ตามที่มีการเสนอข่าวในสื่อออนไลน์ เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2565 กรณีมีชาวบ้านพื้นที่ ต.ปากพลี อ.ปากพลี จ.นครนายก ประมาณ 200 คนรวมตัวปิดเส้นทางจราจรบนทางหลวงหมายเลข 33 ตอน ปากพลี-ประจันตคราม บริเวณสี่แยกบ้านโคกกระโดนประท้วงแขวงทางหลวงหลังก่อสร้างถนนเสร็จเกือบปีไม่มีสัญญาณไฟแดงเกิดอุบัติเหตุล้มตายบ่อยนั้น
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการด่วน ให้กรมทางหลวงส่งทีมวิศวกรจากส่วนกลาง ลงพื้นที่ตรวจสอบทันที เพื่อรับข้อเสนอจากชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน โดยได้เน้นย้ำให้กรมทางหลวงแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน และหาแนวทางแก้ไขระยะต่อไปอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ให้สำรวจตรวจสอบทุกเส้นทางหลวงทั่วประเทศ ที่เป็นปัญหาเช่นกรณีนี้
ล่าสุดในช่วงเย็นเมื่อวานนี้ (8 ม.ค. 65) ทีมวิศวกรของสำนักอำนวยความปลอดภัย จากส่วนกลางกรมทางหลวง ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ ร่วมกับแขวงทางหลวงนครนายก หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่
กรมทางหลวง ขอเรียนชี้แจง สรุปผลการตรวจสอบ ดังนี้
• พื้นที่ทางแยกดังกล่าว อยู่บนทางหลวงหมายเลข 33 (แนวใหม่) ตอน แยกปากพลี-ประจันตคาม ที่ กม. 143+100 อ.ปากพลี จ.นครนายก โครงการก่อสร้างได้ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อเดือนมิถุนายน 2564 และส่งมอบให้แขวงทางหลวงนครนายกรับผิดชอบดูแลต่อไป
• ลักษณะทางกายภาพตลอดทั้งเส้นทาง ทล.33 แนวใหม่ เป็นทางหลวงขนาด 2-4 ช่องจราจร ระยะทาง 29 กิโลเมตร มีไฟฟ้าแสงสว่างในบางบริเวณ (ไม่ได้ติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างตลอดเส้นทาง)
• มีถนนท้องถิ่นเป็นทางสายรองซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนจังหวัด ตัดกับทางหลวงหลายจุด ซึ่งถนนท้องถิ่นบางเส้นทาง มีชุมชนหนาแน่น ทำให้เกิดการเดินทางของประชาชนค่อนข้างมาก ประกอบกับ ทางหลวงหมายเลข 33 ที่ตัดใหม่ ผู้ใช้เส้นทางใช้ความเร็วค่อนข้างสูง แม้ได้มีการติดตั้งป้ายเตือนทางแยกแล้ว แต่สภาพสองข้างทางเป็นพื้นที่ทุ่งโล่ง และในเวลากลางคืนค่อนข้างมืด ทำให้รถทางตรงอาจไม่ทันสังเกตเมื่อถึงทางแยกข้างหน้า จึงเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้เกิดอุบัติเหตุตามที่เป็นข่าว
หลังจากได้รับรายงาน นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง ได้สั่งการให้แขวงทางหลวงนครนายก ดำเนินการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนทันที โดยกำชับให้แล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2565 ดังนี้
1.) ติดตั้งเสาไฟฟ้าแสงสว่าง บนทางสายหลัก ทล.33 ทั้ง 2 ทิศทาง จำนวน 3-5 ต้น ต่อทิศทาง โดยให้รีบประสานขอความร่วมมือจากการไฟฟ้าภูมิภาค เรื่องการติดตั้งหม้อแปลง เพื่อเพิ่มความสว่างในบริเวณที่เข้าสู่จุดตัดทางแยก
2.) ติดตั้งป้ายจราจร เพิ่มเติม ทั้ง ป้ายเตือน ป้ายชะลอความเร็ว สำหรับรถทางตรงในทางหลัก และป้ายบังคับ ป้ายเตือน ในเส้นทางรอง เพื่อให้ระวัง เมื่อจะถึงจุดตัดทางแยกข้างหน้า
3.) จัดทำเครื่องหมายจราจรเพิ่มเติม และติดตั้งกรวยยางบริเวณขอบทาง เพื่อให้รถทางตรงชะลอความเร็ว รวมทั้งทำความสะอาด เส้นจราจร ให้เห็นชัดเจน
4.) ให้แขวงทางหลวงนครนายก ประสานผู้นำชุมชน ทำการประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ประชาชนในชุมชน ทราบถึงวิธีการขับขี่ที่ปลอดภัย ขณะเข้าสู่ทางร่วมทางแยก
สำหรับการแก้ไขปัญหาในระยะต่อไป ได้สั่งการให้สำนักงานทางหลวงที่ 13 (กรุงเทพ) แขวงทางหลวงนครนายก สำนักอำนวยความปลอดภัย สำนักสำรวจออกแบบ และสำนักแผนงาน บูรณาการร่วมกัน กับทางจังหวัด หน่วยงานท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่ เพื่อทำการสำรวจตลอดเส้นทางอย่างละเอียด โดยเฉพาะบริเวณทางร่วมทางแยก ให้ทำการออกแบบติดตั้งเป็นทางแยกไฟสัญญาณจราจรในจุดที่จำเป็นเหมาะสม
รวมทั้งให้จัดทำรายละเอียดเสนอขอตั้งงบประมาณขยายถน จาก 2 ช่องจราจรเป็น 4 ช่องจราจร ช่วงที่เหลืออีกประมาณ 12 กิโลเมตรในปีงบประมาณ 2566 โดยเบื้องต้นจะใช้วงเงินประมาณ 650 ล้านบาท ซึ่งถ้าได้รับงบประมาณในการดำเนินการ จะทำให้ประชาชนที่ใช้เส้นทาง ทล.33 แนวใหม่ และเส้นทางสายรองได้รับความสะดวกปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
กรมทางหลวง ขอแสดงความเสียใจ และขออภัยประชาชนในพื้นที่ และผู้ใช้เส้นทาง ที่ได้รับความไม่สะดวก ไม่ปลอดภัย ทำให้เกิดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สิน
ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อสงสัย ต้องการสอบถามข้อมูล หรือต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานทางหลวง แขวงทางหลวง หมวดทางหลวงในพื้นที่ และสายด่วนกรมทางหลวง 1586 (โทรฟรีทุกเครือข่ายตลอด 24 ชั่วโมง)