ผ่า!เส้นทาง R12 เส้นทางยอดฮิต-สั้นสุดส่งผลไม้ไทยไปแดนมังกร

0
1955

แว๊ปแรกที่เห็นวิวทิวทัศน์-เส้นทางตามรูปภาพที่นำเสนอนี้สำหรับชีวิตหลังพวงมาลัยสายตู้สินค้า-ผลไม้จากไทยสู่แดนมังกรต้องถึงบางอ้อทันทีกับเส้นทางที่คุ้นเคย“เส้นทาง R12” ด่านท่าแขก (สปป.ลาว)-ด่านน้ำพาว-ด่านจาลอ (เวียดนาม)-ด่านหูหงิ- ด่านโหยวอี้กว่าน(จีน)อีกหนึ่งเส้นทางยอดฮิตส่งสินค้า-ผลไม้ไทยไปจีนที่มีระยะทางสั้น-สะดวกสุดที่ใช้เชื่อมต่อจีนกับอาเซียน

ทั้งนี้ เส้นทางขนส่งผลไม้ไทยไปจีนทางบก(รถบรรทุก)สามารถขนส่งได้ใน 4 เส้นทางหลัก คือ R3a(เชียงของ),R9(มุกดาหาร),R12(นครพนม)และR8(บึงกาฬ,หนองคาย)ผ่านประเทศที่3มุ่งหน้าสู่แดนมังกรผ่าน 4 ด่านฯที่ทางการจีนอนุญาต คือ ด่านโหยวอี้กว่าน ด่านโม่หัน ด่านตงซิง และด่านรถไฟผิงเสียง

สำหรับเส้นทาง R12 เป็นหนึ่งในเส้นทางขนส่งจากไทยสู่จีนที่สั้นที่สุด และถือเป็นเส้นทางเชื่อมภาคอีสานของไทยกับนานาประเทศเพื่อนบ้าน เริ่มต้นจากด่านนครพนม ผ่านสปป.ลาว เวียดนาม และเข้าสู่ด่านในประเทศจีน ถึง 2 ด่าน 2 เส้นทาง ระยะทางรวมกว่า 1,499 กม.ส่วนสินค้าที่นิยมขนส่งผ่านเส้นทางนี้ ได้แก่ โคเนื้อ โคนม และผลิตภัณฑ์จากนม เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์ สินค้าอุปโภค บริโภค สินค้าการเกษตร และปิโตเลียม

เส้นทาง R12 เชื่อมต่อผ่านจุดสำคัญของทั้ง 4 ประเทศ โดยแยกได้เป็น 2 เส้นทาง ดังนี้

เส้นทาง 1 : ด่านนครพนม (ไทย) – ด่านท่าแขก (สปป.ลาว) – ด่านน้ำพาว – ด่านจาลอ (เวียดนาม) – ด่านหูหงิ – ด่านโหยวอี้กว่าน (จีน)

เส้นทาง 2 : ด่านนครพนม (ไทย) – ด่านท่าแขก (สปป.ลาว) – ด่านน้ำพาว – ด่านจาลอ (เวียดนาม) – ด่านหม่องก๋าย – ด่านตงซิน (จีน)

ทั้ง 2 เส้นทางสามารถเชื่อมต่อกันได้ที่ ด่านโหยวอี้กว่าน และด่านตงซิน ประเทศจีน ระยะทางรวม 1,499 กม.ระยะทางจากด่านท่าแขก-ด่านน้ำพาว รวม 160 กม.,ระยะทางจากด่านจาลอ – ด่านหูหงิ รวม 622 กม.,ระยะทางจากด่านจาลอ-ด่านหม่องก๋ายรวม 717 กม.

ถนนสายนี้มีความสำคัญในหลากหลายมิติเพราะมีจุดเชื่อมเส้นทางสำคัญอื่นๆอีกหลายเส้นทาง เช่น ทางหลวง AH1 ทางหลักมุ่งหน้าไปยังกรุงฮานอยและเขตเศรษฐกิจอื่นๆของเวียดนามตอนกลาง และเส้นทางหลักมุ่งสู่ทั้งเวียดนามเหนือและใต้  จึงถือเป็นอีก“จุดยุทธศาสตร์”สำคัญกระจายสินค้าที่มีความหลากหลาย เชื่อมเศษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East West Economic Corridor : EWEC ผ่าน 4 ประเทศ “ไทย-ลาว-เวียดนาม-จีน”

สำหรับสถิติการขนส่งผลไม้ไทยไปจีนผ่าน4เส้นทางโดยเฉพาะราชาผลไม้ไทยอย่าง“ทุเรียน”ทั้งสดและแช่แข็งมีอัตราการเติบโตต่อเนื่องทุกปี เพราะคนจีนนิยมชมชอบการบริโภคทุเรียนไทยเป็นอันดับหนึ่งจากการนำเข้าทั้งหมด 78% โดยใน2020 มีมูลค่าส่งออกไปจีนถึง 53,459 ล้านบาท ทะยานโตถึง 52% ต่อปี โดยเฉพาะช่วง 4 เดือนแรกปีนี้มีมูลค่าการส่งออกไปจีนสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศแล้ว 25,086 ล้านบาท

ถือเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจที่ยังไง“ทุเรียนไทย“เราก็ยังครองความเป็นราชาผลไม้ไทย และครองใจเบอร์หนึ่งคนจีน สร้างงานสร้างรายได้เข้าประเทศเป็นกอบเป็นกำ เกษตรกรไทยก็หัวใจพองโต ส่งอานิสงส์ดีต่อผู้ประกอบการขนส่ง-พี่น้องสิงห์รถบรรทุกเป็นห่วงโซ่การเติบโตด้วยเช่นกัน

ทว่า การขนส่งทางบกไปจีนผ่านเส้นทางต่างๆก็ยังอุดมไปด้วยอันตรายและอุปสรรคระหว่างทาง เพราะต้องผ่านภูเขาที่สูงชันสลับถนนหนทางที่คดเคี้ยว อีกหนึ่งบทพิสูจน์หัวจิตหัวใจและทักษะ-ประสบการณ์คนขับและสมรรถนะแรงอึดบรรทุก-ลากของรถที่ดีเยี่ยม

ขอให้ทุกชีวิตหลังพวงมาลัยเดินทางปลอดภัยในทุกเส้นทางครับเพ่น้องสิงห์รถบรรทุก!

:ปีศาจขนส่ง

CR.ภาพอินโฟกราฟฟิคสำนักพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจบริการ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์