สถานการณ์โควิดทั่วโลกจะเริ่มเบาบ้าง หลังจากหลายประเทศได้รับวัคซีนแล้วก็ตาม แต่ภารกิจกู้วิกฤติโควิดของไทยยังคงเข้มข้นเหมือนเดิม โดยสาธารณสุขประกาศผ่านศูนย์ ศบค. ย้ำแทบทุกวัน ทุกคน “ยกการ์ดสูงๆ การ์ดห้ามตกเด็ดขาด” เรายังวางใจไม่ได้
ขณะที่ซีกรัฐบาลใช้มาตรการเยียวยาขนาดใหญ่หวังฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ โดยเฉพาะธุรกิจด้านการท่องเที่ยวและโรงแรม รัฐบาลกำหนดแผนดำเนินงานภายใต้ศูนย์รวมรัฐ – เอกชน ช่วยไทยกอบกู้เศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจโรงแรมไทยได้รับผลกระทบรุนแรงเป็นประวัติศาสตร์ ธุรกิจโรงแรมต่างปรับตัวสู้กับมรสุมโควิด จากรอบแรกสู่โควิดรอบใหม่ที่มีดีกรีความแรงมากกว่า บางรายจำเป็นต้องปิดกิจการถาวร ล่าสุดถึงวันนี้ ธุรกิจโรงแรมไทยมีการปรับตัว เพื่อฝ่าวิกฤติครั้งนี้ กับมาตรการ รัฐ – เอกชน ร่วมกอบกู้เศรษฐกิจตรงตามเป้าหมายอย่างไรบ้าง
มาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (Thai Hotels Association: THA) เปิดเผยกับวิทยุ รายการ “จุดประกาย ขยายประเด็น ” คลื่น FM. 92.5 MHz. ถึงผลกระทบและแนวทางกู้วิกฤติโควิดว่า ผู้ประกอบการธุรกิจประสบปัญหาวิกฤติโควิดหนักที่สุด หากย้อนจากวิกฤติตุ้มย่ำกุ้งในปี 40 รวมทั้ง เหตุการณ์น้ำท่วมปี 54 เหตุการณ์ปิดสนามบิน ครั้งนั้นกระทบช่วงระยะหนึ่งเท่านั้น แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ยอมรับว่า “หนักที่สุด”
“เราไม่มีลูกค้าใช้บริการโรงแรมเลย เราได้รับกระทบที่รุนแรงที่สุด ทั้งกิจการโรงแรม นักลงทุน และพนักงาน ซึ่งได้รับกระทบมากที่สุด พนักงานประมาณ 1 แสนคนกลายเป็นคนตกงานทันที”
สถานการณ์ปีนี้จะหนักกว่าปี 63 ที่ผ่านมา ในช่วงต้นปี 64 เรายังมีนักท่องเที่ยวอัตราการเข้าพักอยู่ราว 50% แต่ตอนนี้เหลือ 0 ดังนั้น ย่อมหนักกว่าแน่นอน การระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ โรงแรมหลายแห่งมีการประมาณว่าการท่องเที่ยวอาจจะกลับมาในช่วงเมษายน ซึ่งเป็นช่วงสงกรานต์ โดยตอนนี้นั้นการท่องเที่ยวเริ่มมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์จากข่าวของวัคซีนที่จะเริ่มมีการฉีดให้กับคนไทยแล้ว
ฝ่าวิกฤติลดต้นทุน – พยุงการจ้างงาน
มาริสา กล่าวว่า อุตสาหกรรมโรงแรมยังต้องการความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่อีกมาก สิ่งสำคัญที่สุดในเวลานี้ คือการพยุงการจ้างงาน ซึ่งอยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยอุดหนุน 50% ของฐานเงินเดือนเป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อให้ธุรกิจโรงแรมยังสามารถรักษาพนักงานเอาไว้
“ดังนั้น จึงเป็นอะไรที่ยากลำบากที่สุดสำหรับผู้ประกอบการ และบางรายเจ้าของโรงแรม 5 ดาว จำเป็นต้องปิดตัวชั่วคราวอีกครั้ง บางโรงแรมประกาศปิดกิจการถาวร ซึ่งสะเทือนถึงพนักงานโรงแรมต้องตกงานน่าห่วงเห็นในพนักงานหลายแสนคน พนักงานต้องหายไปประมาณครึ่งหนึ่งของภาคธุรกิจโรงแรม เมื่อธุรกิจท่องเที่ยวประสบปัญหาปิดกิจการส่งผลกระทบรายได้ประเทศที่มีอัตราขยายเศรษฐกิจประมาณ 20% ของGDP
“สิ่งที่จะช่วยได้ในช่วงนี้ เพื่อฝ่าวิกฤติคือ การลดต้นทุน และต้นทุนการจ้างพนักงานเป็นต้นทุนใหญ่ที่สุด ที่ผ่านมา เราก็ร้องขอให้ภาครัฐช่วยเหลือจ่ายเงินเดือนพนักงาน 50% เงินเดือน 15,000 บาทรัฐก็จ่าย 7,500 บาท โดยมีเงื่อนไขรักษาสถานภาพการจ้างงานพนักงานต่อไป สิ่งที่เราต้องการอยากให้รัฐช่วยสัก 2- 3 เดือน ที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามยื่นมือเข้ามาช่วยแล้ว ด้วยโครงการ เราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งเป็นโครงการที่ดี เพราะช่วยกระตุ้นคนไทยให้เดินทาง”
แนะปรับ Soft loan – ชงลดกักตัว 14 วัน
ส่วนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือ Soft loan ของรัฐบาลจะเน้นไปช่วยกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีประเภทอื่น ขณะที่ภาคท่องเที่ยวนั้น รัฐมองเห็นความเดือดร้อน แต่โครงการนี้เราเอาเข้าจริงเราไม่อาจจะเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ หากต้องการให้ผู้ประกอบการเงินทุนในโรงแรมก็อยากให้ปรับแก้เงื่อนไขบ้างประการ เพื่อให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนอย่างแท้จริงตามวัตถุประสงค์ของภาครัฐ ประเด็นถัดมาค่าใช้จ่ายค่าน้ำค่าไฟอยากให้ลดลง รัฐก็ได้ทำการมาตรการนี้ให้แล้ว ซึ่งขอชื่นชมที่เห็นความเดือนร้อนในช่วงวิกฤติโควิด
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยอมรับว่าเป็นสัญญาณที่ดีประเทศกำลังจะมีวัคซีนที่สั่งซื้อจำนวนหลายล้านโดน โดยจะทยอยเข้าถึงประเทศไทยเดือนกุมภาพันธ์นี้ เพื่อฉีดป้องกันไวรัสโควิดให้คนไทยตามลำดับกลุ่มเสี่ยง ในฐานะนายกสมาคมโรงแรมฯขอชื่นชมรัฐมนตรีว่าการกรเทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกุล ที่บอกว่า เราต้องฉีดให้บุคลากรโรงแรมเป็นลำดับต้นๆ ยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก
“ในส่วนการฟื้นฟูธุรกิจด้านการท่องเที่ยวและโรงแรมในฐานะนายกสมาคมอยากเสนอว่า ควรลดระยะเวลาการกักตัว 14 วัน สำหรับนักท่องเที่ยว นักธุรกิจที่ใช้วีซ่าพิเศษหรือวีซ่า STV ที่เดินทางเข้าไทย เพื่อเพิ่มความสะดวกมากกว่าเดิม และจะเสนอเรื่องนี้ต่อการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อยกระดับธุรกิจท่องเที่ยวให้ได้ผลมากที่สุด ทั้งยังสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม ”