สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เต้นผาง..ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์พุ่งแรงสุดฤทธิ์ ทั้งที่เสนอทางออกพาณิชย์แก้ไขด่วนไปแล้ว แต่กลับเงียบเฉยไม่คืบหน้า หวั่นกระทบหนักส่งผลขาดแคลนอาหารสัตว์ ผู้ผลิตหลายรายแบกรับต้นทุนไม่ไหวทยอยลดกำลังการผลิต
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย(TFMA) กล่าวถึง สถานการณ์ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ซึ่งกำลังพุ่งสูงขึ้นอีก ในขณะที่อาหารสัตว์และสินค้าหลายรายการถูกตรึงราคา ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ณ วันนี้อยู่ที่ 11 บาท/กิโลกรัม และมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง คาดว่าจะสูงไปจนถึงเดือนเมษายน 2565 ซึ่งจะมีผลผลิตข้าวโพดหลังนาออกสู่ตลาด หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ ราคาข้าวโพดจะสูงถึง 12 บาทในเร็วๆนี้
ส่วนปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ประกอบด้วยกัน 2 ส่วน ได้แก่ 1.สถานการณ์ราคาวัตถุดิบในตลาดโลก รวมถึงค่าบริหารและขนส่ง ซึ่งเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ 2. นโยบายภาครัฐที่ต้องการดูแลราคาพืชอาหารสัตว์ในประเทศ โดยมีการใช้มาตรการที่บิดเบือนกลไกตลาด อาทิ มาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลีโดยจะต้องรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายในประเทศ 3 ส่วนก่อนนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน การจำกัดช่วงเวลานำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงมาตรการด้านภาษี อาทิ ภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง 2% ซึ่งมาตรการเหล่านี้ไม่มีความจำเป็นแล้ว เพราะมาตรการประกันรายได้เกษตรกรช่วยดูแลเกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว
“สมาคมฯได้นำเสนอข้อมูลแนวโน้มต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับตัวสูงขึ้นให้กระทรวงพาณิชย์รับทราบแล้ว พร้อมทั้งเสนอแนวทางแก้ไขที่กระทรวงทำได้ เช่น การยกเลิกมาตรการในหลายด้าน อาทิ ขอให้พิจารณายกเลิกภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง 2%, มาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลี 3 : 1 ส่วน และเปิดให้นำเข้าข้าวโพดภายใต้กรอบ WTO, AFTA ยกเลิกโควต้าภาษีและค่าธรรมเนียมให้สามารถนำเข้ามาได้ในปริมาณขาดแคลน ในปี 2565 เป็นการชั่วคราว แต่ไม่มีความคืบหน้าใด” นายพรศิลป์กล่าว
ทั้งนี้ เมื่อปี 2552 ราคากากถั่วเหลืองและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รวมถึงวัตถุดิบตัวอื่นๆ ไม่สูงเท่าวันนี้ แต่รัฐบาลในขณะนั้นได้พิจารณาปรับลดอัตราภาษีนำเข้ากากถั่วเหลืองจาก 4% เหลือ 2% ซึ่งช่วยบรรเทาต้นทุนได้ส่วนหนึ่ง ดังนั้น ในวันที่ราคาวัตถุดิบสูงมากเช่นขณะนี้ สมาคมฯ จึงขอวอนรัฐพิจารณามาตรการดังกล่าวโดยเร่งด่วน เพื่อบรรเทาภาระต้นทุนของผู้ผลิตอาหารสัตว์ เพราะมีสมาชิกหลายรายทนแบกรับต้นทุนต่อไม่ไหว และบางรายมีการปรับลดกำลังการผลิตลงแล้วเพื่อลดภาวะขายขาดทุน สถานการณ์นี้ตอกย้ำว่า ไม่มีใครอยู่รอดได้หากถูกตรึงราคาขายปลายทาง แต่ปล่อยให้ราคาวัตถุดิบต้นทางขึ้นโดยไม่มีการกำกับดูแล และหากไม่มีทางออกในเร็ววันนี้ ไทยอาจจะพบกับวิกฤตขาดแคลนอาหารสัตว์ก็เป็นได้