หลังเป็นข่าวช็อควงการรถใหญ่แดนปลาดิบส่งท้ายปี 62เมื่อค่ายยักษ์ใหญ่ “อีซูซุ”รุกซื้อกิจการ “ค่ายยูดีทรัคส์”บริษัทในเครือเอบี วอลโว่ สวีเดนในประเทศญี่ปุนมูลค่า 2.50 แสนล้านเยนหรือ 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือตีเป็นเงินไทยก็ปาเข้าไปถึง 6.9 หมื่นล้านบาท พุ่งชนเป้าหมายพันธมิตรทางธุรกิจในขอบข่ายกว้างขึ้นของทั้ง 2 บริษัท
สำนักข่าวต่างประเทศหลายสำนักรายงานและวิเคราะห์ตรงกันว่าทั้ง 2 บริษัทเตรียมที่จะลงนามในความร่วมมือนี้แบบสะเด็ดน้ำกลางปี 2563 ทว่า คาดการณ์จากผลกระทบวิกฤติโควิด-19 ลุกลามไปทั่วโลกตลอดทั้งปี 63 ส่งผลไทม์ไลน์การลงนามในความร่วมมือดังกล่าวล่าช้าออกไป
ถึงกระนั้น ยังเป็นที่จับตาความเคลื่อนไหวเป็นพิเศษว่าผลพวงจากการดีลช็อควงการรถใหญ่ครั้งนี้ จะส่งผลดีในมิติไหนบ้างต่อทั้ง 2 บริษัท?อีกทั้งจะมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและการบริหารงานอะไรหรือไม่?และมีแรงกระเพื่อมหรือไม่?อย่างไรบ้าง?ต่อแผนธุรกิจยูดี ทรัคส์ แบรนด์ในเครือวอลโว่ กรุ๊ปในทุกประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยด้วย
ความเคลื่อนไหวล่าสุด ยูดี ทรัคส์ ได้เข้าสู่อ้อมอกการบริหารงาน-ดำเนินการภายใต้ชายคาหลังใหม่“อีซูซุ มอเตอร์”ญี่ปุ่นพร้อมมีการแต่งตั้งผู้บริหารใหม่ อีซูซุมอเตอร์ สำนักงานใหญ่ ประเทศญี่ปุ่นได้เข้าซื้อกิจการ ยูดี ทรัคส์ ไปจาก วอลโว่ กรุ๊ป ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการเข้าเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ระหว่างวอลโว่กรุ๊ป และอีซูซุมอเตอร์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
โดย มร.นาโอโตะ ฮาคามาตะ (Mr. NaotoHakamata)ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานของ ยูดี ทรัคส์ คอร์ปอเรชั่นประเทศญี่ปุ่น และ มร.เทตซึยะ ไอบะ (Mr. TetsuyaAiba) ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงินของยูดี ทรัคส์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 ขณะที่ มร.โจอาคิม โรเซ็นเบิร์ก (Mr. JoachimRosenberg) รองประธานบริหารของ วอลโว่ กรุ๊ปได้ลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการของยูดี ทรัคส์ ยูดี ทรัคส์ คอร์ปอเรชั่นประเทศญี่ปุ่น แล้วเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564
ภายใต้กรอบของพันธมิตรเชิงกลยุทธ์นี้ส่งผลให้ ยูดี ทรัคส์ เป็นตัวเชื่อมต่อสร้างเสริมความสัมพันธ์ระยะยาวที่แข็งแกร่งระหว่าง วอลโว่ กรุ๊ปและอีซูซุ มอเตอร์ ซึ่งเป็นการสร้างความร่วมมือในระยะยาว โดยเมื่อเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของอีซูซุมอเตอร์แล้วยูดี ทรัคส์จะมีโอกาสในการใช้ประโยชน์จากจุดแข็งซึ่งกันและกันและการประหยัดจากขนาดการผลิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของรถบรรทุกขนาดใหญ่ในประเทศญี่ปุ่นและในตลาดต่างประเทศ
-ศึกษาความร่วมมือกันในด้านการจัดซื้อและโลจิสติกส์การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีร่วมกันรวมไปถึงการเติมเต็มพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ซึ่งกันและกัน สร้างเสริมฐานที่แข็งแกร่งเพื่อการลงทุนพัฒนาด้านเทคนิคและนวัตกรรมสำหรับผลิตภัณฑ์และบริการระดับโลกอย่างต่อเนื่อง
-ยูดี ทรัคส์ได้สั่งสมประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในกลุ่มรถบรรทุกขนาดใหญ่มานานกว่า14ปีร่วมกับ วอลโว่ กรุ๊ป ในด้านเทคโนโลยี การจัดหาโลจิสติกส์ การผลิตและการขาย บริษัทยังร่วมกับวอลโว่กรุ๊ปในการส่งเสริมความหลากหลายของพนักงาน สนับสนุนวิธีการทำงานที่ยืดหยุ่นและส่งเสริมให้พนักงานมีวิธีคิดระดับโลกเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด
-ยูดี ทรัคส์จะยังคงปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาของแบรนด์ที่ว่า“ก้าวไปให้ไกลกว่าเดิม”และมุ่งมั่นร่วมกับอีซูซุมอเตอร์ที่จะสร้างชีวิตที่ดีขึ้นให้กับผู้คนและโลกใบนี้ต่อไป
สำหรับการดำเนินงานในประเทศไทยนั้น มร. อีริค ลาบัท ประธานกรรมการบริษัท ยูดี ทรัคส์ คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารของบริษัทแม่ที่ประเทศญี่ปุ่นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการบริหารงานและการขายรวมถึงการให้บริการแก่ลูกค้าในประเทศไทยแต่อย่างไรลูกค้าจะยังคงได้รับบริการที่ดีตามมาตรฐานเช่นเดิมจากดีลเลอร์ทั้งหมด 16 แห่งทั่วประเทศ
“เราขอให้คำมั่นสัญญากับลูกค้าของเราทั้งในแบรนด์ของยูดีทรัคส์ และวอลโว่ ทรัคส์ ว่าการดำเนินงาน ติดต่อประสานงานระหว่างเรากับลูกค้ารวมไปถึงการให้บริการ ทุกอย่างยังคงดำเนินการเป็นอย่างดีเช่นเดิมเรายังคงมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการเพื่อส่งมอบสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อความพึงพอใจสูงสุดของลูกค้า”มร.ลาบัท กล่าวปิดท้าย
ทั้งนี้ ภายหลังการตีแผ่ข่าวค่ายอีซูซุรุกซื้อกิจการยูดี ทรัคส์เมื่อช่วงปลายปี 62 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าในปี 2561 ยูดี ทรัคส์ทำผลกำไรได้ 1.95 พันล้านยูโร หรือราว 6.4 หมื่นล้านบาท แต่จากการบริหารงานภายใต้กลุ่มวอลโว่ ทำให้มีผลกระทบต่อเงินรายได้ของกลุ่มวอลโว่ ในจำนวนที่น้อยจากช่วงปี 2561-2562
ช่วงปี 2562 คำสั่งซื้อของ ยูดี ทรัคส์ ทั่วโลกลดลง 45%ขณะที่รายได้ของ ยูดีทรัคส์ ก็เริ่มลดลงถึง 16% นับแต่ปี 2561 ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดรถบรรทุก วอลโว่ ก็ลดลงจาก 16.2%ในไตรมาสที่ 3 เหลือเพียง 15.2% ปลายปี 2562
“วอลโว่ ประเมินว่าหากสามารถแยก ยูดี ทรัคส์ ให้ไปอยู่กับค่ายอีซูซุได้ ภายในกลางปี 2573 จะทำให้เพิ่มเงินรายได้ของกลุ่มวอลโว่ ราว 162 ล้านยูโร หรือราว 5.3พันล้านบาท รวมทั้งสามารถเพิ่มกระแสเงินสดได้ถึง 1.7 พันล้านยูโร หรือราว 5.6 พันล้านบาท”
บริบทสุดท้ายแล้วการที่ยูดี ทรัคส์ เข้าสู่การบริหาร-ดำเนินการภายใต้ชายคาหลังใหม่และใหญ่อย่าง “อีซูซุมอเตอร์” ญี่ปุ่น พุ่งชนเป้าหมายหนุนความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ค่ายให้ดีมากขึ้น และเป็นการสร้างความแข็งแกร่งไปด้วยกัน อีกทั้งเพื่อหาวิธีการที่จะช่วยให้ ยูดี ทรัคส์ สามารถเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะตลาดในประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งทั้ง 2 ค่ายเตรียมที่จะพัฒนารถบรรทุกขนาดเบาและขนาดกลางสำหรับอนาคตต่อไป
ส่วนในประเทศไทยนั้น “ค่ายอีซูซุ”ถือเป็นมหาอำนาจรถใหญ่ครองความเป็นเจ้าตลาดรถญี่ปุ่นบนผืนแผ่นดินไทยตลอดกาลสมฉายา “Isuzu King of Trucks”ตัวจริงเสียงจริง เมื่อประเทศต้นทางยนตรกรรมสุดแกร่งรุกคืบเทคโอเวอร์ยูดี ทรัคส์ จะเป็นการปูทางสู่ความร่วมมือสร้างความแข็งแกร่ง ฉายภาพความเป็นแบรนด์รถใหญ่แดนปลาดิบในบริบท“คู่บุญคู่บวช”อวดความเบ่งบาน และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในตลาดรถใหญ่เมืองไทยหรือไม่อย่างไรนั้น?
…ปูเสื่อรอ!
:ลมใต้ปีก