สุดว้าว!4เลนแนวใหม่ทล.12กาฬสินธุ์-คำชะอี เชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตก

0
571

ขยายเสร็จแล้วสำหรับ 4 เลนแนวใหม่ ทล. 12กาฬสินธุ์-บรรจบทางหลวงหมายเลข 12 (บ้านนาไคร้) – อ.คำชะอี ระยะทาง 115.6กม.ด้วยงบประมาณ 5,881 ล้านบาท เชื่อมโยงโครงข่ายระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก – ตกสู่ประเทศเพื่อนบ้าน “เมียนมาร์-สปป.ลาว-เวียดนาม”

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า กรมทางหลวง โดย สำนักก่อสร้างทางที่ 2 ดำเนินการโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 12 แนวใหม่ สายกาฬสินธุ์ – บรรจบทางหลวงหมายเลข 12 (บ้านนาไคร้) – อ.คำชะอี ระยะทางประมาณ 115.6 กิโลเมตร แล้วเสร็จตามนโยบายโครงการพัฒนาเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Corridor) กับประเทศเพื่อนบ้าน ของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

สำหรับโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 12 แนวใหม่ สาย กาฬสินธุ์ – บรรจบทางหลวงหมายเลข 12 (บ้านนาไคร้) – อ.คำชะอี เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม ขนส่งตามแนวตะวันออกและตะวันตก กับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งแนวเส้นทางเดิมบางช่วงเป็นทางหลวงขนาด 2 ช่องจราจร ปัจจุบันมีปริมาณการจราจรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับข้อจำกัดของสภาพพื้นที่และชุมชนในการขยายทางหลวง ทำให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวกและปลอดภัยในการเดินทาง กรมทางหลวงเล็งเห็นความสำคัญนี้ จึงดำเนินการศึกษาและออกแบบทางหลวงสายใหม่ระยะทางทั้งหมดประมาณ 115.6 กิโลเมตร เพื่อรองรับการเดินทางในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดมุกดาหาร ให้มีแนวทางที่เหมาะสมและเป็นการลดผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด โดยแบ่งโครงการก่อสร้างเป็น 5 ตอน ดังนี้

1.สายกาฬสินธุ์ – บรรจบทางหลวงหมายเลข 12 (บ.นาไคร้) ตอน 1 ตอน ลำน้ำพาน – บ.หลุบ ระยะทางประมาณ 7.867 กิโลเมตร

2.สายกาฬสินธุ์ – บรรจบทางหลวงหมายเลข 12 (บ.นาไคร้) ตอน 2 ส่วนที่ 1 ระยะทางประมาณ 35.722 กิโลเมตร

3.สายกาฬสินธุ์ – บรรจบทางหลวงหมายเลข 12 (บ.นาไคร้) ตอน 2 ส่วนที่ 2 ระยะทางประมาณ 35.714 กิโลเมตร

4.สาย บ.นาไคร้ -อ.หนองสูง ระยะทางประมาณ 16.6 กิโลเมตร

5.สาย อ.หนองสูง-อ.คำชะอี ระยะทางประมาณ 19.708 กิโลเมตร

ลักษณะโครงการ เป็นทางหลวงแนวใหม่ เขตทางกว้าง 60 เมตร (ส่วนใหญ่) ก่อสร้างตามมาตรฐานชั้นทางพิเศษผิวจราจรแอสฟัลต์คอนกรีต (AC) ขนาด 4 ช่องจราจรไปกลับ กว้างช่องละ 3.5 เมตร ไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2.5 เมตร ไหล่ทางด้านในกว้าง 1.5 เมตร แบ่งทิศทางจราจรด้วยเกาะกลางแบบกดร่อง (Depressed Median) กว้าง 12.1 เมตร พร้อมทั้งติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย และงานไฟฟ้าแสงสว่าง งบประมาณโครงการทั้งสิ้น 5,881 ล้านบาท

โครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ เพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมขนส่งบนเครือข่ายทางหลวง ส่งเสริมการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ เช่น การเกษตร การบริการ การขนส่ง รองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นการบูรณาการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการพัฒนาในเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Corridor) กับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ สหภาพเมียนมาร์-ไทย-สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม