่อที่ดูแลโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามแผนที่วางไว้ ทั้งยังได้ร่วมกับสำนักระบายน้ำของ กทม. กำหนดแนวทางในการระบายน้ำจากพื้นที่ กทม. ลงแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงน้ำลง และใช้ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ บริหารจัดการน้ำตามจังหวะการขึ้นลงของน้ำทะเลด้วย

นอกจากนี้ กรมชลประทาน ยังร่วมกับการประปานครหลวง ในการใช้สถานีสูบน้ำแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยา ร่วมปฏิบัติการผลักดันลิ่มน้ำเค็ม (Water Hammer Operation) เพื่อรักษาระดับความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสถานีสูบน้ำดิบสำแลไม่ให้เกินมาตรฐาน ซึ่งมาตรการต่างๆ เหล่านี้ได้มีการดำเนินการร่วมกันมาตลอดในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา และหากเกิดกรณีวิกฤตความเค็มสูงเกินค่าที่อาจกระทบกับเกษตรกรและประชาชน กรมชลประทานจะผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองประมาณ 1,000 ล้าน ลบ.ม. เพื่อควบคุมความเค็มได้อีกทางหนึ่งด้วย

อย่างไรก็ตาม ในช่วงฤดูแล้งจะเกิดภาวะน้ำทะเลหนุนเป็นช่วงๆ ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานในพื้นที่เฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงและความเค็มรุกตัวบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างใกล้ชิด พร้อมกำชับให้ทุกโครงการชลประทานทั่วประเทศ บริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งนี้ ด้วยความประณีตและเกิดประโยชน์สูงสุด ควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมรับมือฤดูฝนในอีก 2 เดือนข้างหน้าด้วย