เบสท์รินฯอ่วม! กรมศุลฯสั่งปรับสูง 2 เท่า รวม 2.1 พันล้านบาท

ความคืบหน้ากรณีเบสท์ริน กรุ๊ป ผู้ชนะการประมูลการจัดหารถโดยสารที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง (เอ็นจีวี) 489 คัน มูลค่า 3,389 ล้านบาท โดยให้บริษัทซุปเปอร์ซาร่านำเข้าเพื่อส่งมอบให้กับขสมก.เพื่อเปิดเดินรถตามเวลาที่กำหนด แต่กลับต้องยืดเยื้อออกไปเหตุกรมศุลฯตรวจสอบพบว่าผู้นำเข้าสำแดงนำเข้ารถทั้งหมด 489 คันเป็นเท็จนั้น

0
192

ความคืบหน้ากรณีเบสท์ริน กรุ๊ป ผู้ชนะการประมูลการจัดหารถโดยสารที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง (เอ็นจีวี) 489 คัน มูลค่า 3,389 ล้านบาท โดยให้บริษัทซุปเปอร์ซาร่านำเข้าเพื่อส่งมอบให้กับขสมก.เพื่อเปิดเดินรถตามเวลาที่กำหนด แต่กลับต้องยืดเยื้อออกไปเหตุกรมศุลฯตรวจสอบพบว่าผู้นำเข้าสำแดงนำเข้ารถทั้งหมด 489 คันเป็นเท็จนั้น

ล่าสุด เบสท์ริน กรุ๊ป ต้องเผชิญวิบากกรรมเมล์เอ็นจีวีอีกหลังกรมศุลฯ สั่งปรับภาษีเมล์เอ็นจีวีเพิ่มเหตุแจ้งสำแดงเท็จนำเข้าจากมาเลเซียทั้งที่ผลิตและนำเข้าจากจีน ต้องถูกเปรียบเทียบสูงถึง 2 เท่า จากภาษีที่ต้องจ่ายปกติ 718 ล้านบาทต้องบวกเพิ่มอีก 1.4 พันล้านบาท รวมเป็นเงินค่าภาษีและเปรียบเทียบปรับ 2.1 พันล้านบาท

ในเรื่องนี้ นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยขณะนี้กรมศุลกากรอยู่ระหว่างรอเอกสารหลักฐานจากประเทศมาเลเซีย เพื่อยืนยันว่า บริษัท ซุปเปอร์ซาร่า ได้ยื่นเอกสารสำแดงนำเข้ารถเมล์เอ็นจีวีทั้งหมด 489 คันเป็นเท็จ แม้ที่ผ่านมา บริษัท ซุปเปอร์ซาร่า ได้ยื่นเอกสารสำแดงนำเข้ารถโดยสารผลิตจากมาเลเซียก็ตาม โดยผู้นำเข้ายอมเสียภาษีในอัตรา 40% รวมกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) อีก 7% จำนวน 292 คัน จากทั้งหมด 489 คัน ซึ่งขณะนี้ รถโดยสารทั้ง 291 คัน ได้มีการนำออกจากท่าเรือแหลงฉบังไปแล้ว

ทั้งนี้ทั้งนั้น กรมศุลกากรก็ได้ลงบันทึกในหมายเหตุไว้ว่า ขอสงวนสิทธิ์การเปรียบเทียบปรับเพิ่ม หากผลการตรวจสอบในภายหลังพบว่า การสำแดงถิ่นฐานที่ผลิตรถโดยสารเป็นเท็จ เนื่องจากรถโดยสารทั้งหมดมีแหล่งผลิตและนำเข้ามาจากประเทศจีน แต่ระบุว่า นำเข้ามาจากประเทศมาเลเซีย ซึ่งถือเป็นการสำแดงเท็จ ทำให้กรมศุลกากรสามารถเรียกเก็บค่าปรับเพิ่มได้อีก 2 เท่า โดยกรมศุลกากรมีหลักฐานว่า รถโดยสารเอ็นจีวีทั้งหมด 489 คัน ผลิตและนำเข้ามาจากประเทศจีน ไม่ใช่จากประเทศมาเลเซียตามที่สำแดงเอาไว้

 “กรมฯมั่นใจว่ารถเมล์ทั้งหมด 489 คัน ผลิตและนำเข้าจากประเทศจีน ซึ่งขณะนี้ ยังมีรถเมล์ตกค้างอยู่ที่ท่าเรือแหลมฉบัง 99 คัน และกำลังอยู่ระหว่างขนส่งมาถึงประเทศไทยอีก 98 คัน และที่ปล่อยไปแล้ว 292 คัน รวมทั้งหมด 489 คัน ต้องจ่ายค่าปรับและเงินเพิ่มให้แก่กรมฯ รวมเป็นเงิน 1,437 ล้านบาท นอกจากค่าภาษีนำเข้ารถเมล์คันละ 1.47 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 718 ล้านบาทแล้ว จะทำยอดเงินทั้งหมดที่บริษัท ซุปเปอร์ซาร่า ต้องจ่ายค่าภาษีและค่าเปรียบเทียบปรับรวมเป็นเงินประมาณ 2,155 ล้านบาท”

“เงินที่ชำระค่าภาษีและเปรียบเทียบปรับทั้งหมดจะนำส่งเข้าคลังเป็นรายได้ของแผ่นดินทั้งหมด โดยข้าราชการกรมศุลกากรที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ ไม่ได้สินบนหรือรางวัลนำจับแต่อย่างใด” นายกุลิศ กล่าวย้ำ

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงการคลังว่า เมื่อปลายปีที่แล้ว กรมศุลกากรไม่อนุญาตให้บริษัท ซุปเปอร์ซาร่า นำรถโดยสารออกจากท่าเรือแหลมฉบับจำนวน 99 คัน หลังจากตรวจสอบว่า รถโดยสารดังกล่าวใช้เอกสารปลอม โดยใช้เอกสารฟอร์ม ดี (แหล่งกำเนิดของสินค้า) จากประเทศมาเลเซียเพื่อลดอัตราภาษีนำเข้าลงเหลือ 0% ตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน หรืออาฟต้า ทั้งที่รถโดยสารทั้งหมดผลิตและส่งออกมาจากประเทศจีน ที่ต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตรา 40% ทำให้กรมศุลฯไม่อนุญาตนำรถออกจากท่าเรือจนกว่าจะเสียภาษีให้ครบถ้วน สำหรับรถโดยสารที่นำเข้ามาในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 5 เที่ยวเรือ ภายในระยะใกล้ๆ กัน ประมาณ 1 เดือนเศษ รอบแรกนำเข้า 100 คัน รอบที่ 2 นำเข้า 145 คัน รอบที่ 3 นำเข้า 146 คัน และรอบที่ 5 อยู่ระหว่างเดินทางเข้าประเทศไทย 98 คัน รวม 489 คัน  ทั้งนี้ รถโดยสารรอบแรกจำนวน 100 คันสำ แดงใช้ฟอร์มดี ผลิตและนำเข้าจากมาเลเซีย และรอบที่ 2-5 ระบุว่า นำเข้าจากมาเลเซียโดยไม่ได้ใช้ฟอร์มดีแต่อย่างใด