ว.เทคนิคชลบุรี ผนึก AMR ต่อยอดหลักสูตรระบบราง ผลิตนักศึกษาป้อนวงการขนส่งทางราง

0
162

AMR เดินหน้าต่อยอดหลักสูตรการขนส่งระบบรางแก่ ว.เทคนิคชลบุรี พร้อมสนับสนุนทุนการศึกษาและองค์ความรู้ด้านระบบรางอย่างเต็มที่ มุ่งผลิตนักศึกษาระดับ ปวส.ป้อนวงการรถไฟฟ้า-รถไฟความเร็วสูงในพื้นที่อีอีซีและทั่วประเทศ นำร่องมอบ 15 ทุนแก่นักศึกษา พร้อมค่าใช้จ่ายรายเดือนช่วงเรียน/รับเข้าฝึกงาน/เบี้ยเลี้ยงฝึกงานเพื่อสร้างแรงจูงใจเพียบ

นายมารุต ศิริโก กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด (มหาชน) หรือ AMR เปิดเผยว่า ได้ให้การสนับสนุนแก่แผนกวิชาขนส่งทางราง วิทยาลัยเทคนิคชลบุรีด้านการให้ทุนการศึกษาและองค์ความรู้ร่วมแก่นักศึกษาหลักสูตรด้านการขนส่งทางรางระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) จำนวน 15 คนเป็นระยะเวลา 2 ปี ทั้งนี้เพื่อต้องการต่อยอดองค์ความรู้ด้านระบบรางให้นักศึกษาได้รับความรู้ด้านต่างๆมากขึ้นเพื่อให้พร้อมเข้าสู่วงการระบบรางในพื้นที่อีอีซีที่มีแล้วทั้งรถไฟ รถไฟฟ้า และรถไฟความเร็วสูงในขณะนี้

นอกจากนั้นยังได้ร่วมแสดงความเห็นและให้คำแนะนำด้านหลักสูตรว่าควรจะเปิดหลักสูตรในสาขาวิชาใดบ้าง เมื่อจบการศึกษาจะสามารถนำมาใช้งานได้อย่างไร ซึ่ง AMR  ยินดีให้ความร่วมมือสนับสนุนแก่วิทยาลัยเทคนิคชลบุรีอย่างเต็มที่อีกทั้งยังเล็งเห็นถึงศักยภาพของนักศึกษาระดับปวส.ที่สามารถแสดงออกได้อีกมากมาย

 “ระดับปวส.ใช้ระยะเวลาศึกษาประมาณ 2 ปีซึ่งปีแรกจะเน้นภาคการเรียนทฤษฎี มีค่าใช้จ่ายให้เดือนละ 2,000 บาทต่อคน ส่วนปีที่ 2 จะเน้นภาคปฏิบัติจึงต้องมีการฝึกงานในภาคปฏิบัติซึ่งจะได้รับเบี้ยเลี้ยงในการฝึก เน้นสำหรับเด็กด้อยโอกาส หรือเด็กชายขอบ เด็กช้างเผือกที่มีศักยภาพทางการศึกษาเรียนดีแต่ขาดโอกาสทางการศึกษาให้ได้รับโอกาสดีดีกันมากขึ้น ถือว่าคุ้มค่ากับอนาคตของน้องๆนักศึกษา แต่เมื่อเรียนจบแล้วไม่จำเป็นจะต้องมาทำงานกับ AMR ก็ได้”

ทั้งนี้ เพราะ AMR มองว่าระบบรางของไทยจะมีการพัฒนาได้อีกมากมายและยังก้าวหน้าได้น้องๆนักศึกษาที่เรียนจบไปจึงมีโอกาสศึกษาเรียนรู้งานในระบบรางได้อีกมากมาย ประการสำคัญบุคลากรด้านระบบรางยังมีความต้องการอีกเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะความชำนาญด้านช่าง ประกอบกับเมื่อเข้าสู่ระบบการทำงานยังต้องใช้ความรู้ความชำนาญแต่ละคนไม่น้อยกว่า 20-30 ปี ผู้ที่สำเร็จก่อนและทำงานก่อนย่อมได้เปรียบกว่า

นอกจากนั้นหากรัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญพร้อมสนับสนุนให้ประเทศไทยที่ผ่านมาเป็นผู้ซื้อแล้วหันมาส่งเสริมสนับสนุนให้ไทยเป็นผู้ผลิตรถไฟฟ้าและชิ้นส่วนประกอบอื่นๆของรถไฟฟ้าบ้างจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมาก ขยายการเติบโตนำร่องจากระบบรางในเส้นทางสายรองก่อนแล้วจึงค่อยต่อยอดไปสู่ระบบหลักในอนาคตต่อไป ดังนั้นน้องๆนักศึกษาที่จบออกไปยังสามารถเข้าสู่กระบวนการอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ได้อีกด้วย นอกเหนือจากศึกษามาเพื่อขับรถ และซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าเท่านั้น

ประการหนึ่งนั้นยังมีคนบางกลุ่มบางฝ่ายเห็นว่าน้องๆระดับอาชีวศึกษาที่จบออกมาจะนำไปในการซ่อมรถไฟฟ้าที่ซื้อเข้ามาทั้งขบวนเท่านั้น ต่างกับมุมมองส่วนตัวที่เห็นว่าแม้จะจบระดับอาชีวศึกษาแต่บางคนก็มีศักยภาพสูงมาก สามารถพัฒนาด้านต่างๆได้อีกด้วย ไม่ได้มีความรู้เฉพาะขับรถหรือซ่อมรถเท่านั้น อาจจะออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้ด้วย ดังนั้นหลักสูตรอาชีวศึกษาจึงต้องมีทั้งการพัฒนาควบคู่กันไปด้วยให้เข้าใจระบบแบบช่างฝีมือ กับเพิ่มความคิดให้กล้าคิดกล้าทำสามารถพัฒนาระบบที่เกี่ยวข้องได้ กล้าคิดกล้าออกแบบผลิตภัณฑ์ได้อีกด้วย เพื่อเพิ่มศักยภาพให้ประเทศไทยสามารถผลิตและออกแบบรถไฟฟ้าเป็นของตนเองได้อีกทางหนึ่งด้วย

 “AMR เพียงเพิ่มความรู้ด้านเทคนิคให้น้องๆแต่ละคนได้แสดงออกถึงศักยภาพของตนเองมาอย่างเต็มที่ โดยเรื่องนี้ยังได้ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรให้การสนับสนุนเพื่อสื่อให้เห็นถึงแนวทางการขับเคลื่อนในมิติต่างๆ เนื่องจากหากไทยยังเป็นเพียงผู้ซื้อแล้วนำมาขายต่อ องค์ความรู้จะไม่เกิดประโยชน์ใดๆต่อประเทศไทยเลย ผลักดันให้ไทยก้าวสู่โหมดออกแบบ ทำแล้วเลือก ดังนั้นรัฐจึงควรส่งเสริมให้เอกชนไทยได้มีโอกาสพัฒนาระบบขนส่งขนาดรองไปก่อน แล้วจึงขยับไปสู่ระบบหลักต่อไป ให้คนไทยทำจริงๆ เพื่อสร้างประสบการณ์ในการปฏิบัติและเกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากรุ่นสู่รุ่นต่อๆกันไปจนสามารถผลิตรถไฟฟ้าเป็นของไทยได้เอง โดยขณะนี้ผู้ประกอบการไทยสามารถตั้งกลุ่มไทยทีม(ThaiTEAM) ขึ้นมาขับเคลื่อนเรื่องนี้รองรับไว้แล้ว” นายมารุต กล่าวในตอนท้าย