สรท.ชี้ส่งออกดีขึ้น คาดโต 3-4% แนะรัฐเร่งแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าว-ขาดแคลนตู้สินค้า

0
109

สรท.ชี้ทิศทางส่งออกแนวโน้มดีขึ้น คาดปีนี้โต 3-4%ได้แรงหนุนปัจจัยบวกเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว-ขาขึ้นน้ำมันดิบตลาดโลก-คืบหน้าฉีดวัคซีนทั่วโลก ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงปัญหาโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ-เงินบาทแข็งค่า-ขาดแคลนแรงงานต่างด้าวภาคอุตฯ

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยหลังแถลงข่าวการส่งออกเดือนม.ค.64ว่าการส่งออกเดือนมกราคม 2564 มีมูลค่า 19,706 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 0.35% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การส่งออกในรูปเงินบาทเท่ากับ 587,373 ล้านบาท หดตัว -0.09% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ขณะที่การนำเข้าในเดือนมกราคม 2564 มีมูลค่า 19,908 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -5.24% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน และการนำเข้าในรูปของเงินบาทมีมูลค่า  601,897 ล้านบาท หดตัว -5.70% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ เดือนมกราคม 2564 ประเทศไทยขาดดุลการค้า -202.39  ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ -14,523.81 ล้านบาท (การส่งออกเมื่อหักทองคำ น้ำมันและอาวุธยุทธปัจจัย เดือนมกราคม การส่งออกขยายตัวร้อยละ 7.57)

การส่งออกเดือนมกราคม กลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวที่ 3.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน  โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดีอยู่ คือ น้ำมันปาล์ม ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง อาหารสัตว์เลี้ยง ยางพารา แต่สินค้ากลุ่มที่หดตัวคือ น้ำตาลทราย ข้าว ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป อาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ขณะที่ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวที่ 0.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน โดยกลุ่มสินค้าที่มีการขยายตัว ได้แก่ ถุงมือยาง รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ยางรถยนต์ ขณะที่สินค้ากลุ่มที่หดตัว อาทิ ทองคำ เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน

ทั้งนี้ สรท. ยังคงคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2564 เติบโตระหว่าง 3% ถึง 4% (ณ เดือนมีนาคม 2564) โดยมี3ปัจจัยบวก คือ 1) เศรษฐกิจและการค้าโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัว 2)ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกกลับมาสู่ขาขึ้นอีกครั้ง และ3) ความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากการเข้าถึงวัคซีนของประชาชนในหลายประเทศ จะส่งผลต่อการฟื้นตัวของกิจกรรมเศรษฐกิจการค้า และธุรกิจของประเทศคู่ค้าได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปี 2564 ได้แก่ 1) ปัญหาโลจิสติกส์ระหว่างประเทศทั้งปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน ปัญหาอัตราค่าระวางเรือปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง 2) ค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องตามทิศทางของสกุลเงินภูมิภาค และ3) แนวโน้มการขาดแคลนแรงงานต่างด้าวของภาคอุตสาหกรรม สืบเนื่องจากการอพยพกลับประเทศของแรงงานต่างด้าวจำนวนมากในช่วงปลายปี 2563 เป็นต้นมา โดยเฉพาะแรงงานเมียนมาร์ ส่งผลโดยตรงกับภาคอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจำนวนมากในภาคการผลิต ได้รับผลกระทบจากแนวโน้มขาดแคลนแรงงาน ซึ่งกระทบต่อมูลค่าการส่งออกได้ในอนาคต

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย มี 3 ข้อเสนอแนะภาครัฐในการแก้ไข คือ 1) ขอให้ผ่อนปรนมาตรการต่ออายุการแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในประเทศไทย ให้สามารถทำงานต่อเนื่องในปี 2564 เพื่อให้มีแรงงานเพียงพอต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง 2) เร่งแก้ไขปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน และ3) ทิศทางค่าเงินบาทแข็งมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจากทิศทางค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเริ่มส่งสัญญาณอ่อนค่า ธปท. ต้องเร่งรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทและใช้มาตรการทางการเงินเพื่อลดความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อไม่เป็นการซ้ำเติมการส่งออกซึ่งเป็นเครื่องจักรหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย รวมถึงเร่งประชาสัมพันธ์ส่งเสริมให้ผู้ส่งออกทั่วไปใช้เครื่องมือทางการเงินในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน