ไม่ยอมหยุดนิ่งกับการพัฒนาองค์กรสู่โมเดลธุรกิจสมัยใหม่ตามเทรนด์โลกยานยนต์ไฟฟ้าจริงๆสำหรับบริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด ยักษ์ใหญ่ธุรกิจผู้ผลิตยานยนต์เพื่อการขนส่งและโลจิสติกส์เมืองไทย ล่าสุด เดินหน้าล็อคเป้าหมายต้องการเป็นส่วนหนึ่งช่วยให้ประเทศไทยสามารถต่อยอดการพัฒนาเทคโนโลยีให้เป็นของตัวเองเพื่อช่วยลดโลกร้อน-ค่าใช้จ่ายเติมเชื้อเพลิงของผู้ใช้งาน และมุ่งพัฒนาธุรกิจไปสู่เชิงพาณิชย์เต็มสูบ
โดยขบวนล่าสุดนี้เป็นการรุกพัฒนาเทคโนโลยีและระบบด้านยานยนต์ไร้มลพิษ (Zero Emission Vehicle) ซึ่งได้พัฒนาธุรกิจใหม่ด้าน Micromobility ที่ใช้ระบบสลับแบตเตอรี่ (Battery Swapping System) และพัฒนาแอปพลิเคชันแพลตฟอร์ม ร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร โดยได้รับการร่วมสนับสนุนงบประมาณวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
ระยะแรกจะเป็นการทดสอบการใช้งานจริงรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าร่วมกับระบบสลับแบตเตอรี่ที่พัฒนาขึ้นเองในพื้นที่จังหวัดชลบุรี โดยได้รับความสนใจจากภาคส่วนต่างๆ ตัวอย่างเช่น หน่วยงานภาครัฐ เช่น เทศบาลเมืองแสนสุข กลุ่มบริษัทเอกชน เช่น บริษัท Grab Express Delivery บริษัท ดิ โอ้โห กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็น Local Food Delivery และกลุ่มสถาบันการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยบูรพา
โดยเมื่อวันจันทร์ที่ 22 พ.ย. 2564 ที่ผ่านมา บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด นำโดย คุณพนัส วัฒนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร คุณธันยพร อ้อพงษ์ ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดร.วิมล แสนอุ้ม ผู้อำนวยการหน่วยกลยุทธ์ธุรกิจนวัตกรรม นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญของบริษัท ฯโดยส่วนงาน Light Electric Vehicles เปิดการทดสอบแพลตฟอร์มสลับแบตเตอรี่ต้นแบบ เพื่อพัฒนาธุรกิจรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าสำหรับกลุ่ม Rider กลุ่มนักศึกษา หน่วยงานภาครัฐ และผู้สนใจทั่วไป โดยมี รศ.ดร.วัชรินทร์ กาสลัก อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา ดร.ณัฐพันธ์ ถนอมสัตย์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ดร.อธิตา อ่อนเอื้อน รองคณบดีคณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยบูรพา รวมถึง ผศ.ดร.อนันต์ชัย อยู่แก้ว หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมเป็นเกียรติและทดสอบการใช้งานจริง ณ พื้นที่โรงงานใหม่ก่อนการเปิดตัวโครงการอย่างเป็นทางการ
คุณพนัส วัฒนชัย เปิดเผยว่าบริษัทพนัสฯซึ่งเป็นบริษัทไทย 100% ได้วางยุทธศาสตร์ด้านยานยนต์ไฟฟ้าครอบคลุมทั้งห่วงโซ่คุณค่าและเห็นว่าจักรยานยนต์ไฟฟ้าเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) โดยเฉพาะด้าน Express Delivery ที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่ง Pain Point ที่สำคัญ คือระบบอัดประจุไฟฟ้าแบบธรรมดาที่ใช้เวลา 4 ชั่วโมงต่อการอัดประจุไฟฟ้าแบตเตอรี่จากศูนย์จนเต็มที่ใช้ระยะเวลาหลายชั่วโมง ซึ่งในโลกธุรกิจหากต้องการจะให้แข่งขันได้จำเป็นต้องพัฒนาเทคโนโลยีที่มีความเหมาะสมกว่านี้
“บริษัทฯจึงเล็งเห็นว่าแพลตฟอร์มระบบสลับแบตเตอรี่ อาจจะสามารถเข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหานี้ได้ ทำให้ผู้ใช้งานในเชิงพาณิชย์สามารถทำรายได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเห็นจากความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีระบบสลับแบตเตอรี่ในต่างประเทศ เช่น สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) อนึ่ง บริษัทฯ มียุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City Development) ในเขตพื้นที่ EEC ตัวอย่างเช่น 1.การร่วมพัฒนากำลังคน กับมหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อร่วมพัฒนาเทคโนโลยีไปสู่มหาวิทยาลัยสีเขียว เสริมสร้างและพัฒนาความรู้และประสบการณ์การใช้เทคโนโลยีไร้มลพิษ และ 2.การสนับสนุนการปฎิบัติงานขององค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น เทศบาลเมืองแสนสุข ต้องการพัฒนาไปสู่เมืองอัจฉริยะเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการสร้างคุณภาพชีวิตให้ประชาชนในพื้นที่ เป็นต้น”
ด้านดร.วิมล แสนอุ้ม กล่าวเสริมว่าบริษัทพนัสฯเป็นบริษัทไทยที่ออกแบบและพัฒนาด้านเทคนิคร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวรภายใต้กระบวนการวางแผนคุณภาพผลิตภัณฑ์ล่วงหน้าและแผนควบคุม โดยแพลตฟอร์มประกอบด้วยรถจักรยานยนต์พลังงานไฟฟ้า ระบบไฟฟ้าและเมคคาทรอนิกส์ของสถานีสลับแบตเตอรี่ รวมถึงแอปพลิเคชันและการประมวลผลแบบคลาวด์ โดยจะเปิดทดสอบในพื้นที่บางแสนเป็นระยะเวลา 3 เดือนในการเก็บข้อมูลขนาดใหญ่มาวิเคราะห์เชิงเทคนิคและพฤติกรรมการขับขี่ เพื่อพัฒนาต่อยอดให้ตรงกับความต้องการของคนไทย
“ด้านธุรกิจบริษัทฯมองว่าธุรกิจนี้สามารถเติบโตแบบก้าวกระโดดเชิงพาณิชย์ในลักษณะ Startup เน้นเข้าตลาด Smart Cities สร้างความแตกต่างจากการให้เหมาจ่ายรายวันให้เป็นระบบจ่ายเมื่อใช้ (Pay-Per-Use) หรือ User-Based Rental (UBR) ขับเท่าไหร่จ่ายเท่านั้น ซึ่งเป็นโมเดลธุรกิจสมัยใหม่ส่งมอบความคุ้มค่าให้กับผู้ใช้อย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังมีแผนขยายธุรกิจแฟรนไชส์แบบ B2B โดยส่งมอบสถานีพร้อมจำนวนรถที่เป็น Fleet สำหรับการท่องเที่ยวในเมืองหรือเกาะต่าง ๆ มหาวิทยาลัย หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือผู้ประกอบการด้าน First-and-Last Mile Delivery มากไปกว่านี้ยังครอบคลุมถึง การบริการด้านประกันภัย ด้านลีสซิ่ง ด้านการอำนวยความสะดวกของการบริการหลังการขายและซ่อมบำรุงผ่านแอปพลิเคชัน และแบบ On-site และรวมถึงศูนย์ซ่อมบำรุงมาตรฐาน”
ดร.วิมล ย้ำสรุปทิ้งท้ายว่าการเปิดการทดสอบแพลตฟอร์มสลับแบตเตอรี่ต้นแบบสำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดังกล่าว ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ทดสอบใช้งาน สามารถลดต้นทุนค่าน้ำมันได้เป็นอย่างดี รถจักรยานยนต์ไฟฟ้ามีสมรรถนะยอดเยี่ยม มีความปลอดภัยสูงสามารถควบคุมความเร็วด้วยระบบตัวรถ มีระบบการสลับแบตเตอรี่ที่ใช้งานง่ายสะดวก มีบริการสนับสนุนผู้ใช้งานในระยะแรก และมีความพร้อมในการขยายผลเชิงพาณิชย์
ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญสำหรับการขับเคลื่อนองค์กรสู่โมเดลธุรกิจสมัยใหม่ตามแรงโน้มถ่วงเทรนด์โลกยานยนต์พลังงานไฟฟ้าของพี่เบิ้มธุรกิจผลิตยานยนต์เพื่อการขนส่งและโลจิสติกส์เมืองไทยอย่างพนัสฯภายใต้โลโก้สินค้าคุณภาพที่เราคุ้นเคย “PANUS”ตอกย้ำวิสัยทัศน์ความเป็นผู้นำตลาดที่ไม่ยอมหยุดนิ่งการพัฒนาองค์กรรองรับเทรนด์ผู้บริโภค-โลกเทคโนโลยีสมัยใหม่
และน่าจับตาสถานีต่อไปว่าพนัสฯจะเดินหน้าผนึกความร่วมมือกับหน่วยงานไหน?อย่างไร?
:ลมใต้ปีก