ย้อนรอยสินบนอื้อฉาว จากเทศกาลหนังกรุงเทพ…สู่มหกรรมสินบนโรลสรอยซ์

เป็นข่าวอื้อฉาวเขย่ากระทรวงคมนาคมและการบินไทยในเวลานี้หลังบริษัท โรลสรอยซ์ ยักษ์ใหญ่ด้านเครื่องยนต์ออกมายอมรับต่อสำนักงานปราบปรามการทุจริตของอังกฤษ (SFO) ว่าได้จ่ายสินบนให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ที่มีการจ่ายระหว่างปี 2534-2548 โดยมีการจ่ายถึง 3 ครั้ง รวม 36.38 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1,300 ล้านบาท จนทำเอารัฐบาลนั่งไม่ติดสั่งสอบกันกราวรูดในเวลานี้

0
2153

เป็นข่าวอื้อฉาวเขย่ากระทรวงคมนาคมและการบินไทยในเวลานี้หลังบริษัท โรลสรอยซ์ ยักษ์ใหญ่ด้านเครื่องยนต์ออกมายอมรับต่อสำนักงานปราบปรามการทุจริตของอังกฤษ (SFO) ว่าได้จ่ายสินบนให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ที่มีการจ่ายระหว่างปี 2534-2548 โดยมีการจ่ายถึง 3 ครั้ง รวม 36.38 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1,300 ล้านบาท จนทำเอารัฐบาลนั่งไม่ติดสั่งสอบกันกราวรูดในเวลานี้

ล่าสุด ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงคมนาคม ว่า วานนี้ (19 ม.ค.) เวลาประมาณ 9.15 น. นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้เข้าพบนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เพื่อรายงานกรณีที่บริษัท โรลส์ลอยซ์ ออกมายอมรับต่อสำนักงานปราบปรามการฉ้อฉลร้ายแรงของประเทศอังกฤษ (SFO) ว่าได้จ่ายสินบนในประเทศไทยระหว่างปี 2534-2548

โดยนายอาคม  เปิดเผยหลังหารือกับนายจรัมพรเป็นเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 25 นาทีว่า ตนได้เชิญนายจรัมพรเข้าชี้แจงกรณีที่เกิดขึ้น โดยนายจรัมพร รายงานว่า คณะกรรมการ (บอร์ด) การบินไทยได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณีดังกล่าวเมื่อ 18 ม.ค. ที่ผ่านมา และจะแจ้งชื่อคณะกรรมการสอบสวนให้ทราบภายในวันที่ 19 ม.ค.  ซึ่งเรื่องดังกล่าวเกี่ยวพันกับพนักงานและบุคคลากรของการบินไทย จึงถือเป็นเรื่องภายในและอยู่ใต้อำนาจสั่งการของบอร์ด

“ประเด็นที่คณะกรรมการฯ ต้องตรวจสอบจะมี 3 ด้าน คือ 1. กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของการบินไทยในปัจจุบันมีความโปร่งใสเพียงพอหรือไม่ หรือต้องมีการปรับปรุงกติกาและระเบียบเพิ่มเติม 2. กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างในอดีตและปัจจุบันแตกต่างกันอย่างไร และ 3. กรณีของบริษัท โรลส์ลอยซ์ มีข้อเท็จจริงอย่างไรและมีใครในการบินไทยเกี่ยวข้องบ้าง”

ทั้งนี้ ถ้าตรวจสอบพบว่า อดีตผู้บริหารหรือพนักงานของการบินไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการติดสินบนดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมยืนยันว่า จะดำเนินการให้ถึงที่สุดโดยไม่มีข้อยกเว้น โดยในการตรวจสอบทั้ง 3 ข้อ การบินไทยจะต้องขอข้อมูลจากหน่วยงานที่เป็นคู่ค้า คือ บริษัท โรลส์ลอยซ์ ว่าโรลส์ลอยซ์ได้ไปชี้แจงกับหน่วยงานของอังกฤษในประเด็นไหนและใครเกี่ยวข้องบ้าง รวมถึงขอข้อมูลที่เปิดเผยทางสาธารณะ โดยทางการบินไทยและกระทรวงต้องขอดูรายงานฉบับเต็มเพื่อประกอบการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งการบินไทยต้องรายงานผลการสอบสวนเบื้องต้นโดยเร็วที่สุดคือภายใน 30 วันนับจากนี้

นอกจากนี้ นายจรัมพร ยังได้รายงานเพิ่มเติมว่า หลังจากนี้จะทบทวนการทำสัญญากับคู่ค้าที่เป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องยนต์ โดยกำหนดให้การลงนามในสัญญาคุณธรรมระหว่างการบินไทยและคู่ค้าว่า จะต้องไม่มีการติดสินบนในกระบวนการจัดซื้ออีก

บินไทยประกาศลงนามในสัญญาคุณธรรม

นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) เปิดเผยถึงกรณีสินบนโรลส์รอยซ์ ว่า ได้รายงานรายละเอียดเรื่องดังกล่าวให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรับทราบ พร้อมวางแนวทางดำเนินการแยกออกเป็น 2 ด้าน เช่น การป้องกันการทุจริต โดยการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบกระบวนการจัดหาเครื่องยนต์ และการซ่อมบำรุง โดยมีนายพิเชษฐ์ เรียงวัฒนสุข ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายบริหารความเสี่ยง เป็นประธาน ทำหน้าที่ตรวจสอบกระบวนการจัดหาเครื่องยนต์ และการซ่อมบำรุงในอดีตและในปัจจุบัน เพื่อทำการอุดช่องโหว่ของกระบวนการจัดหาในอดีต นอกจากนี้เพื่อป้องกันการทุจริตจะต้องมีการทำข้อตกลงคุณธรรม สำหรับการจัดหาเครื่องยนต์และการซ่อมบำรุงกับคู่ค้า เพื่อยืนยันว่าไม่มีการให้สินบนกับพนักงานการบินไทย

“ส่วนการสอบสวนและดำเนินการกับการทุจริต มีการตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจพิเศษ เพื่อตรวจสอบเรื่องทุจริตในการหาเครื่องยนต์ และการซ่อมบำรุง ในระหว่างปี 2534-2548 โดยมีนายนิรุฒ มณีพันธ์ ที่ปรึกษากรรมการผู้อำนวยการใหญ่ เป็นประธาน ทำหน้าที่ตรวจสอบว่าการจัดหาเครื่องยนต์และการซ่อมบำรุงในช่วงเวลาดังกล่าว ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบินไทย เกิดขึ้นเมื่อใด เพื่อให้สามารถดำเนินการเอาผิดตามกฎระเบียบของการบินไทยและตามกฎหมายต่อไป โดยจะมีการส่งเรื่องไปยัง ปปช. เพื่อดำเนินการเอาผิดหากพบว่ามีการทุจริตสำคัญที่เกี่ยวข้องกับอดีตผู้บริหาร หรือ นักการเมือง”

ทั้งนี้มั่นใจว่ากระบวนการตรวจสอบจะได้ความชัดเจนภายใน 7-15 วัน ก่อนกำหนดที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมระบุว่าต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน โดยในวันพรุ่งนี้( 20 ม.ค.)โรลส์รอยซ์ จะเข้ามาชี้แจงและให้ข้อมูลรายละเอียดกับการบินไทย และคาดวจะได้ความชัดเจนมากขึ้นอีกระดับหนึ่ง

ส่วนการเรียกความเชื่อมั่นเรื่องความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้าง ตามนโยบายการบินไทย จะใช้วิํธีการจัดซื้อจากผู้ผลิตโดยตรงไม่ผ่านเอเย่น หรือตัวแทนจำหน่าย เพื่อลดปัญหาการติดสินบน และเชื่อว่ามาตรการทั้งหมดจะทำให้ความเสียหายจากการทุจริตคอรัปชั่นในการบินไทยหมดไป

สหภาพฯ ยันไม่เชื่อน้ำยา

นายดำรงค์ ไวยคณี ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย ยอมรับว่า เรื่องดังกล่าวมีมูลแน่นอน เพราะเป็นการกล่าวหามาจากผู้จัดซื้อในต่างประเทศ การสอบสวนเรื่องนี้จึงต้องเร่งขยายผลอย่างจริงจัง ส่วนการที่บอร์ดการบินไทยสั่งตั้งกรรมการสอบสวนนั้น เชื่อว่าท้ายสุดท้ายคงไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ เนื่องจากการจัดซื้อเครื่องบินแต่ละครั้ง นอกจากต้องผ่านการอนุมัติจากบอร์ดและฝ่ายบริหารการบินไทยแล้ว ยังมีฝ่ายการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

“สหภาพฯ เตรียมประชุมหารือร่วมกัน หลังจากนั้นจะยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนอิสระจากภายนอกเข้ามาตรวจสอบคู่ขนานกับคณะกรรมการตรวจสอบที่การบินไทยแต่งตั้งเพื่อให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว และสหภาพฯ จะติดตามกรณีดังกล่าวอย่างใกล้ชิด จนกว่าจะมีการสอบสวนหาผู้กระทำผิดมาลงโทษเพื่อให้การบินไทยเป็นองค์กรที่ปลอดปัญหาคอร์รัปชันและการทุจริตในอนาคต”

ป.ป.ช. ห่วงบางช่วงเวลาหมดอายุความแล้ว

ด้านพล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. เปิดเผยหลังคณะกรรมการป.ป.ช.ว่า ที่ประชุม ป.ป.ช.ได้หารือและมอบหมายให้ดำเนินการ 2 ทาง คือ ให้สำนักการต่างประเทศของ ป.ป.ช. ประสานสำนักงานปราบปรามการทุจริตของอังกฤษ เพื่อขอข้อมูลมาตรวจสอบ รวมถึงกระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สหรัฐ และมอบสำนักการข่าวและกิจการพิเศษ ประสานกับการบินไทยเพื่อตรวจสอบข้อมูลด้วยเช่นกันว่ามีคดีขาดอายุความแล้วหรือไม่

ทั้งนี้ ป.ป.ช.ต้องพิจารณารายละเอียดจริงๆ อีกครั้งว่าเป็นอย่างไร เพราะเป็นห่วงเหมือนกันว่าบางเรื่องอาจขาดอายุความไปแล้ว ซึ่งหากกรณีใดขาดอายุความไปแล้ว จะไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ แต่ข้อมูลเบื้องต้นบางกรณียังอยู่ในอายุความ นอกจากนี้ยังต้องไปดูรายละเอียดในกรณีที่ผู้บริหารหรือเจ้าหน้าที่ที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องในการรับสินบนพ้นจากตำแหน่งไปแล้วด้วย เนื่องจากเงื่อนไขของกฎหมาย ป.ป.ช.กำหนดเวลาที่ ป.ป.ช.สามารถหยิบยกขึ้นมาพิจารณาด้วยเหตุอันควรสงสัย หรือมีผู้มีร้องทุกข์กล่าวโทษ และถ้ามีกรณีนี้เกิดขึ้นจริงแล้วการบินไทยเสียหาย ก็อาจต้องมาร้องทุกข์กล่าวโทษกับ ป.ป.ช.

ขณะที่นายปรีชา เลิศกมลมาศ กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ได้รายงานว่าการจัดซื้อเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ แบ่งเป็น 3 ช่วง คือ 1.ช่วงปี 2534-2535 ซึ่งหมดอายุความไปแล้ว คงไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ 2.ช่วงปี 2536-2540 มีบางช่วงใกล้หมดอายุความ 20 ปี จึงต้องเร่งดำเนินการให้ทันอายุความ และ 3.ช่วงปี 2547-2548 ที่ยังไม่หมดอายุความ แต่ก็ต้องเร่งดำเนินการต่อไป

 ย้อนรอยสินบนอื้อฉาว…

จากเทศกาลหนังกรุงเทพ…สู่มหกรรมสินบนโรลสรอยซ์

จุดเริ่มต้นของคดีสินบนเทศกาลหนังกรุงเทพนั้น  เกิดจากการที่ศาลสหรัฐอเมริกาและเอฟบีไอ ได้ดำเนินคดีตามกฎหมาย FCPA ของสหรัฐกับนายเจอรัลด์และนางแพทริเซีย กรีน ในข้อหาให้สินบนกับนางจุฑามาศจำนวน 60 ล้านบาทเพื่อให้ได้สิทธิในการจัดนิทรรศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพเมื่อปี 2550  ทำให้นายเจอรัลด์และนางแพทริเซีย กรีน ถูกทางการสหรัฐสั่งดำเนินคดีจนในที่สุดได้ถูกศาลสหรัฐอเมริกาพิพากษาเมื่อ 13 สิงหาคม 2553 ให้มีความผิดและถูกตัดสินจำคุก 6 เดือนเมื่อปี 2553  จากนั้นจะถูกกักบริเวณในบ้านอีก 6 เดือน และต้องจ่ายค่าชดใช้ 250,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 8 ล้านบาท

ต่อมาทางดีเอสไอได้เข้าตรวจสอบเรื่องดังกล่าว ก่อนส่งเรื่องให้คณะกรรมการป.ป.ช.ไต่สวนความผิดนางจุฑามาศ ศิริวรรณ อดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยก่อนที่ ป.ป.ช.จะมีมติชี้มูลความผิดอดีตผู้ว่าการ ททท. กรณีเรียกรับเงินจากนักธุรกิจชาวสหรัฐอเมริกา รวมมูลค่ากว่า 60 ล้านบาท เพื่อให้ได้สิทธิในการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ (Bangkok Film Festival) ไปเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554

แต่ต่อมาทางอัยการพบข้อไม่สมบูรณ์ในสำนวนบางประการ จึงมีการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่าง ป.ป.ช. กับอัยการ เพื่อไต่สวนพยานหลักฐานเพิ่มเติมเพื่ออุดข้อไม่สมบูรณ์นั้น โดยสามารถหาข้อยุติได้ในเดือนมิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา ล่าสุด เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2558 นายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด (อสส.) ได้มีความเห็นสั่งฟ้องนางจุฑามาศตามมติของคณะทำงานร่วม ต่อศาลอาญา ตามกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 97 ขณะนี้เรื่องยังคงอยู่ในกระบวนพิจารณาคดีของศาล