บัณฑิตวิทยาลัย มจพ. รับมอบ “โดรน” เพื่อใช้งาน ณ อุทยานเทคโนโลยี

0
379

ศาสตราจารย์ ดร.สมฤกษ์   จันทรอัมพร  รองอธิการบดี   ฝ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ   ผศ.ปรีชา อ่องอารี ที่ปรึกษาสภามหาวิทยาลัย  และศาสตราจารย์ ดร.สุทธิศักดิ์  พงศ์ธนาพาณิช รองคณบดีฝ่ายบริหารและวิชาการบัณฑิตวิทยาลัย   มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ร่วมพิธีรับมอบโดรน DJI รุ่น M600 พร้อมแบตเตอรี่  จำนวน 2  ชุด  อุปกรณ์ควบคุมระยะไกล และกล่องโลหะสำหรับการขนถ่ายโดรน มูลค่า 300,000.00 บาท  จากคุณอัศวรรณ์   เรืองชู กรรมการผู้จัดการ  บริษัท SYSTRONICS จำกัด  เพื่อใช้งาน ณ อุทยานเทคโนโลยี (Technology Park) ของมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2563  ณ ห้องประชุมปรมะ บัณฑิตวิทยาลัย ชั้น  12 อาคารนวมินทรราชินี มจพ.

ศาสตราจารย์ ดร.สุทธิศักดิ์ พงศ์ธนาพาณิช รองคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยฝ่ายบริหารและวิชาการ บัณฑิตวิทยาลัย เปิดเผยว่า “โดรน” ที่ได้รับมอบเป็นโดรนที่มีขนาดใหญ่ สามารถบรรทุกภาระได้ประมาณ 6 กก และเป็นโดรนแบบ open platform ดังนั้น จึงเหมาะกับการนำมาต่อยอดงานวิจัยด้านการประยุกต์ใช้อากาศยานไร้คนขับ  ส่วนในด้านความมั่นคงของประเทศและการบรรเทาสาธารณภัยนั้น จะมีการผสมผสานเทคโนโลยีด้านเซนเซอร์และ AI เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของโดรนให้สามารถทำงานที่มีความเสี่ยงแทนมนุษย์ในอนาคต

นายอัศวรรณ์ เรืองชู  กรรมการผู้จัดการ  บริษัท SYSTRONICS จำกัด  กล่าว่ว่า สำหรับเรื่องการบริจาคโดรนนี้   เริ่มจากได้พบกับอาจารย์สุทธิศักดิ์ มีแนวคิดนำโดรนไปพัฒนาด้านต่าง ๆ แต่หลัก ๆ คือ “การป้องกันประเทศ”  เนื่องจากผมและอาจารย์เป็นกรรมการสมาคมอุตสาหกรรมเพื่อการป้องกันประเทศ ได้เจอกันที่นั่น มีโอกาสได้พูดคุยแลกเปลี่ยน  ความคิดเห็นแล้ว “รู้สึกว่าอาจารย์มีวิสัยทัศน์โดรน ที่สามารถนำไปใช้ในงานวิจัยได้หลากหลายซึ่งนำไปต่อยอดได้ ก็ให้ความสนใจเป็นพิเศษและอยากเห็นงานวิจัยด้านโดรนของมหาวิทยาลัยและประเทศไทยมีความก้าวหน้า”  เพราะที่ผ่านมาหลาย ๆ หน่วยงานทำแต่ขาดการสนับสนุนอย่างจริงจังจากเอกชน ซึ่งผมและภาคเอกชน อยากผลักดันให้ประเทศเป็นคู่แข่งหนึ่งที่สำคัญในอนาคต ของการใช้โดรนในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศได้  แต่ไม่ได้ใช้ในอุตสาหกรรมในประเทศอย่างเดียว  แอปพลิเคชันของโดรนใช้ได้หลากหลาย เช่น ตอนนี้มี PM 2.5 เราสามารถนำโดรนเข้าไปติดเซ็นเซอร์ที่เกี่ยวกับ PM 2.5 ก็ได้ เพื่อทำการวัด ทำโมเดล ทำแผนผังของฝุ่นที่เกิดขึ้นได้ด้วย   เป็นต้น

จริง ๆ แล้วบริษัทมีความเชี่ยวชาญในด้านไอทีและด้านเทคโนโลยีมา 18 ปี ภารกิจหลักของบริษัทเรา คือ Digital Transformation (กระบวนการที่นำ Digital Technology มาปรับใช้กับทุกส่วนของธุรกิจ) บริษัททำให้กับหน่วยงานภาครัฐบาลมาค่อนข้างมาก   ซึ่งก็คือระบบเดิมที่เป็นระบบ Manual  มาก่อน ทั้งด้านการพัฒนาซอฟแวร์ ระบบจัดเก็บต่าง ๆ  จากที่เป็นระบบ Manual  เป็นกระดาษ เรา Transform สู่ Digital ทั้งหมด  จากที่เราใช้พื้นที่ในการเก็บเอกสารนั้น ปัจจุบันเราย่อเหลือแค่แทมเพสตัวเดียว ผู้บริหารใช้คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตตัวเดียวทำงานที่ไหน ก็ทำงานได้ดีเช่นเดิมแต่มีความสะดวกสบายมากขึ้น  กอปรกับบริษัทได้รับการจาก BOI ด้าน Enterprise Software และด้าน Digital Transformation ผลงานชิ้นสำคัญที่ได้ดำเนินไปแล้ว ก็จะมี การไฟฟ้าแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิต การไฟฟ้าฝ่ายภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง ใช้โดรนเพื่อ Inspection สายส่ง  รวมถึง โซล่าฟาร์ม (Solar Farm)  โซลาร์พาแนล (Solar Panel) ซึ่งหน่วยงานทั้งสามใช้โดรนบริษัททั้งหมด

ปัจจุบันนี้ “โดรน” ยังเข้ามามีบทบาทเพื่อใช้การรังวัด แต่เดิมใช้โดรนขนาดเล็ก การรังวัดก็จะได้ปริมาณน้อยประมาณ 100 -200 ไร่ และใช้เวลานาน ซึ่งขณะนี้การใช้เทคโนโลยีภาคพื้นกับระบบโดรนที่มีความสมัยใหม่มากขึ้น ทำให้การรังวัดในยุคนี้ จะสามารถทำการรังวัดได้ถึง 10,000 ไร่ จากที่ใช้เวลาในประเมินเป็นเดือน ก็ใช้เวลา 2 สัปดาห์ ช่วยประหยัดเวลาได้มาก  บริษัทจะเน้น “โดรน” ในงานวิศวกรรมเป็นหลัก ไม่ใช้ในการถ่ายรูปทั่วไป และผลงานล่าสุดของบริษัทที่ให้บริการทางสังคม อาทิ  เป็นทีมจิตอาสา 904 ภัยพิบัติ  นำอากาศยานไร้คนขับ  บินสำรวจไฟป่าในเขตจังหวัดเชียงใหม่และพื้นที่ใกล้เคียง  เมื่อเดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมา  สอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับบริษัท หรือสอบถามโดรน ได้ที่ 0-2879-1127-9