ศักดิ์สยาม”ไม่ฟันธงปิด”หัวลำโพง”ชี้ยังมีเวลาตัดสินใจ ส่วนผลศึกษาแผนพัฒนาสถานีหัวลำโพงของบริษัทลูก รฟท. หากทำได้ อุดขาดทุนรถไฟไทยที่แบกกว่า 6 แสนล้านบาทได้ ย้ำ!ต้องเร่งพัฒนาที่ดินทำเลทอง คาดใน 30 ปีสร้างรายได้ 8 แสนล้านบาท
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีกระแสข่าวและมีการวิพากษ์วิจารณ์แสดงความคิดเห็นไม่เห็นด้วยกับการหยุดเดินรถไฟเข้าสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ภายหลังเปิดให้บริการรถไฟชานเมืองสายสีแดง และสถานีกลางบางซื่อ เป็นทางการนั้น ในเรื่องนี้ทางกระทรวงคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้หารือร่วมกันมานานแล้ว เนื่องจากต้องการให้สถานีกลางบางซื่อเป็นศูนย์กลางของระบบรางทั้งหมด โดยในระยะแรกจะปรับลดขบวนรถเข้าสถานีหัวลำโพง จากเดิม 118 ขบวนต่อวันเหลือ 22 ขบวน ส่วนขบวนรถขนส่งสินค้าจะปรับไปใช้สถานีเชียงรากน้อยแทน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อไม่ให้มีจัดตัดทางรถไฟกับถนน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการจราจรในพื้นที่กทม.
สำหรับประเด็นที่เป็นห่วงว่าประชาชนที่ใช้บริการรถไฟจะได้รับผลกระทบนั้น ในเรื่องนี้กระทรวงคมนาคมกำลังเร่งหามาตรการเพื่อแก้ปัญหา โดยจะนำรถองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ทำเป็นระบบฟีดเดอร์ เพื่อเชื่อมบริการ เส้นทาง หัวลำโพง-บางซื่อ รวมถึงจะประสานกับ เอกชนเจ้าของสัมปทานเดินรถสายสีน้ำเงิน หรือ MRT ในการหามาตรการเชื่อมต่อการเดินทางให้กับประชาชนต่อไป
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า เรื่องที่ว่าจะปิดสถานีหัวลำโพงหรือไม่นั้น ต้องบอกว่าประเด็นนี้ ได้ให้ รฟท. ทบทวนข้อมูลแผนการเดินรถให้รอบด้าน โดยพิจารณาให้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งมิติการบริหารจราจร และมิติการให้บริการประชาชน โดยพิจารณาการปรับรูปแบบ และจำนวนรถไฟให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน รวมถึงความเป็นไปได้ในการปรับให้ขบวนรถไฟวิ่งนอกชั่วโมงเร่งด่วน รวมถึงนำข้อมูล ข้อคิดเห็นจากทุกฝ่ายมาพิจารณาประเมินตัวเลขต่างๆ และผลกระทบ หากตัวเลขข้อมูลชัดเจนตัดสินใจได้ก็ตัดสินใจ ตอนนี้ยังไม่ต้องรีบเพราะยังมีเวลา
“ตอนนี้อย่าเพิ่งดราม่ากัน ซึ่งจากที่มี 118 ขบวนเหลือ 22 ขบวนเข้าหัวลำโพง ก็ดีในระดับหนึ่ง แต่ก็ให้รฟท.ไปดูอีกว่า จะปรับได้อีกหรือไม่ หรือจะปรับเวลาไม่ให้กระทบช่วงเร่งด่วน เพราะเราต้องแก้ปัญหาจราจร และในที่สุดการบริหารที่สถานีหัวลำโพงจะต้องเปลี่ยนไป เพราะเรามีสถานีกลางบางซื่อ เป็นศูนย์กลางระบบราง ผมกล้าตัดสินใจ ผมทำงานก็โดนวิพากษ์วิจารณ์ ก็ไม่เป็นไร ซึ่งการพัฒนาหัวลำโพงเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่จะต้องประมูลแบบนานาชาติ และคงไม่ได้เกิดในสมัยผม แต่วันนี้ผมต้องเริ่มนับหนึ่งไว้ก่อน หากผมไม่เริ่มนับ ก็ต้องรอคนอื่นซึ่งก็ไม่รู้จะเริ่มเมื่อไหร่ และหากรอก็ไม่รู้ว่า หนี้สินสะสมของ รฟท.จะเพิ่มไปอีกเท่าไหร่”
อย่างไรก็ตาม การพิจารณาแนวทางไหนจะต้องรอบคอบ เนื่องจาก โครงการก่อสร้างรถไฟสายสีแดง และสถานีกลางบางซื่อ นั้น รฟท.ได้ใช้งบประมาณในการก่อสร้างไปจำนวนมาก และปัจจุบันรฟท.ยังมีภาระหนี้สินและขาดทุนต่อเนื่องล่าสุดมีจำนวน 160,000 ล้านบาท และหากคิดเป็นจำนวนหนี้ที่ไม่ได้ลงบัญชี รฟท.มีหนี้สูงถึง 6 00,000 ล้านบาท ดังนั้นจึงเป็นโจทย์ที่สำคัญที่ รฟท.ต้องเร่งแก้ปัญหา
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า รฟท. ได้จัดตั้ง บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) เป็นบริษัทลูก เพื่อดำเนินการบริหารสินทรัพย์ของ รฟท.เพื่อหารายได้เพิ่มและแก้ปัญหาขาดทุน ซึ่งมีหลายแปลงที่มีศักยภาพไม่เฉพาะสถานีหัวลำโพง แต่ยังมีสถานีธนบุรี ซึ่งจะพัฒนาร่วมกับโรงพยาบาลศิริราช ,บริเวณอาร์ซีเอ บริเวณสถานีแม่น้ำ โดย SRTA คาดการณ์คาดว่า ในปีแรกจะสามารถสร้างรายได้จากการพัฒนาทรัพย์สินให้กับรฟท.ประมาณ 5,000 ล้านบาท และปีที่ 5 เพิ่มเป็น 10,000 ล้านบาท และรวม 30 ปี รฟท. ได้มากถึง 800,000 ล้านบาท