กมธ.พลังงาน ชงรัฐบาลซื้อรถใหม่ต้องเป็นรถไร้มลพิษ (ZEV)100% ในปี 2035

0
122

กมธ.พลังงาน ชงรัฐบาลกำหนดวิสัยทัศน์ยานยนต์ใหม่ที่จะจดทะเบียนใช้ภายในประเทศ ต้องเป็นยานยนต์ไร้มลพิษ (ZEV) 100% ภายในปี ค.ศ. 2035 หวังส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า ลดมลพิษ ลดโลกร้อน เพื่อให้ก้าวทันประเทศอื่นทั่วโลก

คณะกรรมาธิการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎรได้เผยแพร่รายงานผลการพิจารณาศึกษาเรื่องยานยนต์ไฟฟ้า โดยทางอนุธรรมาธิการยานยนต์ไฟฟ้า ได้เสนอให้รัฐบาลมีความชัดเจนเรื่องนโยบายด้านยานยนต์ไฟฟ้าโดยกำหนดวิสัยทัศน์ให้ยานยนต์ใหม่ภายในประเทศต้องเป็นยานยนต์ไร้มลพิษ Zero Emission Vehicle ภายในปี 2035 และได้นำเสนอ 9 มาตรการเร่งด่วนในการผลักดันส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า

โดยมีเนื้อหาในบทสรุปผู้บริหาร ดังนี้

“ปัจจุบันปัญหาปรากฏการณ์เรือนกระจกและโลกร้อน รวมถึงเรื่อง ฝุ่น PM 2.5 ส่งผล อย่างรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมทั่วโลก ก่อให้เกิดภัยธรรมชาติอย่างต่อเนื่องและรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ทำลายชีวิตและสุขภาพของประชากรทั่วโลก สาเหตุสำคัญประการหนึ่งก็คือ ผลจากการใช้ยานยนต์สันดาปภายใน (ICE) ที่ปล่อยมลพิษออกมา ทำให้เกิดแนวโน้มทั่วโลกที่หันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าแทน และในปี 2563 โลกเริ่มมี EV Technology Disruption อย่างรวดเร็ว และก้าวกระโดด ซึ่งถ้าประเทศไทยยังคงมีนโยบาย XEV 30% @2030 อาจจะมีแนวโน้มที่ประเทศไทยจะปรับตัวไม่ทัน EV Disruption เช่นเดียวกับ Kodak หรือ Nokia ในอดีต อาจจะเกิดผลเสียต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมพลังงาน ฯลฯ ภายในประเทศ

คณะอนุกรรมาธิการยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อศึกษาเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าทั้งระบบ โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 8 เดือน ในการพิจารณาศึกษา EV Ecosystem จากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานต่างๆประมาณ 60 หน่วยงาน มีการประชุมหารือเชิงลึก การประชุมเสวนาโต๊ะกลม (Round Table) การเดินทางไปศึกษาดูงานและการจัดสัมมนา

ผลการพิจารณาศึกษาของคณะอนุกรรมาธิการยานยนต์ไฟฟ้า โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

1. EV Disruption ทั่วโลกกำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง กระแส Disruption ไม่ว่าจะเป็นราคาและประสิทธิภาพของแบตเตอรี่ การเปิดตัวรุ่น ราคาและประสิทธิภาพของยานยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ จากเกือบทุกค่ายรถยนต์ทั้งเก่าและใหม่ การประกาศยกเลิกการจำหน่ายยานยนต์สันดาปภายใน (ICE Ban) ของประเทศและเมืองสำคัญทั่วโลก แนวโน้มการก้าวเข้าสู่ยุค ZEV และ ACES (Autonomous Connected Electric and Shared Vehicles)

2. การประกาศวิสัยทัศน์และนโยบายของ 4 ประเทศในอาเซียน คือ ประเทศมาเลเซีย ประเทศ เวียดนาม ประเทศสิงคโปร์ และประเทศอินโดนีเซีย ที่จะสร้างฐานอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และจะก้าวขึ้น เป็น Asean EV Hub แทนประเทศไทย

3. หากนโยบายของประเทศไทยยังคงเป็น XEV 30% @2030 จะทำให้เราไม่สามารถปรับตัว ได้ทันกับสถานการณ์ EV Disruption ของโลกอย่างแน่นอน จะเกิดการพังทลายของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ทั้งระบบ อุตสาหกรรมพลังงาน และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง

คณะอนุกรรมาธิการยานยนต์ไฟฟ้า ในคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร ได้ตระหนักว่า มีความจำเป็นที่จะต้องนำเสนอการเตือนภัยล่วงหน้า (Early Warning) ต่อภาครัฐและภาคเอกชนไทย เพื่อให้เร่งปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ EV Disruption ดังนี้

1. เสนอให้รัฐบาลมีความชัดเจนเรื่องนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าโดยกำหนดวิสัยทัศน์ ยานยนต์ใหม่ที่จะจดทะเบียนใช้ภายในประเทศ ต้องเป็นยานยนต์ไร้มลพิษ (ZEV) ภายในปี ค.ศ. 2035 (New ZEV 100% @2035) ซึ่งคาดว่าจะสอดคล้องกับประเทศไทยมากที่สุด

2. การนำเสนอ 9 มาตรการที่สำคัญอย่างเป็นรูปธรรมที่ภาครัฐควรจะเร่งดาเนินการโดยเร่งด่วน โดยเสนอแนวทางให้ภาครัฐและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตาม 9 มาตรการ ดังนี้

มาตรการที่ 1 กำหนดและประกาศเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม และแผนแม่บทอุตสาหกรรม ที่มีความชัดเจนพร้อมทั้งดาเนินการขับเคลื่อนให้มีประสิทธิภาพ

มาตรการที่ 2 การปรังปรุงและแก้ไขกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ และมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง

มาตรการที่ 3 สนับสนุนแรงจูงใจ ทางการเงินและไม่ใช่การเงิน

มาตรการที่ 4 สนับสนุนโครงการนำร่อง (Pilot Project) ส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศและขยายขนาดการใช้งานอย่างแพร่หลาย (Scale Up)

มาตรการที่ 5 สนับสนุนการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ผู้ประกอบการ

มาตรการที่ 6 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการทดสอบและวิจัย สนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ผู้ประกอบการ

มาตรการที่ 7 สนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านสถานีอัดประจุไฟฟ้า และสถานีสลับแบตเตอรี่

มาตรการที่ 8 การพัฒนาด้านบุคลากรให้รองรับต่อเป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า

มาตรการที่ 9 การประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าให้กับประชาชน

บัดนี้ คณะกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร ได้ดำเนินการพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับ ยานยนต์ไฟฟ้าเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงดำเนินการเผยแพร่รายงานผลการพิจารณาศึกษาเรื่องดังกล่าวต่อรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาดาเนินการต่อไป”

หลากหลายประเทศได้เริ่มกำหนดมาตรการตั้งเป้าหมายให้รถยนต์ที่ขายต้องเป็นรถยนต์ไฟฟ้าในสิบปีข้างหน้า เพื่อลดมลพิษ และลดก๊าซเรือนกระจก อาทิ สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น นอร์เวย์ และบางเมืองในสหรัฐอเมริกา หากการนำเสนอของกรรมาธิการนี้นำไปสู่การผลักดันใช้เป็นมาตรการ จะถือเป็นเรื่องดี ต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และโลกของเรา

ที่มา https://www.parliament.go.th