ผ่าทางตันรถไฟฟ้า สายสีเขียว…เลิกซื้อเวลา ซุกปัญหาใต้พรม!

0
178

ทำเอาทุกฝ่ายได้แต่ “อึ้งกิมกี่”

กับเรื่องที่ “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีออกมา “กระตุกเบรก” การฉีดวัคซีนต้านโควิดแบบ Walk -in หัวทิ่ม ด้วยเกรงผู้ที่เดินทางไปแล้วไม่ได้คิวฉีดจะออกมาโวยวาย จนกลายเป็นความโกลาหล และอาจก่อให้เกิดคลัสเตอร์ใหม่เอาได้

พร้อมสั่งให้ทุกฝ่ายหุบปาก รอฟังความชัดเจนจาก “ศูนย์บริหารสถานการณ์ไวรัสโควิด” หรือ ศบค. แทน ทำเอาแผนกระจายการฉีดวัคซีนต้านโควิด “วอล์ก-อิน” ที่เจ้ากระทรวงสาธารณสุข (สธ.)ตีปี๊บมากว่าสัปดาห์ค้างเติ่ง จนลูกพรรค ภท.ออกมาสัพยอกนายกฯ กลัวผู้คนจะติดโควิดทั้งประเทศก่อนได้ฉีด ขณะผู้ที่รอคิวฉีดแบบไม่ต้องลงทะเบียน “หมอพร้อม” (แต่ระบบและวัคซีนไม่พร้อม) ได้แต่นั่งหาวเรอรอเก้อไปตามๆ กัน

พร้อมกับตั้งคำถามเกิดอะไรขึ้นกับการบริหารจัดการวัคซีนและการสื่อสารของรัฐ เหตุใดถึงเต็มไปด้วยความสับสนอลหม่านยิ่งกว่าบ้านทรายทองได้เช่นนี้  แล้วอย่างนี้จะไปเพรียกหาความมั่นใจจากประชาชนคนไทยได้อย่างไร ในเมื่อแม้แต่ระดับนโยบายรัฐยังพายเรือคนละทางกันแบบนี้

เช่นเดียวกับเรื่องการเจรจาต่อสัมปทานรถไฟฟ้า สายสีเขียวให้กับ บมจ.บีทีเอส (BTS) ที่คาราคาซังมากว่าขวบปี นับตั้งแต่รัฐบาล คสช. ของพลเอกประยุทธ์ใช้อำนาจตาม ม. 44 สั่งให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) ตั้งคณะกรรมการเจรจาสางปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวนี้หลังจาก กทม.ไม่สามารถแบกรับภาระหนี้ค่าก่อสร้างและค่าจ้างบริหารจัดการเดินรถที่มีอยู่กับบริษัทเอกชนผู้รับสัมปทานได้

นัยว่า เฉพาะหนี้ค้างที่กองอยู่เบื้องหน้าที่ BTS ยื่นโนตี๊สให้ กทม.ต้องจ่ายในเวลานี้ก็ปาเข้าไปกว่า 30,000 ล้านแล้ว ยังไม่รวมหนี้ก่อสร้างที่จะทยอยครบดิว และค่าจ้างเดินรถรายปีอีกปีละ 6-7,000 ล้านบาท ซึ่งรวมมูลหนี้ที่ กทม. จะต้องแบกรับในระยะ 8-9 ปีข้างหน้า ก่อนสัมปทานเดิมสิ้นสุดลงในปี 2572 เกือบแสนล้านบาทเลยทีเดียว!

แต่เมื่อ กทม. และกระทรวงมหาดไทย นำผลเจรจาที่ได้ข้อยุติข้างต้นเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อปลายปี 2563 โดยเสนอให้ต่อขยายสัญญาสัมปทาน BTS ออกไปอีก 30 ปี (ถึงปี 2602) เพื่อแลกกับการให้บริษัทเอกชน BTS แบกรับภาระหนี้ทั้งมวลของ กทม.ไป รวมทั้งต้องปรับลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า สายสีเขียวลงมาจากที่ต้องจัดเก็บเต็มอัตราศึก 104 บาทตลอดสาย เหลือ 65 บาทตลอดสาย (68.5 กิโลเมตร) ทั้งยังต้องจ่ายสัมปทานให้กับ กทม.อีก 200,000 ล้านบาทด้วย ก็กลับถูกกระทรวงคมนาคม และเครือข่ายในภาคประชาชนออกโรงคัดค้าน ตีโพยตีพายไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐจะต่อขยายสัมปทานให้กับ BTS ด้วยข้ออ้างค่ารถไฟฟ้าที่กำหนดไว้สูงเกินไป พร้อมเสนอให้รัฐดำเนินการเอง หรือไม่ก็เปิดประมูลสัมปทานกันใหม่ 

โดยไม่มีการพูดถึงหนี้ค้างที่กองอยู่เบื้องหน้าก่อนสัมปทานสิ้นสุดในปี 72 ร่วมแสนล้านบาทนั้น จะให้ กทม.และรัฐบาลทำอย่างไร?

ทำเอาเส้นทางการพิจารณาต่อขยายสัมปทานรถไฟฟ้า สายสีเขียวค้างเติ่งคาราคาซังมาจนกระทั่งวันนี้

และแม้จะมีการตีแผ่ข้อมูลที่ชี้ให้เห็นว่า ข้อมูลอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่กระทรวงคมนาคมนำมาอ้างอิง เพื่อ “กระตุกเบรก” การพิจารณาต่อขยายสัมปทานรถไฟฟ้า สายสีเขียวข้างต้น เป็นข้อมูล “ยกเมฆ” ที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง เพราะแม้แต่รถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงิน และสายสีม่วงของ รฟม.ใต้ชายคาที่ไปว่าจ้างบริษัทรับเหมายักษ์ บมจ.บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้า (BEM) เดินรถให้ก็ยังกำหนดอัตราค่าโดยสารเอาไว้สูงลิบลิ่วสูงกว่ารถไฟฟ้า สายสีเขียวเสียอีก ทั้งที่รัฐบาลได้จ่ายค่าก่อสร้างงานโยธาและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ให้หมดแล้ว 

แต่กระนั้น ดูเหมือนข้อมูลทั้งหลายทั้งปวงที่สื่อและนักวิชาการร่วมกันตีแผ่ออกมาชัดซะยิ่งกว่า “แป้ง” ข้างต้น กลับไม่ทำให้รัฐบาล และโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีจะได้ตัดสินใจอะไรลงไป ได้แต่ “ซื้อเวลา-ซุกปัญหาใต้พรม” เอาไว้อย่างนั้น จนทำเอา กทม. กลืนไม่เข้า คายไม่ออก เพราะยิ่งทอดยาวออกไป กทม. ก็ยิ่งแบกรับภาระหนี้และดอกเบี้ยค้างบานตะไทหนักเข้าไปอีก

ก่อนหน้านี้ ผู้บริหาร บมจ.บีทีเอส “นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา” ที่นอกจากจะยื่นโนตี๊สไปถึง กทม.แล้ว ยังอัดคลิปทวงหนี้รัฐ(กทม.) ผ่านสื่อโซเชียลให้ทั่วโลกได้เห็นด้วยแล้ว ยิ่งกดดัน กทม.หนักยิ่งขึ้นไปอีก เพราะไม่เคยมีรัฐบาลใดในประวัติศาสตร์ถูกบริษัทเอกชนผู้รับสัมปทานลุกขึ้นมาทวงหนี้กัน “โจ๋งครึ่ม” ขนาดนี้ อันเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นถึง Creditability ของรัฐบาลในเวลานี้ได้เป็นอย่างดี

ล่าสุดนั้น BTS ขึ้นข้อความทวงหนี้กว่า 30,000 ล้านบาท บนจอขบวนรถไฟฟ้าให้ได้ฮือฮากันอีกครั้ง โดยระบุว่า แม้ก่อนหน้านี้ บีทีเอสจะมีการเผยแพร่วิดีโอทวงหนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ก็ยังไม่มีท่าทีตอบกลับใดๆ จากฝั่งรัฐบาล ครั้งนี้จึงต้องอัดคลิปทวงหนี้ กทม.อีกครั้ง โดยข้อความส่วนหนึ่งระบุว่า :

“บริษัทได้พยายามทำทุกวิถีทาง เพื่อให้สามารถบริการเดินรถให้กับประชาชนได้ แม้จะไม่ได้ชำระค่าจ้าง ทั้งยังจะมีค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต….. “พวกเราขอ…กราบวิงวอน ฯพณฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้โปรด…แก้ไขปัญหานี้ด้วย”

คงได้แต่ฝากแง่คิดให้ “นายกฯ ลุงตู่” ที่เวลานี้คงกำลังสาละวนอยู่กับ “วิกฤตไวรัสโควิด” และการบริหารจัดการในเรื่องวัคซีนจนแทบไม่เป็นอันได้คิดอะไรอีก ก็ไหนลูกพรรค พปชร. เคยโอ่นักโอหนาว่ารัฐบาลของ ฯพณฯ ท่านนายกฯ ลุงตู่ ของเรานั้น  ทำงานหนักยิ่งกว่ารัฐบาลชุดไหน ๆ ในประวัติศาสตร์ตัวนายกฯมีการตัดสินใจเฉียบคม เด็ดขาด ยึดมั่นผลประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง จนถึงขนาดที่มีการเปรียบเปรยและยกย่อง “นายกฯ ลุงตู่” เทียบชั้น “วินสตัน เชอร์ชิลด์” อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ในยุคสงครามโลกครั้งที่สองกันเลยทีเดียว

แล้วเหตุใดกลับจะมา “บ้อท่า” แค่จะขี้ขาดว่าจะเอาอย่างไรกับสัมปทานรถไฟฟ้า สายสีเขียว ที่กรุงเทพมหานคร(กทม.)และกระทรวงมหาไทย ตั้งแท่นให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชี้ขาดว่า จะต่อสัญญาสัมปทานให้กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC หรือ “ล้มกระดาน” เปิดประมูลหาเอกชนรายใหม่เข้ามารับสัมปทานกันดี!!!

เพราะอย่างที่กล่าวไว้ตั้งแต่ต้น ยิ่งซื้อเวลาก็ยิ่งจะทำให้ผู้คนอิดหนาระอาใจ จนพลอยจะคิดว่ารัฐบาลชุดนี้บ่มี “น้ำอิ๊ว” เอาได้  ก็ในเมื่อนายกฯกล้าตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวริบอำนาจตามกฎหมายทั้งหลายทั้งปวงมาอยู่ในมือตนเอง เพื่อให้การบริหารจัดการฉับไว มีประสิทธิภาพ และความเป็นเอกภาพ ก็สมควรจะได้แสดงให้เห็นความเด็ดเดี่ยว ในการตัดสินใจแก้ไขปัญหารถไฟฟ้า สายสีเขียวที่ว่านี้ด้วย

หาไม่แล้ว การซื้อเวลา-ซุกปัญหาใต้พรมที่ว่านี้ สุดท้ายจะกลายเป็น “หนามยอกอก” ที่แม้แต่พรรคร่วมรัฐบาลเองนั่นแหล่ะ จะโยนขี้ว่า เป็นความรับผิดชอบของนายกฯ คนเดียว ที่ทำให้ประชาชนคนกรุงฝันค้างหรือต้องจ่ายค่าโดยสารแพงระยับ เหมือนดั่งที่กำลังมีความพยายามจะโยนภาระ รับผิดชอบเรื่องการบริหารวัคซีนนี้ให้นายกฯ คนเดียวรับไปเต็มๆ 

ไม่รักใคร่ชอบพอกัน คงไม่กล้าเตือนกันตรงๆ ขนาดนี้หรอก “ลุงตู่” จริงไม่จริง  !!!