บรรดามวลประเทศสมาชิกอาเซียนใครต่อใครต่างมองว่าประเทศไทยได้เปรียบในเชิงภูมิศาสตร์ เหตุเป็นศูนย์กลางของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เป็นเกตเวย์สู่ภูมิภาค และเป็นประตูออกสู่การขนส่งสินค้าจากภูมิภาค โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) สู่ตลาดโลก
แต่ทว่า หลังเบิกม่านฟ้าเออีซีครบขวบปีและย่างเข้าสู่ปีที่สอง ประเทศไทยยังไม่สามารถชิงความได้เปรียบดังที่กล่าวขาน เหตุยังต้องเผชิญกับปัญหาอุปสรรคในหลายๆด้าน ทั้งในด้านการผลักดันของภาครัฐที่ยังไม่สัมฤทธิ์ผลอย่างที่ควรจะเป็น แรงหนุนเพื่อการส่งเสริมภาคเอกชนยังไม่ได้การตอบสนอง ภาคเอกชนเองก็ยังตกอยู่ในภาวะอ่อนแรงด้านความพร้อม อีกทั้งปัญหาอุปสรรคด้านกฎหมายการค้าของแต่ละประเทศ
ขณะที่ภาคการส่งออกไทยในเวทีการค้าโลกในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ยังไม่สามารถดีดตัวเองออกจาภภาวะดิ่งเหวหดตัวติดลบ แต่มูลค่าการค้าการลงทุนตามแนวตะเข็บชายแดนไทยกลับขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นเหตุให้ภาครัฐมองเห็นความสำคัญและเร่งโหมลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านถนนหนทาง เพื่อเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งทางบกในภูมิภาคเข้าด้วยกันอย่างสะดวกโยธิน
ดัมพ์แมนโชว์ ถือโอกาสนั่งสนทนากับ “เฮียเต๊ก- ชุมพล สายเชื้อ” รองนายกสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย และอีกหมวกใบหนึ่งในฐานะเลขาธิการสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย อีกหนึ่งกูรูในแวงวงขนส่งถึงมุมมองการค้าการลงทุนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน
หนุนรัฐเร่งรัดลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน
คุณชุมพล สายเชื้อ รองนายกสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย และเลขาธิการสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงการขนส่งทางบกเข้าด้วยกันของประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกัน หากทำได้จริงก็จะส่งผลดีให้ประเทศไทยกลายเป็น “ฮับ” ได้อย่างแท้จริง และเมื่อการลงทุนเห็นผลก็จะยิ่งเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น ก็ยิ่งทำให้ไทยมีเสน่ห์และเป็นเบอร์หนึ่งในอาเซียน แต่ถ้าไม่มีการลงทุนเพื่อเชื่อมโยงกับเพื่อนบ้าน เสน่ห์นั้นอาจย้ายไปอยู่กับประเทศเพื่อนบ้านของเราแทนได้
“การที่ไทยเป็นฝ่ายลงทุนสร้างถนนเชื่อมเส้นทางคมนาคมขนส่งระหว่างไทยกับเพื่อนบ้านได้นั้น ยิ่งยังประโยชน์ต่อประเทศไทย เหตุเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านกำลังเริ่มโต เมื่อเพื่อนบ้านที่เป็นทั้งตลาดและลูกค้าของงเราขยายเติบโต ก็ย่อมทำให้การขนส่งและโลจิสติกส์ไทยโตตามไปด้วย”
ชี้ ต้นทุนขนส่งรถบรรทุกไทยถูกกว่าเพื่อนบ้าน
สำหรับการแข่งขันหลังเปิดเสรีอาเซียนนั้น คุณชุมพล สะท้อนมุมมองว่าไม่มีอะไรน่ากลัวสำหรับไทย เพราะเชื่อมั่นว่าผู้ประกอบการขนส่งและโลจิสติกส์ไทยมีศักยภาพและประสิทธิภาพพอที่จะแข่งขันได้ ขอเพียงแค่ให้มีการค้านำไปก่อน เพราะเมื่อไหร่ที่มีการค้าขายระหว่างกัน รถขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ก็จะตามเข้าไปเองเป็นเงาตามตัว
“แนวทางดังกล่าวจะต้องรอให้มีการค้า (เทรดดิ้ง) นำเข้าไปก่อน เพราะใช่ว่ามีรถบรรทุกแล้วจะวิ่งเข้าไปรับงานในประเทศเพื่อนบ้านได้ทันทีทันใด ด้วยต้องยอมรับว่าเพื่อนบ้านของไทยอย่างกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนามก็ยังกลัวว่า หากเปิดให้รถบรรทุกขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์จากไทยเข้าไปได้เสรี อาจจะไปแย่งรับงานหมด เนื่องจากต้นทุนของรถบรรทุกขนส่งไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 2 บาท/ตัน/กม. ขณะที่ต้นทุนของเพื่อนบ้านเฉลี่ยอยู่ที่ 4 บาท/ตัน/กม.”
โดยเบื้องต้นผู้ประกอบการรถบรรทุกขนส่งและโลจิสติกส์ไทยได้เจรจากับเพื่อนบ้านว่า หากมีงานให้ใช้รถบรรทุกของประเทศนั้น ๆ วิ่งก่อน ถ้าไม่พอจึงจะขอใช้รถบรรทุกของไทยวิ่ง หรืออาจจะเป็นการวิ่งเข้าไปรับงานตามลูกค้าเดิมที่ขยายการลงทุนออกไปประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งขณะนี้สามารถเจรจากับ สปป.ลาวได้แล้ว โดยเหลือกัมพูชา เมียนมา และเวียดนามที่ยังเจรจากันอยู่
ไทย กังวลมังกรจีนกินรวบต้นน้ำยันปลายน้ำ
อย่างไรก็ดี คุณชุมพล ตบท้ายว่าผู้ประกอบการรถบรรทุกขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ของไทยเอง ยังมีความกังวลเกี่ยวกับการเข้ามาของผู้ประกอบการขนส่งและโลจิสติกส์จากจีนและมาเลเซีย โดยเฉพาะจีนที่ตอนนี้จะจ้างผู้ประกอบการไทยในการขนส่งสินค้าให้อยู่ แต่เวลาที่จีนเข้ามาลงทุนอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว จะเข้ามาตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ทำให้เกิดภาพของการกินรวบทางธุรกิจของจีนในประเทศและกลุ่มธุรกิจที่จีนเข้าไปลงทุน
“มาเลเซียเองก็มีความน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะเรื่องกฎระเบียบทางศุลกากรที่มาเลเซียถือแต้มเหนือกว่า ทำให้รถบรรทุกขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ของมาเลเซียสามารถวิ่งเข้ามายังประเทศไทยได้ และกำลังขอที่จะให้รถขนส่งสินค้าจากมาเลเซียสามารถวิ่งเข้ามาได้ถึงแหลมฉบัง ขณะที่รถไทยยังไม่สามารถวิ่งข้ามแดนเข้าไปยังฝั่งมาเลเซียได้เลย”
ทั้งนี้ จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่ดี ทำให้ภาพรวมธุรกิจรถบรรทุกขนส่งสินค้าชะลอตัวลง ประกอบกับการที่มีผู้ประกอบการด้านธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์รายใหญ่จากเพื่อนบ้านเข้ามาแข่งขันในตลาดด้วย ส่งผลให้ผู้ประกอบการขนส่งและโลจิสติกส์รายเล็ก ๆ ของไทยอาจทนแบกรับภาระไม่ไหว แต่ขณะเดียวกันก็เกิดการปรับตัวรองรับการขนส่งสินค้าในกลุ่มอี-คอมเมิร์ซที่กำลังโตจึงทำให้เชื่อมั่นว่าธุรกิจรถบรรทุกขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์จะไม่มีวันตาย
จากมุมมองและกึ๋นของหนึ่งกูรูด้านขนส่งเมืองไทย ทำให้เห็นชัดว่าไทยจะเป็นฮับอาเซียนได้ต้องบุกเพื่อนอย่างมีกลยุทธ์ และยังต้องพึงระวังหลังบ้านด้วยเช่นกัน มิเช่นนั้นจะโดนบริษัทขนส่งยักษ์ใหญ่ข้ามชาติบุกฮุบตลาดแบบกินรวบได้