“บินไทย”ปรับโครงสร้างองค์กร หั่นผู้บริหารเหลือ 500 คน

0
70

การบินไทยปรับโครงสร้างองค์กรขนาดใหญ่หั่นผู้บริหารจาก 740 เหลือ 500 อัตรา ลดขั้นตอนบังคับบัญชาจากเดิม 8 ระดับ เหลือ 5 ระดับ รวมศูนย์งาน “การเงิน – บุคคล – จัดซื้อ” เปิด 2 โครงการสมัครใจลาออกล็อตใหญ่ลั่นพร้อมกลับมาให้บริการและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันพุ่งเป้าผู้นำธุรกิจการบินได้แน่หากได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทยจำกัด (มหาชน) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการประชาคมคน TG ซึ่งมีผู้ร่วมประชุม อาทิ ผู้แทนฝ่ายต่าง ๆ ของบริษัทฯ ผู้แทนกองทุน ผู้แทนสมาคมสโมสรพนักงานการบินไทย ผู้แทนสหภาพฯ ต่าง ๆ และผู้แทนสหกรณ์ฯ ว่า ตามที่ บริษัท การบินไทยจำกัด (มหาชน) เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการนั้น เพื่อให้การฟื้นฟูสำเร็จลุล่วงจนบริษัทฯ สามารถประกอบกิจการต่อไปได้ บริษัทฯ จำเป็นต้องปรับปรุงโครงสร้างองค์กร และกลยุทธ์ทางธุรกิจหลาย ๆ ด้าน เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินงานมากขึ้น อันจะนำไปสู่การเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน และการบริหารจัดการต้นทุนให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ โดยบริษัทฯ มีแนวคิดในการปรับโครงสร้างองค์กรโดยมุ่งเน้นการพัฒนาเพื่อการเติบโตด้านต่าง ๆ การเพิ่มขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบ การมีขอบเขตการบังคับบัญชาที่เหมาะสม (Scope of work and responsibility expansion) และมีโครงสร้างองค์กรราบและกระชับขึ้น (Flatter structure with best-in-class span of control)

ทั้งนั้การนี้ บริษัทฯ ได้จัดโครงสร้างองค์กรที่เป็นแบบรวมศูนย์สำหรับงานเกี่ยวกับการเงินบัญชี การบริหารงานบุคคล การจัดซื้อ เพื่อลดความซ้ำซ้อนของงานและเป็นการใช้ข้อมูลร่วมกัน ส่งผลให้โครงสร้างองค์กรมีความกระชับและมีขนาดเล็กลง แต่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น รวมทั้งลดจำนวนผู้บริหารลงจาก 740 อัตรา เหลือประมาณ 500 อัตรา อีกทั้งลดขั้นตอนการบังคับบัญชา จากเดิม 8 ระดับ เหลือ 5 ระดับได้แก่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ระดับ 14 ประธานเจ้าหน้าที่ (Chief of) ระดับ12-13 ผู้อำนวยการ (Director) และกรรมการผู้จัดการ (Managing Director) ระดับ 11-12 หัวหน้าฝ่าย (Head of) ระดับ 10 และหัวหน้ากลุ่มงาน (Team Lead) ระดับ 8-9 และแบ่งออกเป็น 8 สายงาน ได้แก่ 1.สายการพาณิชย์  2.สายปฏิบัติการ 3.สายช่าง 4.สายการเงินและการบัญชี 5.สายทรัพยากรบุคคล 6.ฝ่ายดิจิทัล 7.ฝ่ายขับเคลื่อนองค์กร8.หน่วยธุรกิจการบิน ทั้งนี้ ภายในหน่วยงานดังกล่าว บริษัทฯ ได้เพิ่มหน่วยงานใหม่ 2 หน่วยงาน ได้แก่ ฝ่ายขับเคลื่อนองค์กร (Transformation) โดยจะทำหน้าที่ขับเคลื่อนประสานเชื่อมโยงและรวบรวมความคิดริเริ่มที่มาจากพนักงาน (Bottom Up) เพื่อให้พนักงานมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนองค์กร ซึ่งขณะนี้มีโครงการริเริ่มแล้วกว่า 600 โครงการ หากดำเนินการตามแผนคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัทฯ และฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาองค์กร (Corporate Strategy & Development) เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่วางแผน กำหนดทิศทางกลยุทธ์ในภาพรวม การสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆของบริษัทฯ และการบริหารจัดการบริษัทในเครือ

อย่างไรก็ตามบริษัทฯ ได้เปิดโครงการร่วมใจเสียสละเพื่อองค์กร (Mutual Separation Plan) ให้พนักงานสมัครใจเสียสละเข้าร่วมโครงการและลาออกจากบริษัทฯ แบ่งเป็น 2 โครงการ ได้แก่ โครงการร่วมใจจากองค์กรแผน B (MSP B) เป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการลาระยะยาว Leave With 20% Pay (LW 20) ที่พนักงานได้รับเงินเดือนร้อยละ20 เป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 – 30 เมษายน 2564 และโครงการร่วมใจจากองค์กรแผน C (MSP C) โดยทั้งสองโครงการจะเปิดรับสมัคร แบ่งเป็น 4 Block ได้แก่ Block ที่ 1 รับสมัครตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ – 2 มีนาคม 2564 Block ที่ 2 รับสมัครตั้งแต่ 2 – 16 มีนาคม 2564 Block ที่ 3 รับสมัครตั้งแต่ 16 มีนาคม – 1 เมษายน2564 Block ที่ 4 รับสมัครตั้งแต่ 1 – 19 เมษายน 2564 ซึ่งพนักงานที่เข้าโครงการฯ จะได้รับเงินตอบแทนในอัตราเทียบเท่าค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน คำนวณจากค่าจ้างอัตราสุดท้ายของพนักงานตามกฎหมาย และยังมีเงินตอบแทนพิเศษเพิ่มเติม โดยพนักงานที่เข้า MSP B จะได้เงินตอบแทนพิเศษเพิ่มเติมเท่ากับเงินเดือน 4 เดือน ส่วนพนักงานที่สมัครใจเข้าโครงการ MSP C จะได้เงินตอบแทนพิเศษเพิ่มเติม เท่ากับเงินเดือน 0.5 – 1 เดือน ตามอายุของพนักงาน ทั้งนี้ บริษัทฯ จะแบ่งจ่ายเงินช่วยเหลือดังกล่าวเป็นระยะเวลา 12 งวด โดย MSP B Block ที่ 1 เริ่มจ่ายงวดแรกในเดือนมิถุนายน2564 และ Block ที่ 2 – 4 เริ่มจ่ายงวดแรกในเดือนถัดไปตามลำดับ ส่วน MSP C Block ที่ 1 เริ่มจ่ายงวดแรกในเดือนกันยายน 2564 และ Block ที่ 2 – 4 เริ่มจ่ายงวดแรกในเดือนถัดไปตามลำดับ

นายชาญศิลป์ กล่าวว่า การทำงานในโครงสร้างองค์กรใหม่นั้น บริษัทฯ มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพการบริการและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง (Customer Centric) โดยนำระบบดิจิทัลมาขับเคลื่อนองค์กร (Digital Driven) เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบประกอบการตัดสินใจในทางธุรกิจและสนับสนุนให้เกิดการทำงานข้ามสายงาน โดยพนักงานทุกคนมีทิศทางและเป้าหมายร่วมกัน (Cross-functional teams) ภายใต้วิสัยทัศน์ขององค์กรที่กระตุ้นให้พนักงานแสดงความคิดเห็นด้วยวิธีการใหม่ ๆ เพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ (Accelerate Productivity and Innovation) เพื่อให้บริษัทฯสามารถสร้างกำไร ควบคุมค่าใช้จ่าย ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการทำงานทั้งในธุรกิจการบินและธุรกิจที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน

ทั้งนี้เชื่อมั่นว่าการปรับโครงสร้างองค์กรในครั้งนี้ จะทำให้บริษัทฯ มีความพร้อมที่จะกลับมาให้บริการและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันจนสามารถกลับมาเป็นผู้นำในตลาดอุตสาหกรรมการบินได้ ทั้งนี้ การฟื้นฟูกิจการจะประสบความสำเร็จได้ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย รวมถึงเจ้าหนี้และพนักงานทุกคน