7 สายการบินไม่ไหวร้องรัฐบาลช่วยเหลืออีกเฮือก! ขอเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ-ปลอดหลักทรัพย์ค้ำประกัน ยกเว้นค่าธรรมเนียม ภาษีน้ำน้ำมันด่วน! พร้อมยอมกลืนเลือดปรับวงเงินกู้จาก 1.51 หมื่นล้านเหลือแค่ 5 พันล้านบาท แค่ประคองจ่ายพนักงานเกือบสองหมื่นคนแค่ถึงสิ้นปีนี้เท่านั้น หลังยื่นพิจารณามาแล้วกว่า 478 วัน หยุดบินกว่า 17 เดือน หากไม่ได้รับการช่วยเหลือเชื่อว่าในสิ้นปีนี้คงไม่เหลือสายการบินให้บริการในไทยแล้ว
นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ในฐานะนายกสมาคมสายการบินประเทศไทย เปิดเผยถึงความคืบหน้าการขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลในการขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ว่า ขณะนี้ สมาชิก 7สายการบินในประเทศไม่สามารถทนแบกรับต้นทุนที่เกิดขึ้นได้แล้ว จึงออกมารวมตัวกัน เพื่อติดตามความช่วยเหลือจากรัฐบาลจากที่ได้เคยเสนอขอเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจำนวน 2.4 หมื่นล้านบาทไปตั้งแต่เดือน มีนา 63 และติดตามต่อเนื่องจนมาได้เข้าพบนายกรัฐมนตรีเมื่อ 28 ส.ค 63 และอีกครั้งในปี64 แต่ก็ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ ล่าสุดสมาคมฯ จึงได้ปรับลดวงเงินการขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเหลือเพียง 5,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการรักษาการจ้างงานพนักงานสายการบินทั้ง 7 สาย รวมเกือบ 20,000 คน จนถึงสิ้นปี 64
นอกจากนี้ ยังมีต้นทุนด้านการปฏิบัติการบินและการบำรุงรักษาเครื่องบิน ซึ่งทางสมาคมฯ ประเมินว่าจะแบกรับภาระไม่ไหว หากไม่ได้รับมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐเร่งด่วน อาจส่งผลต่อการกลับมาให้บริการในอนาคตของสายการบิน ดังนั้นเพื่อช่วยประคองธุรกิจรวมทั้งช่วยลดผลกระทบความเสียหายต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและท่องเที่ยวภาพรวม เนื่องจากสายการบินคือธุรกิจด่านหน้า ที่เชื่อมต่อให้เกิดการกระจายและสร้างรายได้ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศ จึงหวังว่ารัฐบาลจะช่วยเร่งดำเนินการอนุมัติซอฟต์โลนโดยเร็วที่สุด เพราะนี่คือลมหายใจเฮือกสุดท้ายของสายการบินแล้ว
นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า ธุรกิจการบินได้รับผลกระทบเร็วรุนแรงและยืดเยื้อจนถึงวันนี้หยุดให้บริการรวมกว่า 17 เดือน ที่ผ่านมาทำการบินได้แค่ 4-5เดือนในเส้นทางบินในประเทศเท่านั้น เส้นทางบินต่างประเทศทำการบินไม่ได้เลย ต้องทนแบกต้นทุนมากว่าปีครึ่ง และวันนี้(21ก.ค)เป็นวันแรกที่ทางสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย( กพท.) ประกาศงดการบินในพื้นที่สีแดง ซึ่งหมายถึง กทม. และ สมุทรปราการ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าสิ้นสุดเมื่อไหร่. หากสถานการณ์ไม่ดีก็หยุดบินอีก ปัจจุบัน 7 สายการบิน มีเครื่องบินที่ต้องจอดนิ่งรวมกว่า 170 ลำ และมีค่าใช้จ่ายในส่วนของเงินเดือนพนักงานทั้งสิ้นรวมกว่า 900-1,000 ล้านบาทต่อเดือน และทั้ง7สายการบินมีพนักงานรวมกว่า 20,000 คน
ด้านนายวรเนติ หล้าพระบาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยเวีตเจ็ท กล่าวว่า การขอความช่วยเหลือจากรัฐ ทั้ง 7สายการบิน มาตั้งแต่ปลายมีนาปี63 วงเงินจากทั้งหมด 24,000 ล้านบาท จนต้นปี 64 ได้ปรับเหลือ 15,000 ล้านบาท และได้ปรับรอบ 3 เหลือที่ 5,000 ล้านบาท ซึ่งจะครบคลุมรักษาสภาพการจ้างพนักงาน 26,000 คน ต้องบอกว่าสายการบินเป็นธุรกิจต้นน้ำ และพนักงานสายการบินต้องใช้เวลาฝึกที่จะทำงานได้ ดังนั้นจึงอยากขอความช่วยเหลือเพราะวงเงินนี้เป็นวงเงินที่ต่อลมหายใจให้กับสายการบิน และหากสถานการณ์เลวร้ายลงไปจนต้องหยุดบินไปอีก3เดือน มั่นใจว่าคงไม่มีเหลือสายการบินในประเทศไทยแน่นอน
สำหรับวงเงินที่ขอช่วยเหลือ 5000 ล้านบาทเพื่อรักษาการจ้างงาน จะไม่เกี่ยวค่าเช่าเครื่องบิน ค่าน้ำมันเลย สายการบินไม่มีหลักทรัพย์ที่จะไปค้ำประกันเงินกู้ เดิมสายการบินมีสิทธิการบิน เที่ยวบิน(สลอต) ถ้ารัฐบาลมองว่าการเอาสลอต สิทธิการบินมาเป็นประกันค้ำเงินกู้ได้ก็จะทำให้การปล่อยกู้ได้ง่ายขั้น ซึ่งก็จะเหมือนกับโครงการก่อสร้างกับภาครัฐเมื่อได้งานก็สามารถเอาสัญญาไปค้ำประกันกับสถาบันการเงินได้
นายนัตดา บุรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยแอร์เอเซีย เอ็กซ์ กล่าวว่า จากปัจจุบันยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมาก และก่อนหน้าสายการบินก็ปรับเที่ยวบินลดลง จนปัจจุบันรัฐบาลก็ประกาศห้ามทำการบิน อย่างไรก็ตามมั่นใจว่าหากมีการกระจายวัคซีนได้มากขึ้นและหลายๆประเทศเริ่มเปิดประเทศ ธุรกิจการบินน่าจะเริ่มกลับมาบินได้ ในไตรมาส 4 ปีนี้ หรือไตรมาส1 ปี65 แต่ถ้าให้ชัดๆมั่นใจว่ากลางปี65 ธุรกิจการบินในเส้นทางบินระหว่างประเทศจะเริ่มกลับมาทำการบินเบื้องต้นที่ 40-50%ก่อน
นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินนกแอร์ กล่าวว่า ต้นทุนสายการบินหนีไม่พ้นค่าน้ำมัน ค่าเช่าเครื่องบิน ซ่อมบำรุง แต่ยังมีต้นทุนอื่นที่สายการบินต้องแบกรับ ดังนั้นจึงอยากขอให้รัฐช่วยเหลือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ปลอดหลักประกัน,พร้อมทั้งขอยกเว้นภาษีอากาศยาน ค่าธรรมเนียมการจัดจราจรทางอากาศ และ ภาษีสรรพาสามิต เนื่องจากขณะนี้สายการบินไม่ได้บิน ขณะที่ยังมีต้นทุนค่าใช้จ่าย ซึ่งไม่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่จะส่งเสริม เพราะหากอุตสาหกรรมการบินปิดตัวลงจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอื่นๆตามมา เนื่องจากอุตสาหกรรมการบินมีความสัมพันธ์กับความมั่นคงของประเทศ