ทอท.ต่อลมหายใจสายการบินขยายเวลาช่วยเหลือถึงมี.ค.65

0
110

ทอท.ไฟเขียวขยายเวลามาตรการช่วยเหลือสายการบินจะสิ้นสุดเดือนมี.ค.65 เหตุได้รับผลกระทบช่วงโควิด-19 โดยเลื่อน -ลดแบ่งชำระค่าเช่า – ค่าผลประโยชน์ตอบแทน และค่าบริการต่างๆ ที่ใช้บริการทั้ง 6 สนามบิน

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) กล่าวว่า ตามที่สื่อมวลชนบางแห่งได้นำเสนอกรณีสมาคมสายการบินประเทศไทย ประกอบด้วย 7 สายการบินในประเทศ ได้แก่ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ สายการบินไทยแอร์เอเชีย สายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ สายการบินไทยสมายล์ สายการบินนกแอร์ สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ สายการบินไทยเวียดเจตได้เรียกร้องให้ AOT ยกเว้นการจัดเก็บค่าบริการขึ้น-ลงอากาศยาน รวมถึงค่าจอด-ค่าปรับออกไปก่อน นั้น ปัจจุบัน AOT ได้มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการสายการบินที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 โดยการลด/ยกเว้น ค่าบริการขึ้นลงของอากาศยาน (Landing Charges) และค่าบริการที่เก็บอากาศยาน (Parking Charges) ค่าเช่าสำนักงาน และค่าบริการต่าง ๆ ซึ่ง AOT ได้มีการขยายระยะเวลาของมาตรการช่วยเหลือฯ จากเดิมที่สิ้นสุดเดือนธันวาคม 2564 ขยายไปจนถึงสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2565

ทั้งนี้การขยายดังกล่าวก็เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่ยังมีสัญญาณว่าจะยังไม่สิ้นสุดลงภายในเดือนธันวาคม 2564 ไปจนสิ้นสุดตารางการบินฤดูหนาวของปี 2564 ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 โดยการขยายมาตรการช่วยเหลือฯ ในส่วนของค่าบริการสนามบินดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการบินพลเรือนแล้ว นอกจากนั้น AOT ยังได้อนุญาตให้สายการบินเลื่อนชำระหนี้สินคงค้างของสายการบินตั้งแต่เริ่มสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในปี 2563 มาโดยตลอด

อีกทั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์วิกฤติของการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน คณะกรรมการพิจารณารายได้ของ AOT จึงมีมติเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 ผ่อนผันการวางหลักประกันเงินสดสำหรับสายการบินที่มีหนี้สินค้างชำระกับ AOT ที่ประสงค์จะทำการบิน ณ สนามบินที่อยู่ในความรับผิดชอบของ AOT ทั้ง 6 แห่ง และอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางการช่วยเหลือสายการบินเพิ่มเติม ซึ่งจะเป็นการเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้แก่สายการบินในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่รุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม AOT สงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลง แก้ไข หรือยกเลิกเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการและสายการบินตามมาตรการดังกล่าว ซึ่งหากสถานการณ์ของโรค COVID-19 ยังมีความยืดเยื้อ AOT อาจมีการพิจารณาให้ความช่วยเหลือฯ ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในลำดับต่อไป ทั้งนี้ เพื่อช่วยประคับประคอง และพยุงธุรกิจของคู่ค้าสำคัญของ AOT ให้สามารถก้าวผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน และร่วมกันฟื้นฟูอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยวของประเทศต่อไป