ดับเครื่องชน!

0
112

ลิงโลดกันถ้วนหน้า!

กับเรื่องที่ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีที่ฟ้องร้องนัวเนียระหว่างบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC กับ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)และคณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36

หลังจาก รฟม.ได้ออกประกาศยกเลิกการประมูลหาเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าวตามประกาศ เมื่อวันที่ 3 ก.ค.2563 ไปเมื่อวันที่ 3 ก.พ.64 จึงทำให้เหตุแห่งการพิจารณาเกี่ยวกับการขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองไม่มีอยู่ต่อไปแล้ว และคดีนี้มิได้เป็นคดีที่เกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ การพิจารณาคดีต่อไปไม่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม จึงไม่มีเหตุให้ต้องพิจารณาต่อ

ศาลจึงมีคำสั่งอนุญาตให้คณะกรรมการคัดเลือก และ รฟม. ถอนอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวไป และยังได้มีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2563 ที่ให้ทุเลาการบังคับตามหลักเกณฑ์ที่แก้ไขเพิ่มเติมจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งอื่นใดไปด้วย

เมื่อทุกอย่างโล่ง ถนนเรียบตามความเข้าใจของฝ่ายบริหาร รฟม. นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. จึงประกาศจะเดินหน้าจัดประมูลคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้มใหม่เต็มสตรีม โดยระบุว่า รฟม. ได้เริ่มกระบวนการคัดเลือกตามขั้นตอน พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2562 ส่วนที่ 2 (การคัดเลือกเอกชน) โดยได้ปัดฝุ่นนำเอาร่างประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการนี้ (RFP) และร่างสัญญาร่วมลงทุน เสนอต่อคณะกรรมการคัดเลือกเพื่อให้ความเห็นชอบ และได้เปิดรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง (Opinion Hearing) ไปตั้งแต่ต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา คาดว่าจะออกประกาศเชิญชวนในเดือน เม.ย.จากนั้นให้เวลาเอกชนทำข้อเสนอ 60 วัน เพื่อยื่นซองประมูลในเดือน มิ.ย. และได้เอกชนผู้ชนะเดือน ก.ค. และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเดือน ส.ค.นี้

“การรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน เป็นเพียงการรวบรวมความเห็นนำมาใช้ประกอบในการปรับปรุงร่างประกาศเชิญชวนฯ ร่างเอกสาร RFP และร่างสัญญาฯ ตามที่ รฟม. เห็นสมควร เพื่อเสนอคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบและการดำเนินการเป็นอำนาจของคณะกรรมการมาตรา 36 ไม่ต้องขออนุมัติ คณะรัฐมนตรี”

ฟังแล้วก็ให้เคลิบเคลิ้มตาม จนเข้าใจว่าขวากหนามในการประมูลคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม ที่ทุกฝ่ายก็รู้ว่า หมายจะประเคนให้กลุ่มทุนการเมืองกลุ่มใดนั้นดูจะปลอดโปร่งโล่งเตียนไปแล้วกระมัง 

แต่แน่ใจหรือว่าทุกอย่างจะราบรื่น ไม่สะดุดตอจนหน้าคะมำอีก!

การที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีที่ รฟม.ร้องขออุทธรณ์คำสั่งต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งคุ้มครอง และทุเลาการบังคับใช้เกณฑ์พิจารณาคัดเลือกใหม่ของ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกนั้น เป็นการบอกว่า คดีความทั้งมวลที่ BTS ยื่นฟ้องต่อศาลที่คาราคาซังมาก่อนหน้านั้น ยุติลงไปแล้วโดยสิ้นเชิงกระนั้นหรือ

เพราะเหตุผลที่ศาลปกครองสูงสุดสั่งจำหน่ายคดีนั้น หาใช่เออออห่อหมกหรือจำนนในข้อโต้แย้งทั้งมวลของ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือก แต่เป็นเพราะ รฟม.ได้แจ้งยกเลิกประกาศประมูลไปก่อนหน้า จึงทำให้เหตุแห่งปัญหาคือ “เกณฑ์พิจารณาคัดเลือก” ที่ว่านั่น ต้องสิ้นสุดลงไปด้วยต่างหาก จึงไม่มีเหตุที่จะต้องนำมาพิจารณาใดๆ อีก 

แต่กระนั้นเหตุแห่งความไม่ชอบธรรมที่มาจากเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกสุดหลุดโลกของ รฟม. การกำหนดเกณฑ์คัดเลือกที่ไม่เป็นธรรม มุ่งเอื้อประโยชน์แก่เอกชนบางรายและการกำหนดเกณฑ์คัดเลือกดังกล่าวล้วน “ย้อนแย้ง” ในตัวเองนั้น ก็ยังคงมีอยู่ และมีโอกาสที่ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกจะถูกฟ้องเอาได้อีกทุกเมื่อ หากยังดันทุรังนำเกณฑ์ดังกล่าวมาจัดประมูลอยู่ต่อไป

วันวานเราจึงได้เห็น สุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BTS ออกมา “ดับเครื่องชน” รฟม.อีกครั้ง โดยได้แถลงยืนยันว่า รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ไม่มีอำนาจยกเลิกการประมูลคัดเลือกและจัดประมูลใหม่ โดยไม่ขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพราะ รฟม.เป็นเพียงหน่วยงานเจ้าของโครงการเท่านั้น การจะเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญใด ๆ ในเงื่อนไข TOR ยังต้องขออนุมัติ ครม. แล้วจะไปมีอำนาจยกเลิกและจัดประมูลไปตามลำพังได้อย่างไร

 “การที่ รฟม. ยังคงดันทุรังจะจัดประมูลใหม่ โดยได้เริ่มเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างประกาศเชิญชวนใหม่อีก โดยไม่ยอมนำเสนอขอความเห็นชอบจาก ครม.จะยิ่งเป็นการถลำลึกที่ทำให้เชื่อว่าสุดท้ายแล้ว รฟม.จะไม่สามารถประมูลและเซ็นสัญญาโครงการนี้ภายในปีนี้ตามที่ประกาศไว้อย่างแน่นอน”

หากพิจารณาเหตุผล รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกที่ป่าวประกาศล่าสุดว่า การปรับมาใช้เกณฑ์ใหม่ ที่กำลังเปิดประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นอยู่ เป็นอำนาจของคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 จึงไม่ต้องนำเสนอขอความเห็นชอบจาก ครม. อีก สามารถจะนำไปประกาศในราชกิจจาฯ ได้เลยนั้น ความเข้าใจดังกล่าวไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง

เพราะเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกเดิมนั้นมีการดำเนินการตามกระบวนการตาม พ.ร.บ.พีพีพี และได้ผ่านความเห็นชอบจาก ครม.แล้ว หน่วยงาน รฟม.จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกและต้องดำเนินการไปตามกรอบที่กฏหมายกำหนดไว้ แต่การที่รฟม.หวังจะนำเอาเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกใหม่ที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานเกณฑ์เดิมมาใช้ โดยยืนยันเป็นอำนาจที่ไม่จำเป็นต้องขออนุมัติจาก ครม.

แล้วจะโยนเผือกร้อนไปให้ ครม.รับผิดชอบประทับตาเป็น “รับเบอร์แสตมป์” ได้อย่างไร หาไม่แล้วก็คงจะมีปัญหาข้อกฎหมายตามมาในท้ายที่สุด เพราะนำเสนอเกณฑ์คัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนแบบหนึ่ง แต่กลับไปนำเอาเกณฑ์อีกเวอร์ชั่นมาใช้  ซึ่งหากตัวนายกฯ และรัฐบาลปล่อยผ่านโครงการนี้ ราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น เราคงได้เห็นการประมูลโครงการเมกะโปรเจ็กต์ของรัฐระส่ำไปทั้งบางแน่ ประเภทเสนอเกณฑ์คัดเลือกแบบหนึ่งให้ที่ประชุม ครม.”รับเบอร์แสตมป์” ไป แต่ไปลากเอาเกณฑ์อีกแบบมาใช้แทน

จริงไม่จริงก็กำลังจะได้เห็นจากอภิมหาโครงการประมูลคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม เจ้าปัญหาอยู่นี่แหล่ะ!!!

Time Line ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม 1.42 แสนล้าน

28 ม.ค. 63             ครม. อนุมัติโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ตามที่คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการพีพีพี) นำเสนอในรูปแบบ PPP Net Cost โดยรัฐลงทุนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ส่วนตะวันตก(ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์) และภาคเอกชนลงทุนค่างานโยธา และงานระบบรถไฟฟ้า การบริหารการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษาทั้งเส้นทาง ระยะเวลา 30 ปี

มิ.ย. 63                  รฟม. แต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุน (คณะกรรมการตามมาตรา 36) ตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562

26 มิ.ย. 63             คณะกรรมการคัดเลือกฯ เห็นชอบเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม (Request for proposal: RFP) และรายละเอียดการประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการ

3 ก.ค. 63               รฟม.ออกประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 35.9 กม.วงเงินลงทุน 142,789 ล้านบาท

10-24 ก.ค. 63       จำหน่ายเอกสารการประมูล (RFP) กำหนดยื่นซองประมูลในวันที่ 23 ก.ย. 63 โดยมีบริษัทเอกชนรายใหญ่เข้าซื้อเอกสารการประมูล จำนวน 10 ราย

13 ส.ค. 63             รฟม.ได้รับหนังสือจาก สคร. ว่า ได้รับการร้องขอจากบริษัทเอกชนที่ซื้อซองประกวดราคาที่ร้องขอให้ปรับเปลี่ยนเกณฑ์การคัดเลือกใหม่

21 ส.ค. 63             ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกฯ เห็นชอบการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกใหม่ โดยรวมคะแนนข้อเสนอที่ 2 ด้านเทคนิค (สัดส่วน 30 คะแนน) และข้อเสนอที่ 3 ด้านการเงินและผลตอบแทน(สัดส่วน 70 คะแนน) จากเดิมที่จะพิจารณาแยกจากกัน และจะพิจารณาเปิดซองข้อเสนอการลงทุนและผลตอบแทนเฉพาะรายที่ผ่านด้านเทคนิคแล้วเท่านั้น และเห็นชอบขยายเวลายื่นเอกสารประกวดราคา 45 วัน เป็นวันที่ 9 พ.ย. 63

21-28 ส.ค. 63       BTS ทำหนังสือโต้แย้งและคัดค้าน การประกาศเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ในการประเมินข้อเสนอใหม่ของ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือก

17 ก.ย. 63             บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ ร้องศาลปกครองเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนมติคณะกรรมการคัดเลือกฯ และเพิกถอนเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติม (RFP Addendum)

25 ก.ย. 63             รฟม. แถลงข่าว ยืนยันการเปลี่ยนแปลงวิธีการประเมินข้อเสนอการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ -มีนบุรี โดยยืนยันว่า คณะกรรมคัดเลือกได้พิจารณาอย่างรอบคอบ เป็นประโยชน์สูงสุดแก่รัฐ เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ต้องใช้เทคนิคก่อสร้างที่มีความซับซ้อน จึงไม่สามารถพิจารณาเพียงข้อเสนอด้านการเงินและผลตอบแทนเพียงอย่างเดียว

19 ต.ค. 63             ศาลปกครองมีคำสั่งให้ รฟม.และคณะกรรมการมาตรา 36 ทุเลาการบังคับใช้เกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้มใหม่ ไปจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งอื่นใดและให้รฟม.กับคณะกรรมการคัดเลือกกลับไปใช้เกณฑ์การพิจารณาเดิมตามเอกสารประกวดราคา

21 ต.ค. 63             คณะกรรมการตามมาตรา 36 มีมติให้อุทธรณ์คำสั่งต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งทุเลาการบังคับใช้หลักเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกที่คณะกรรมการตามมาตรา 36 ได้ปรับเปลี่ยนใหม่ ด้วยเหตุผล หากรอผลตัดสินของศาลอาจทำให้การดำเนินโครงการล่าช้า

9 พ.ย. 63               รฟม. กำหนดให้เอกชนเข้ายื่นซองข้อเสนอ ในช่วงเวลา 9.00-15.00 น. โดยบริษัท BTSC ร่วมกับพันธมิตรในนามกิจการร่วมค้า BSR เข้ายื่นข้อเสนอคู่กับกลุ่มบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM 

30 พ.ย. 63             รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือก ขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การ และยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลที่ให้ทุเลาการบังคับใช้เกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกใหม่

3 ก.พ. 64               คณะกรรมการคัดเลือกมีมติยกเลิกประกาศเชิญเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม ลงวันที่ 3 ก.ค. 2563 โดยมอบหมายให้ รฟม. พิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย

22 ก.พ. 64             BTS ยื่นฟ้องผู้บริหาร รฟม. และบุคคลที่เกี่ยวข้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางในข้อหา ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 165 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 

1 มี.ค. 64              รฟม. เปิดประชาพิจารณ์ร่างประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม

5 มี.ค. 64               ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งจำหน่ายคดีที่ BTS ยื่นฟ้อง รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ และให้ศาลปกครองกลางยกเลิกคำสั่งทุเลาการบังคับตามหลักเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกที่แก้ไขเพิ่มเติม