กรมทางหลวงชนบท เพิ่มประสิทธิภาพคุมเข้มรถบรรทุกน้ำหนักเกิน ลดปัญหาการจราจรติดขัด ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ตรวจจับน้ำหนักบรรทุก บริเวณด่านชั่งน้ำหนักกึ่งถาวร ดักทางสายแบกต้นเหตุทำถนนพัง
รายงานข่าวจากกรมทางหลวงชนบท (ทช.) โดยสำนักบำรุงทาง ระบุว่า ปัจจุบัน ทช.ได้มีการจัดตั้งด่านชั่งน้ำหนัก เพื่อตรวจสอบและควบคุมน้ำหนักของรถบรรทุกไม่ให้น้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ตามมาตรการของกระทรวงคมนาคมและกรมทางหลวงชนบท ทั้งยังสอดรับกับนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในการป้องกันการชำรุดของพื้นผิวถนนในระยะยาว ภายใต้ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการควบคุมน้ำหนักบรรทุก ตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 มาตรา 61 ประกอบบทลงโทษ มาตรา 73/2 และมาตรา 23 (2) ประกอบบทลงโทษ มาตรา 70 รวมถึง ตามประกาศเรื่องห้ามใช้ยานพาหนะที่มีน้ำหนัก น้ำหนักบรรทุก หรือน้ำหนักลงเพลาเกินกว่าที่ได้กำหนด หรือโดยที่ยานพาหนะนั้นอาจทำให้ทางหลวงเสียหาย เดินบนทางหลวงชนบทในเขตความรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบท
ซึ่งปัจจุบัน ทช.มีการแบ่งประเภทการจัดตั้งด่านชั่งน้ำหนัก ออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
– ด่านชั่งน้ำหนักแบบถาวร (Weigh Station) เป็นด่านชั่งน้ำหนักที่ได้ติดตั้งเครื่องชั่งแบบสถิต และด่านชั่งน้ำหนักกึ่งถาวร (Weigh in Motion, WIM) ไว้ในด่านชั่งเดียวกัน ซึ่งจะมีเจ้าหน้าคอยปฏิบัติงานอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง โดยจะก่อสร้างบนทางหลวงชนบทหลักที่มีปริมาณการจราจรของรถบรรทุกสูงซึ่งปัจจุบัน ทช.มีด่านชั่งน้ำหนักแบบถาวร จำนวน 5 แห่ง
– ด่านชั่งน้ำหนักกึ่งถาวร (WIM) เป็นด่านชั่งน้ำหนักที่จัดเตรียมช่องจราจรพิเศษไว้ เพื่อติดตั้งเครื่องมือชั่งน้ำหนักแบบเคลื่อนที่ (Spot Check) ในช่องจราจรที่จัดเตรียมไว้ ซึ่งจะทำให้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการจัดการรถบรรทุกเข้าชั่งน้ำหนักมีความสะดวกและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
– ด่านชั่งน้ำหนักเคลื่อนที่ (Spot Check) เป็นด่านชั่งที่จะติดตั้งบนสายทางที่มีปริมาณจราจรของรถบรรทุกไม่สูงมาก โดยเจ้าหน้าที่จะทำการนำเครื่องมือชั่งน้ำหนักเข้าปฏิบัติงาน เพื่อที่จะสุ่มตรวจสอบรถบรรทุกบนสายทางที่อาจจะหลบเลี่ยงจากเส้นทางหลักที่มีด่านตรวจชั่งน้ำหนักแบบถาวรและแบบกึ่งถาวร
สำหรับในปีงบประมาณ 2563 – 2564 ทช.ได้ดำเนินการติดตั้งด่านชั่งน้ำหนักกึ่งถาวร (WIM) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ในการตรวจสอบน้ำหนักรถบรรทุกบนถนนทางหลวงชนบท เพื่อช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัดระหว่างคัดกรองรถบรรทุกก่อนเข้าด่านชั่ง เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบรถบรรทุกน้ำหนักเกิน สามารถวางแผนและเก็บข้อมูลรถบรรทุก ซึ่งจะนำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์งานซ่อมบำรุงทางให้เกิดประสิทธิผลในการดำเนินงานมากยิ่งขึ้น จำนวน 5 สายทาง ดังนี้
1. ถนนทางหลวงชนบทสาย นบ.3021 ถนนราชพฤกษ์ จ.นนทบุรี, กรุงเทพมหานคร
2. ถนนทางหลวงชนบทสาย นม.1111 สาย ฉ ผังเมืองรวมเมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา
3. ถนนทางหลวงชนบทสาย รย.2015 แยก ทล.36 – บ้านภูไทร อ.นิคมพัฒนา, ปลวกแดง จ.ระยอง
4. ถนนทางหลวงชนบทสาย รบ.4013 แยก ทล.3206 – บ้านทุ่งหลวง อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี
5. ถนนทางหลวงชนบทสาย ชร.5023 สาย จ.3 ผังเมืองรวมเชียงราย อ.เมือง จ.เชียงราย
อย่างไรก็ตาม ในอนาคต ทช. มีแผนที่จะติดตั้งด่านชั่งน้ำหนักกึ่งถาวร (WIM) ในสายทางที่คาดว่าจะมีปริมาณการจราจรของรถบรรทุกสูง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานต่อไป