ทล.ขยาย 8 ช่องจราจรเส้นสุขุมวิท ช่วงบ้านฉาง-ระยอง สร้างเสร็จกลางปีหน้า

0
403

ทล.ยกระดับถนนปลอดภัยขยาย 8 ช่องจราจร สาย 3 ช่วง อ.บ้านฉาง-ระยอง ปลดล็อคปัญหาจราจรสายหลัก รองรับโครงข่ายคมนาคมขนส่งในอนาคต พัฒนาการเดินทางพื้นที่  EEC ตามนโยบายรัฐบาล ก่อสร้างคืบหน้ากว่า 40 %  คาดแล้วเสร็จกลางปี66

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง  เปิดเผยว่านายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เร่งรัดติดตามแผนงานการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงและมาตรฐานความปลอดภัยในเส้นทาง พร้อมให้เร่งดำเนินโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 3 (ถนนสุขุมวิท) ช่วง อ.บ้านฉาง-ระยอง โดยให้ขยายเป็น 8 ช่องจราจร ตามที่ได้มอบนโยบายไว้   เนื่องจากปัจจุบันทางหลวงสายดังกล่าวเป็นเส้นทางสายหลักสู่ภาคตะวันออกเชื่อมต่อไปยังสถานที่สำคัญต่างๆ เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจและสอดคล้องต่อการพัฒนาทางหลวงรองรับโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี ในส่วนของท่าเรือมาบตาพุดและสนามบินอู่ตะเภา  และยังมีโครงการทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 สาย พัทยา-มาบตาพุด จึงมีปริมาณการจราจรเพิ่มขึ้นและเกิดปัญหาการติดขัดของการจราจรโดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน  สภาพสองข้างทางเป็นพื้นที่ชุมชน  ดังนั้นเพื่อลดการจราจรติดขัด นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจึงได้เร่งรัดโครงการดังกล่าวเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืน ยกระดับถนนปลอดภัยในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ตามนโยบายของรัฐบาล

อธิบดีกรมทางหลวงกล่าวต่อไปว่า  เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรของโครงการได้อย่างยั่งยืนตามแนวสายทาง สำนักสำรวจและออกแบบจึงกำหนดให้มีการปรับปรุงบริเวณทางแยก 3 แห่ง ประกอบไปด้วย 1) แยกหนองแฟบและแยก ปตท. ช่วง กม.205+307 และ กม.205+640  2)  ทางแยกมาบตาพุด ช่วง กม.208+850  และ 3) แยกขนส่ง ช่วง กม.213+500    ซึ่งกรมทางหลวง โดยขณะนี้ สำนักสำนักก่อสร้างทางที่ 2  ได้เร่งดำเนินโครงการก่อสร้างสายทางและทางแยกดังกล่าวโดยก่อสร้างเป็นทางชั้นพิเศษขนาด 8 ช่องจราจรไป-กลับ ผิวทางคอนกรีตแบ่งทิศทางการจราจรด้วยกำแพงคอนกรีต (Barrier Median) ขนาดช่องจราจรกว้าง 3.50 เมตร ภายในเขตทาง 40 เมตร พร้อมติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างตลอดเส้นทาง ปัจจุบันการก่อสร้างคืบหน้าประมาณ 40 % คาดว่าจะก่อสร้างจะแล้วเสร็จประมาณเดือน เมษายน ปี 2566 โดยแบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ตอน ได้แก่

ตอนที่ 1 จุดเริ่มต้นที่ กม.192+150 – กม.204+100 และ กม.204+600 – กม. 208+400 ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่

ต.บ้านฉาง อ.บ้านฉาง ถึง พื้นที่ ต.มาบตาพุด อ.เมืองระยอง ระยะทาง 15.7  งบประมาณ 1,150 ล้านบาท  รวมงานก่อสร้างสะพานคอนกรีต 3 แห่ง  ก่อสร้างศาลาทางหลวงในบริเวณสองข้างทางเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนจำนวน 9  แห่ง และงานก่อสร้างทางแยก 1 แห่ง  ได้แก่ 

– แยกหนองแฟบและทางแยก ปตท. ช่วง กม.205+307 และ กม.205+640   โดยได้ยกเลิกระบบสัญญาณไฟจราจร และก่อสร้างทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 3191 ไปทางหลวงหมายเลข 3392 พร้อมก่อสร้างวงเวียนสำหรับเลี้ยวขวาในทุกรูปแบบ 

ตอนที่ 2 จุดเริ่มต้นที่ กม.208+400 – กม.210+445 และ กม.211+295 – 216+900 ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ต.มาบตาพุด อ.เมืองระยอง บริเวณตลาดมาบตาพุด โดยแนวเส้นทางมุ่งไปทางทิศตะวันออกผ่าแยกเนินสำลี แยกวัดโขดหิน และผ่านแยกขนส่งไปสิ้นสุดที่ ต.เนินพระ อ.เมืองระยอง ระยะทาง 7.7 กิโลเมตร งบประมาณ 700 ล้าน รวมงานก่อสร้างสะพานคอนกรีต 4 แห่ง  และก่อสร้างศาลาทางหลวงในบริเวณสองข้างทางเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนจำนวน  18  แห่ง  และงานก่อสร้างทางแยก 2 แห่ง ได้แก่ ทางแยกมาบตาพุด ช่วง กม.208+850  ปรับปรุงผิวจราจรที่เสียหาย และก่อสร้างสะพานกลับรถบนทางหลวงที่ กม.209+635 (คลองห้วยใหญ่) ช่องลอดจุดกลับรถสูงประมาณ 3 เมตร แยกขนส่ง ช่วง กม.213+500  โดยก่อสร้างทางลอดบนทางหลวงหมายเลข 3 ทิศทางจากบ้านฉางไประยอง ส่วนทิศทางไปบ้านฉางเป็นระดับดิน และก่อสร้างวงเวียนสำหรับทิศทางการจราจรเลี้ยวขวา

ทั้งนี้ เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรสายหลักเชื่อมสู่นิคมอุตสาหกรรม และเชื่อมต่อโครงข่ายคมนาคมขนส่งในอนาคตซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายการลงทุนที่สำคัญและช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ยกระดับถนนปลอดภัยและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้ได้รับความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ลดค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการเดินทาง เพราะหากระบบคมนาคมขนส่งมีประสิทธิภาพจะเป็นกลไกและเครื่องมือที่สำคัญการลงทุนในภาคการผลิตและการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)  นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยตามนโยบายของรัฐบาล