‘AMR’แท็ก‘ไทยทีม’เดินหน้าพัฒนาระบบราง พุ่งเป้าโตยั่งยืน

0
103

แนวทางการสร้างความเชื่อมั่นทางธุรกิจหลังผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 ดูเหมือนหลายองค์กรล้วนไม่ได้มองข้าม เช่นเดียวกับบริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด (มหาชน) (“AMR”) ที่คร่ำหวอดในแวดวงระบบรางมานาน ล่าสุด เดินหมากนำองค์กรเข้าสู่การระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯลุยขับเคลื่อนธุรกิจได้อย่างยั่งยืนและมั่นคงในระยะยาว

นายมารุต ศิริโก กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด (มหาชน) (“AMR”)เปิดเผยถึงแนวทางการขับเคลื่อนภายหลังเข้าสู่การเป็นบริษัทมหาชนในหลายประเด็นที่น่าสนใจว่าปัจจุบันอยู่ระหว่างยื่นขออนุญาตเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หมวด ICT เพราะเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่บริษัทซึ่งได้คร่ำหวอดในวงการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าและงาน SI ขนาดใหญ่ของไทยมานานทั้งรถไฟฟ้าสายสีเขียว (บีทีเอส) สายสีทอง และรถไฟรางคู่ระหว่างจังหวัด อีกทั้งยังอยู่ระหว่างติดตั้งงานระบบให้กับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างในขณะนี้นั้น

ทิศทางการขับเคลื่อนเอเอ็มอาร์เมื่อเป็น“มหาชน”

ประเด็นหลักคือต้องการให้เกิดรายได้ประจำเพิ่มขึ้น ส่วนเป้าหมายนั้นงานโปรเจ็กต์ยังคงดำเนินต่อไปตามปกติที่เกี่ยวข้องกับระบบราง การพัฒนาเมือง พลังงาน และระบบจัดการน้ำ และจะขยายงานซ่อมบำรุงเพื่อให้เกิดค่าบริการและเพิ่มรายได้ประจำ เพื่อจะส่งผลให้รายได้ของบริษัทมีเสถียรภาพมากขึ้น

รถไฟฟ้าสายสีทอง โมเดลแรกในการทำระบบรถไฟฟ้าสายรองในย่านกลางเมืองที่สามารถยกโมเดลนี้ไปพัฒนาในเมืองอื่นๆ ได้อีกด้วย ล่าสุดได้เปิดให้บริการแล้ว โดยในส่วนการต่อยอดนั้นรอความชัดเจนของแผนเชื่อมต่อกับสายสีม่วง(ช่วงเตาปูน-พระประแดง) ที่จุดวงเวียนเล็กใน 3-4 ปีนี้ก็จะเชื่อมโครงข่ายสมบูรณ์มากขึ้น

ส่วนรถไฟฟ้าบีทีเอส ส่วนต่อขยาย ได้ส่งมอบงานและให้บริการเดินรถถึงสถานีคูคตไปแล้วเช่นกัน และยังหวังจะต่อยอดจากบางหว้าไปสิ้นสุดที่ตลิ่งชันตามแผนของรัฐบาลในอนาคต ปัจจุบันครอบคลุมพื้นที่ได้กว้างมากแล้วทั้งปทุมธานี สมุทรปราการ ดังนั้นมองว่าหากเชื่อมบีทีเอสกับสายสีแดงที่ตลิ่งชันก็จะครบรอบเส้นทางสามารถครอบคลุมได้หลายพื้นที่มากขึ้นเพราะสายสีแดงรัฐมีแผนเชื่อมไปถึงศาลายาเอาไว้แล้วในโซนตะวันตก ช่วยให้ประชาชนมีทางเลือกใช้รถไฟฟ้าได้มากขึ้น

เชื่อว่าในอนาคตอัตราส่วนการใช้รถยนต์ส่วนตัวจะลดน้อยลงไป และประชาชนจะหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนเชื่อมกับระบบฟีดเดอร์กันมากขึ้นเพราะสะดวกสบายและรวดเร็วกว่า ไม่ต้องเจอปัญหารถติดให้หงุดหงิดใจอีกต่อไป

มองโอกาสระดมทุนไว้อย่างไร?

เป็นการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีความหลากหลายและใช้ประโยชน์จากเครื่องมือทางการเงินมากขึ้น หากจะขยายฐานจากงานผู้รับเหมามาเป็นผู้ให้บริการ ก็จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนระยะยาว มองว่าจะสามารถบริหารโครงสร้างส่วนของทุนและส่วนของเงินกู้ได้ดีขึ้น ดังนั้นหากได้ต้นทุนต่ำลงในเรื่องการลงทุนก็จะสามารถขับเคลื่อนงานได้ง่ายขึ้น และได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดี คาดหวังว่าปี 2565 จะเป็นอีกปีหนึ่งของการขับเคลื่อนการลงทุนของเอเอ็มอาร์ เอเซีย

กำหนดเป้า“เน้นบริการมากขึ้น”กับแผนขับเคลื่อน 3-5 ปี

เน้นงานบริการมากขึ้น ส่วนงานโครงการก็ยังคงเป็นงานที่ตอบโจทย์เมืองอัจฉริยะ ทั้งด้านระบบราง พลังงาน สิ่งแวดล้อมต่อไป เชื่อว่าครึ่งปีหลังคงจะมีข่าวดีออกมาอย่างต่อเนื่อง ยิ่งหากได้โอกาสพัฒนาระบบรองสายใหม่จากภาครัฐเพราะบริษัทมีประสบการณ์มาแล้วก็จะเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจของประเทศได้อีกทางหนึ่งด้วย จึงเป็นโอกาสที่จะเสนองานให้รัฐบาลพิจารณา

“ไทยทีมเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือของหลายฝ่าย อีกหนึ่งบริบทในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจด้วยภาคอุตสาหกรรม ล่าสุดหลังเอ็มโอยูกันแล้วได้มีการหารือร่วมกับกรมการขนส่งทางราง กรณีเรื่องระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มีเรื่องบางส่วนอยู่ในกระบวนการของคณะกรรมาธิการ ดังนั้นต่อไปก็จะเร่งขับเคลื่อนภายใต้นโยบายไทยเฟิร์สให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น”

ทั้งนี้ยังมั่นใจในกรมการขนส่งรางที่มีทีมเข้มแข็ง แม้หลายคนจะมองว่าเป็นกรมเล็กๆ และก่อตั้งมาไม่นาน แต่หากดูปริมาณงานจะยิ่งใหญ่มาก จึงขึ้นอยู่กับว่าบุคลากรของกรมจะคิดเล็กหรือคิดใหญ่เท่านั้น แต่ก็ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก มองว่าหากรัฐบาลส่งเสริมระบบรางอย่างต่อเนื่อง ก็สามารถทำให้กรมนี้สร้างการเติบโตให้กับประเทศเทียบเท่ากรมใหญ่ๆ ได้เช่นกัน

สำหรับความสนใจแผนการพัฒนารถไฟฟ้าในเมืองที่บริษัทมีความสามารถนอกจากระบบรางแล้วยังสนใจพัฒนารถไฟฟ้าขนาดใหญ่อื่นๆ ตลอดจนระบบงานบริหารสนามบิน ซึ่งเป็นงานสนใจเช่นกันเพราะงานเหล่านี้มีมาตรฐานไม่ต่างแตกต่างกัน

“ไทยทีม”พลังขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมสู่การเติบโตอย่างมีทิศทาง

“ไทยทีม”พร้อมขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมให้สามารถเติบโตไปพร้อมๆ กับสมาชิกเครือข่ายของกลุ่มสมาคมส่งเสริมการรับชาวงการผลิตไทย หรือไทยซับคอน ซึ่งมีสมาชิกกว่า 400 ราย จึงมีพลังขับเคลื่อนสูงมาก โดยเร่งยกระดับศักยภาพการผลิตรองรับความต้องการไปแล้ว

ส่วนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนไทยทีมนั้นเราต้องนำเสนอให้เห็นถึงโซลูชั่นของรถไฟฟ้าว่าด้านหลังฉากคืออะไร มีความเป็นไปเป็นมาอย่างไร เพราะถ้าระบบและตัวรถไฟฟ้ามาก่อนแล้วชิ้นส่วน หรือเหล็ก น็อต สกรู เหล็กจะตามมา นวัฒกรรมด้านรางที่ทำในประเทศก็จะตามมา แต่ถ้ามีชิ้นส่วน เหล็ก มีน็อต สกรู หรือแม้แต่นวัตกรรมที่เกี่ยวกับระบบราง ที่เยี่ยมยอดแค่ไหนก็ตาม แต่ยังคงจัดซื้อระบบและตัวรถไฟฟ้าจากต่างประเทศทั้งหมด ก็ยากที่ผู้ผลิตในต่างประเทศจะซื้อชิ้นส่วน น็อต หรือนวัตกรรมในประเทศไปใช้ทำรถในต่างประเทศ เพื่อส่งมาขายในประเทศไทย

ดังนั้น ทิศทางการขับเคลื่อนหลังจากนี้คงต้องกำหนดยุทธศาสตร์ให้ชัดเจน นั่นคือ เร่งทำให้เกิดโครงการรถไฟฟ้า 1 เส้นทาง แต่ต้องเป็นโครงการที่อุตสาหกรรมไทยมีส่วนร่วม ก็จะเป็นต้นน้ำของการผลิตชิ้นส่วนขนาดใหญ่ไปถึงระดับชิ้นส่วนย่อย จะทำให้เห็นภาพชัดเจนว่าจะมีส่วนประกอบการผลิตตามมาอีกมากมาย

ปั้นไพลอตโปรเจ็กต์ “รังสิต-ลำลูกกา”อย่างไรให้ปัง!

จากที่ปีนี้จังหวัดปทุมธานีจะมีรถไฟฟ้าวิ่งไปถึงทั้งสายสีเขียวและสายสีแดง มองว่าทำอย่างไรให้คนเดินทางมาทำงานโดยสะดวก เพราะผู้คนส่วนใหญ่ยังเดินทางเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ จึงมีโจทย์ว่าทำอย่างไรให้คนออกจากบ้านไปถึงรถไฟฟ้าได้ง่ายขึ้น

สำหรับแผนการขับเคลื่อนรถไฟสายรองหรือฟีดเดอร์เชื่อมจากสายสีแดงสถานีรังสิต-สถานีคูคตสายสีเขียวนั้นจะต้องดูพฤติกรรมการเดินทางของคนในพื้นที่ก่อนว่าส่วนมากเดินทางไปทางไหน อย่างไรบ้าง เพื่อให้สามารถพัฒนาอย่างตอบโจทย์จริงๆ