ขนส่งไทยปี 60 ปรับตามเทรนด์ รับ Thailand 4.0

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ ถือว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งในการสนับสนุนเศรษฐกิจ สังคม

0
5548

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ ถือว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งในการสนับสนุนเศรษฐกิจ สังคม ซึ่งเป็นการกระจายความเจริญ การพัฒนาเมืองและพื้นที่ นอกจากนั้นก็ยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรให้ดีขึ้นอีกด้วย แต่จากช่วงเวลาที่ผ่านมา การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ของประเทศ ประสบปัญหาความต่อเนื่องในการดำเนินงาน ทำให้มีข้อจำกัดในการสนับสนุนการพัฒนาประเทศให้มีประสิทธิภาพ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้รัฐบาลมุ่งเน้นที่จะดำเนินการในโครงการใหม่เพื่อรองรับการขยายตัวของภาคเศรษฐกิจและภาคบริการ รวมไปถึงสนับสนุนให้เกิดการเชื่อมโยงในอาเซียนอย่างเป็นระบบ และมีโครงข่ายภายในประเทศที่สนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจ เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับประเทศให้มีศักยภาพได้ในที่สุด        

อาจารย์ธนภณ เจียรณัย อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมอุตสาหการและโลจิสติกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการเมกกะโปรเจ็ตก์ ที่ภาครัฐดำเนินการผลักดันต่อเนื่องจากปี 2559 ว่า หลังจากที่ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ประชุมร่วมกับหัวหน้าคณะผู้แทนจากประเทศจีน ครั้งที่ 16 เกี่ยวกับเรื่องของรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง จากผลการประชุมดังกล่าวทำให้เห็นได้ว่า โครงการดังที่กล่าวไปนั้นยังไม่มีความคืบหน้า หรือเริ่มดำเนินการก่อสร้างแต่อย่างใด ยังอยู่ในส่วนของการพูดคุยกันในเรื่องของรายละเอียด ซึ่งจริงๆ แล้ว จะต้องดำเนินการตอกหมุดเพื่อก่อสร้างโครงการเหล่านี้ภายในเดือนธันวาคม 2559

อ.ธนภณ เจียรณัย อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมอุตสาหการและโลจิสติกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มจพ.

“ซึ่งหลังจากการประชุมรอบล่าสุดที่เพิ่งผ่านไปนั้น ผลปรากฏว่า ได้มีการเลื่อนการตอกหมุดก่อสร้างออกไปในช่วงเดือนมีนาคม 2560 เนื่องจากจีนต้องการเข้ามาบริหารจัดการพื้นที่สองข้างระหว่างราง ซึ่งตรงนี้ประเทศไทยคงจะยอมให้จีนทำอย่างนั้นไม่ได้ นอกจากนั้นทางจีนยังได้กำหนดอีกว่า หัวรถจักรและตู้โบกี้ จะต้องใช้ของจีนเท่านั้น ซึ่งตรงนี้ถือเป็นข้อตกลงที่ทางจีนได้มีการพูดคุยกับประเทศไทย รวมไปถึงการออกแบบพวกสเป็คของรางรถไฟหรือตู้ขบวนรถไฟ ทางจีนออกแบบโดยใช้มาตรฐานของเขาทั้งหมด เมื่อมาถึงเมืองไทยเราก็ต้องเปลี่ยนจากมาตรฐานจีนให้เป็นมาตรฐานสากลเสียก่อน เพื่อที่จะทำให้เราสามารถคำนวณหน่วยวัดหรือค่าต่างๆ ตามหลักสากลที่เขาใช้กันได้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้สิ่งที่เราเคยคิดในตอนแรกว่าจะสามารถตอกหมุดดำเนินการก่อสร้างได้ในเดือนธันวาคม 2559 ต้องเลื่อนการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ในช่วงที่ 1 ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร ระหว่างสถานีกลางดง – ปางอโศก ออกมาเป็นในช่วงเดือนมีนาคม 2560 นั่นเอง”

ขนส่งไทย พร้อมรับความท้าทาย Thailand 4.0

อาจารย์ธนภณ อธิบายต่อไปอีกว่า เมื่อมองไปที่ภาพรวมของการขนส่งของไทยในปี 2560 จะมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการขนส่งไปในทิศทางใดนั้น ความท้าทายที่จะมีผลโดยตรงต่อระบบขนส่งของไทยในระหว่าปี 2560-2564 อันดับแรกก็คือ Thailand 4.0 ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์เชิงนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ที่มีภารกิจสำคัญในการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ เพื่อปรับแก้ จัดระบบ ปรับทิศทาง พัฒนาประเทศให้เจริญ ให้สามารถรับมือกับโอกาสและภัยคุกคามแบบใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงในศตวรรษที่ 21 ได้ ซึ่งในส่วนนี้นำมาสู่ความท้าทายในระยะเวลา 5 ปีต่อจากนี้ ว่าในเรื่องของการคมนาคมขนส่งของไทยจะสามารถก้าวตามเทรนด์เรื่องพวกนี้ได้อย่างไร และเราจะต้องเปลี่ยนมุมมองหรือแนวคิดในเรื่องของระบบการขนส่งของไทยอย่างไรบ้าง ดังนั้นสิ่งถือว่าเป็นความท้าทายในอนาคตที่เราจะต้องเจอต่อจากนี้นั่นก็คือ 1. Thailand 4.0 2. Digital Econcmy 3. การแข่งขันกับต่างประเทศ 4. กับดักรายได้ปานกลาง 5. สังคมผู้สูงอายุ 6. ภัยพิบัติทางธรรมชาติ 7. ความสมดุล ทั่วถึง เท่าเทียม และ 8. การเตรียมความพร้อมต่อการพัฒนาในอนาคต ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีผลกระทบโดยตรงต่อการวางแผน การออกแบบระบบการขนส่งของไทย ในช่วงระยะเวลาต่อจากนี้อย่างแน่นอน

“ในประเด็นต่อมา Keywords ของการพัฒนาระบบขนส่งยุคใหม่ เราสามารถแบ่งรูปแบบของการพัฒนาระบบขนส่งออกได้ด้วยกัน 5 หลักใหญ่ๆ ได้แก่ 1. การเข้าถึง ในส่วนนี้หมายความถึงเรื่องของการเข้าไปใช้งาน หรือการเข้าถึงระบบโครงสร้างพื้นฐานว่ามีความยากง่ายมากน้อยเพียงใด ซึ่งระดับความยากง่ายของการเข้าถึง มันส่งผลต่อรูปแบบของการพัฒนาเมือง และการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ 2. ความเชื่อมโยง เรื่องของการขนส่ง เราจะต้องทำให้ระดับการเข้าถึงมีปริมาณที่สูง ถนนทุกสายสามารถเชื่อมโยงเข้าไปในระบบโครงข่ายใหญ่ได้ และนอกจากที่จะเชื่อมโยงในบ้านเราเองแล้ว ยังต้องสามารถที่จะเชื่อมโยงออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้อีกด้วย 3. ความคล่องตัว 4.ความยั่งยืน และ 5. ความมั่งคั่ง ในส่วนนี้หมายถึง เวลาที่เราดำเนินการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยส่วนใหญ่มักจะเข้าใจผิดกันว่า โครงสร้างพื้นฐานที่ลงทุนไปนั้นจะสามารถก่อให้เกิดรายได้ทางเศรษฐกิจ แต่ในความเป็นจริงมันไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะโครงสร้างพื้นฐานเป็นเพียงตัวช่วย ซึ่งจะว่าไปแล้วไม่มีโครงสร้างพื้นฐานโครงการไหนที่ทำแล้วคุ้มค่า มีแต่ขาดทุน ถ้าไม่เก็บเงินค่าใช้บริการ ดังนั้น ความมั่งคั่ง ที่จะเกิดขึ้นจากโครงสร้างพื้นฐานมันเป็นผลพลอยได้ทางอ้อมมากกว่า ซึ่งเมื่อก่อนเราพัฒนาหรือสร้างโครงการต่างๆ เช่น ถนน เราสร้างเพียงแค่ตรงไหนยังไม่มีเราก็เติมให้มันเต็ม แต่เมื่อเติมให้เต็มเสร็จแล้วใครมาวิ่งบนถนนที่สร้างใหม่ก็ไม่รู้ ใครเป็นลูกค้าก็ไม่รู้ แต่ปัจจุบันและในอนาคตข้างหน้าเราต้องไม่ทำอย่างนั้นอีกต่อไป เราจะต้องรู้ก่อนว่าเราจะพัฒนาเส้นทางต่างๆ เหล่านั้นไปเพื่อใคร พัฒนาไปทำไม ใครเป็นลูกค้าของเราที่มาใช้บริการ ซึ่งเมื่อทำได้เช่นนี้สิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็จะก่อให้เกิดความมั่งคั่งบนสิ่งที่เราสร้างขึ้นมาได้”

พัฒนาระบบราง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพโลจิสติกส์

สำหรับรูปแบบและปริมาณการขนส่งสินค้าของประเทศไทย ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่า กว่า 90% ประเทศไทยเน้นการขนส่งทางถนนเป็นหลัก รองลงมาเป็นการขนส่งทางน้ำ อยู่ที่ประมาณ 6% และการขนส่งทางรางประมาณ 1% และการขนส่งทางอากาศ 0.01% ดังนั้นเมื่อดูแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ จะเห็นได้ว่า ภาครัฐให้ความสำคัญการการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะระบบการขนส่งทางราง ดังจะเห็นได้จากโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง และรถไฟทางคู่ ทำกำลังจะดำเนินการตามแผนที่รัฐบาลได้วางเอาไว้ ซึ่งสาเหตุที่เลือกพัฒนาโครงสร้างของระบบราง เพราะเมื่อดำเนินการขนส่ง มีตัวชี้วัดอยู่ไม่กี่ตัว ไม่ว่าจะเป็น ต้นทุนต้องถูก ประหยัดพลังงาน

“ดังนั้นจากตัวชี้วัดดังกล่าวที่ว่า ต้นทุนต้องถูกและประหยัดพลังงาน เมื่อนำมาเปรียบเทียบกันระหว่างการขนส่งทางถนนกับการขนส่งทางราง มันย่อมสะท้อนให้เห็นภาพแล้วว่า รูปแบบการขนส่งอย่างไหนมีความคุ้มค่ามากกว่ากัน ที่สำคัญการขนส่งทางราง ยังเป็นการช่วยลดปริมาณความคับคั่งของการจราจรลงไปได้อีกด้วย ที่สำคัญยังส่งผลให้ประสิทธิภาพของระบบโลจิสติกส์ในภาพรวมดีขึ้น เพราะเราใช้เงินในปริมาณที่น้อยกว่าเดิมแต่สามารถขนสินค้าได้ในปริมาณเท่าเดิมนั่นเอง”  

แม้ในปัจจุบันรูปแบบการขนส่งของประเทศไทย จะเน้นการขนส่งทางถนนเป็นหลัก แต่หากมองไปในเรื่องต้นทุนในการขนส่งและปริมาณการขนส่ง จะเห็นได้ว่าการขนส่งทางระบบรางเป็นทางเลือกที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการขนส่งได้ในปริมาณมาก รวมไปถึงยังเป็นการช่วยทำให้ระบบการจัดการด้านโลจิสติกส์มีประสิทธิภาพที่ดีตามไปด้วย แต่กระนั้นแล้วก็ขึ้นอยู่กับภาครัฐว่าจะให้การสนับสนุนหรือพัฒนารูปแบบการขนส่งทางรางมากน้อยเพียงใด…??