“ศักดิ์สยาม”เช็กความพร้อมเปิดสายสีแดงเต็มรูปแบบเดือน ธ.ค.นี้

0
305

“ศักดิ์สยาม”สแกนความพร้อมเตรียมการเปิดบริการรถไฟฟ้าชานเมือง สายสีแดงเต็มรูปแบบเดือนธันวานี้ หลังเปิดให้บริการประชาชนเดินทางเฉลี่ยวันละ 6,105 คน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการเตรียมการเปิดให้บริการและการบริหารโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และสถานีกลางบางซื่ออย่างเป็นทางการ หรือ Grand Opening ประมาณช่วงเดือนธันวาคมว่า หลังจากที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้เปิดให้บริการแบบเสมือนจริง หรือ Soft Opening มาตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 64โดยไม่คิดค่าโดยสาร โดยปัจจุบันมียอดผู้โดยสารโดยเฉลี่ยวันละ 6,105 คน ซึ่งมีอัตราการเติบโดที่สูงถึง 13% สอดคล้องกับการผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่าง ๆ ของรัฐบาล ซึ่งได้มีการดำเนินการด้านการเชื่อมต่อการเดินทางกับรถโดยสารประจำทาง โดยกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้ปรับปรุงเส้นทางเพื่อรองรับการเชื่อมต่อโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ทุกสถานี เพื่อให้ผู้ใช้บริการเดินทางได้อย่างสะดวก และลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป

อย่างไรก็ตาม การเตรียมความพร้อมด้านการให้บริการภายในสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดงทั้ง 12 สถานี รฟท.ได้จ้างทำความสะอาด กำจัดขยะ รักษาความปลอดภัย และอำนวยการจราจรทั้งบริเวณสถานีกลางบางและบริเวณสถานีอื่น ๆ เรียบร้อยแล้ว โดยในส่วนของงานจ้างบริหารจัดการงานอาคารและสถานที่บริเวณสถานีกลางบางซื่อ และงานบริหารจัดการงานอาคารและระบบวิศวกรรมประกอบอาคารสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง อยู่ระหว่างเผยแพร่ร่าง TOR เพื่อให้สาธารณชนเสนอแนะ และวิจารณ์ผ่านทางเว็บไซต์ ส่วนการจัดประโยชน์พื้นที่เชิงพาณิชย์อยู่ระหว่างการคณะกรรมการจัดทำประกาศฯ พิจารณาหลักเกณฑ์การคัดเลือกร่วมกับ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA)

นอกจากนั้น ในส่วนของการปรับจำนวนขบวนรถไฟทางไกลเข้าสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) รฟท.ได้มีแผนการดำเนินงานให้ปรับลดลงเหลือ 22 ขบวน เมื่อเปิดให้บริการรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) อย่างเป็นทางการ และจะเริ่มลดลงให้วิ่งเข้าสู่สถานีกลางบางซื่อทั้งหมดในอนาคต โดย ได้สั่งการให้ รฟท. กำหนดกรอบเวลาการดำเนินงานให้ชัดเจน รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับรู้

นอกจากนี้ที่ประชุมได้รับทราบผลการกำหนดอัตราค่าโดยสาร ความพร้อมเข้าสู่ระบบตั๋วร่วม บัตรโดยสารในการเดินทางร่วม โดยกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ใน 3 ปีแรกจะมีค่าแรกเข้า 12 บาท และ ค่าโดยสาร 1.50 บาทต่อกิโลเมตร ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ รฟท. พิจารณากำหนดแนวทางเพื่อลดภาระทางการเงิน รวมทั้งแนวทางการผ่อนผันดอกเบี้ยใน 3 ปีแรกของการเปิดให้บริการ และการเตรียมความพร้อมการเข้าสู่ระบบตั๋วร่วมภายใต้มาตรฐาน EMV สามารถรองรับการใช้งานในรถเมล์ ขสมก. และเรือโดยสาร MINE Smart Ferry รวมทั้ง เปิดใช้งานกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วงได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 65และยังได้รับทราบแผนการใช้บัตรโดยสารในการเดินทางร่วม โดย บมจ. ธนาคารกรุงไทย ได้หารือร่วมระหว่าง รฟท. การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ขสมก. และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เพื่อให้เกิดตั๋วร่วมระหว่างหน่วยงานตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม เพื่อส่งเสริมการเดินทางร่วมระหว่างระบบขนส่งมวลชนรูปแบบต่าง ๆ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อหาข้อสรุปแนวทางร่วมกัน ทั้งรูปแบบบัตร เทคนิคบัตร และเงื่อนไขการกำหนดราคา พร้อมทั้งพิจารณาข้อกำหนดส่วนแบ่งรายได้ การเติมเงิน จุดจำหน่ายบัตร และการแบ่งจ่ายรายได้ของ Operators

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ได้มีข้อสั่งการให้ รฟท. วิเคราะห์ข้อมูลรายได้และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ในการให้บริการช่วงที่ผ่านมา เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์เพื่อจัดตารางเวลาของรถไฟและกำหนดอัตราค่าโดยสารแรกเข้าให้มีความเหมาะสม โดยต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนเป็นหลัก และเมื่อได้ข้อสรุปแล้วให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์ข้อมูลตารางการเดินรถ รูปแบบราคาค่าโดยสาร และข้อมูลอื่น ๆ ผ่านช่องทางต่าง ๆ ให้ประชาชนได้รับรู้อย่างทันท่วงที

รวมทั้งได้สั่งการเพิ่มเติมให้ รฟท. ดำเนินการในเชิงรุกด้านการป้องกันไม่ให้บุคคลภายนอกเข้ามาลักลอบตัดสายอาณัติสัญญาณในระบบรถไฟฟ้า เช่น การดำเนินคดีให้ถึงที่สุด รวมถึงการขยายผล ให้เป็นแบบอย่างในการป้องปรามไม่ให้เกิดการกระทำผิดซ้ำ เพื่อให้ความตรงต่อเวลาและความน่าเชื่อถือในการบริการเดินรถไฟมีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบแนวทางการพัฒนาพื้นที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) โดยมีแนวความคิดในการพัฒนาได้เน้นการเป็นพื้นที่สาธารณะให้กับคนเมือง และเพิ่มศักยภาพพื้นที่เพื่อเชิงพาณิชย์ อันได้แก่ การเชื่อมต่อระบบการสัญจร การพัฒนาเชิงพาณิชยกรรม การออกแบบการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นการอนุรักษ์และรองรับทุกวัย และการเชื่อมโยงกิจกรรมกับบริเวณพื้นที่ต่อเนื่อง โดยได้วางรูปแบบการพัฒนาเป็น 5 โซน ประกอบด้วย พื้นที่สาธารณะประโยชน์และพัฒนาทัศนียภาพโดยรอบ (Public area and Landscape) พื้นที่ปรับปรุงอาคารเป็นไปตามแนวทางอนุรักษ์ พื้นที่เชิงพาณิชย์ ในรูปแบบปิดและเปิด เช่น ร้านค้า ร้านอาหาร พื้นที่กิจกรรม พื้นที่เชิงพาณิชย์ ในรูปแบบ Lifestyle Mixed-Use Development และพื้นที่เชิงพาณิชย์ ในรูปแบบ Urban Mixed-Use Development โดยแบ่งเป็นการพัฒนาในระยะสั้นและระยะยาวตามการพัฒนาเศรษฐกิจ การคมนาคมโดยรอบพื้นที่และตลาดโดยรวมเพื่อให้สอดรับแนวทางเดียวกัน