“สรรพสามิต”จ่อผ่าโครงสร้างภาษีรถยนต์ทั้งระบบ ดัน’อีวี’บูม!

0
289

ทันทีที่เข้าสู่ฤดูหนาวอาคันตุกะที่ไม่บอกไม่เชิญก็มาเยือนทุกปีสำหรับฝุ่น PM2.5 ว่ากันว่าแหล่งที่มามลพิษฝุ่น PM 2.5 1.ไอเสียดีเซลจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ 52% การเผาชีวมวล จากการเผาในที่โล่งแจ้ง 35% ฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง 8%4 จากข้อมูลจะพบว่าต้นเหตุหลักๆ คือ ไอเสียดีเซล จากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ จะด้วยจากอะไรก็แล้วแต่ไม่ว่าจะการดัดแปลงรถยนต์ หรือคุณภาพน้ำมันรวมไปถึงมาตรฐานรถยนต์ EURO

แนวทางการแก้ไขปัญหารูทีนนี้นอกเหนือจากเร่งพลักดันให้ภาครัฐสั่งบังคับมาตรการขยับมาตรฐานไอเสียรถยนต์ใหม่จากปัจจุบันในไทยยังคงใช้มาตรฐาน EURO  3-4 ขณะที่ยุโรปนำหน้าไปถึง EURO 6 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งประเทศไทยล้าหลังกว่าเขาถึง 12 ปี และในเรื่องนี้ทำท่าจะมีทิศทางที่ชัดเจนหลังถูกหยิบยกมาผลักดันและ เสนอโดยกระทรวงอุตสาหกรรม และหารือในละเอียดกับบรรดาค่ายรถยนต์จบปลายปี 2562 จนออกมาเป็นมติครม.มีผลบังคับใช้ ยูโร 5 ในปี 2564 และ ยูโร 6 ในปี 2565

ทว่า ก็ต้องมาสะดุดต่อจนได้ เมื่อช่วงเดือนก.ค.63 ที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่มีพลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธานมีความเห็นชอบให้เลื่อนมาตรฐานไอเสียรถยนต์ ยูโร 5 ยูโร 6 ออกไป แต่ไม่ขยับระยะเวลาไปไกลตามที่กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ร้องขอโดยยึดหลักตามมติ ครม.เดิม คือไม่แบ่งแยกรถเล็ก-รถใหญ่ และการขยับมาตรฐานจาก ยูโร 5 ไปเป็นยูโร 6 ยังคงห่างกัน 1 ปี

สาระสำคัญให้รถยนต์มาตรฐาน ยูโร 5 เลื่อนออกไปเป็น ปี 2567 (เดิม พ.ศ. 2564) และ ยูโร 6 เป็นปี 2568 (เดิม พ.ศ. 2565) หรือขยับช้าออกไปอีก 3 ปี ส่วนมาตรฐานนํ้ามันยูโร 5 ยังคงเดิมที่ 1 มกราคม 2567 ซึ่งหลังจากนี้ต้องรอมติอย่างเป็นทางการ(มีหนังสือเวียน) จากนั้นจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป

ขณะที่อีกแนวทางหนึ่งที่หลายฝ่ายอยากเห็นเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมและตรงจุดมากๆตามเมกะเทรนด์โลก นั่นก็คือยานยนต์ไฟฟ้า ทว่า ทิศทางการการสนับสนุนให้เกิดเป็นรูปธรรมยังต้องเผชิญอีกหลายปัญหาและอุปสรรค ที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันแก้ไข 1 ในนั้นก็คือปัญหา “โครงสร้างภาษีรถยนต์”ทั้งระบบ เพื่อเป็นแรงจูงใจทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลายในประเทศไทย

จ่อรื้อโครงสร้างภาษีรถยนต์ทั้งระบบ

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่ากรมสรรพสามิตกำลังเร่งผลักดันรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ อีวี โดยอยู่ระหว่างศึกษาการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ทั้งระบบ ภายใต้แนวคิดการใช้มาตรการภาษี​เพื่อเอื้อให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ และลดทอนการใช้น้ำมันพลังงานฟอสซิล​ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม

“แนวคิดการปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบดังกล่าวก็ต้องขึ้นอยู่กับทิศทางการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ที่มีคณะกรรมการพิจารณาเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าทั้งระบบ หรือ ซูเปอร์บอร์ดรถยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาลเป็นผู้กำหนดทิศทางว่าประเทศไทยจะเดินหน้าในการพัฒนาและใช้รถยนต์ไฟฟ้าเต็มตัวในประเทศไทยอย่างไร และเมื่อใด”

อธิบดีกรมสรรพสามิต ระบุอีกว่าโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ไฟฟ้าปัจจุบันจัดเก็บในอัตรา 8% แต่ถ้าเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ จะเก็บในอัตรา 2% และในช่วง 1 ม.ค. 2563 ถึง 31 ธ.ค.2565 จะจัดเก็บในอัตรา 0%

“ขณะที่ปัจจุบันโครงสร้างภาษีสรรพสามิตถยนต์ แบ่งประเภทรถยนต์เป็น 4 ประเภทคือ 1.รถยนต์นั่ง และรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน 2.รถยนต์ประเภท พีพีวี ดับเบิลแค็บ ,สเปซแค็บ และปิกอัพ 3.รถ อีโค คาร์, รถยนต์ที่ใช้ น้ำมัน อี 85 และน้ำมัน บี10 4.รถยนต์ไฟฟ้า โดยโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ อิงกับอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หากปล่อยต่ำ เสียภาษีต่ำกว่ารถที่ปล่อยสูงกว่า ฉะนั้นอัตราภาษีของแต่ละหมวดจึงไม่เท่ากัน”

ใช้กองทุนอนุรักษ์เป็นแรงขับเคลื่อน

นายลวรณ ยังอดีตกรมสรรพสามิตเคยใช้มาตรการทางภาษี ที่เรียกว่าเป็นมาตรการภาษีที่ต้องการการสนับสนุนให้เกิดสิ่งหนึ่งและให้อีกสิ่งหนึ่งค่อยๆหายไป มาตรการดังกล่าวได้ถูกนำมาใช้เพื่อสนับสนุนให้เกิดการใช้รถจักรยานยนต์ 4 จังหวะแทนรถจักรยานยนต์ 2 จังหวะที่ก่อมลภาวะสูง และการรณรงค์ให้ใช้น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วแทนน้ำมันเบนซินที่มีสารตะกั่วโดยทำให้อัตราภาษีต่างกัน ซึ่งในที่สุดประชาชนผู้บริโภคก็หันมาใช้สินค้าที่รัฐต้องการสนับสนุนให้เกิด และสินค้าที่ไม่ต้องการสนับสนุนก็จะค่อยๆหายไปจากตลาด

อีกยังมีอีกหลายปัจจัยที่สำคัญที่นอกเหนือจากมาตรการภาษีในการผลักดันให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของราคาต่อคันของรถยนต์ไฟฟ้าที่สูงกว่ารถยนต์ใช้น้ำมัน และอัตราการเสื่อมราคาของรถยนต์ไฟฟ้าสูงกว่ารถที่ใช้น้ำมัน ซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลว่าจะสนับสนุนอย่างไร ซึ่งปัจจุบันไทยมีกองทุนอนุรักษ์พลังงานสามารถนำเงินส่วนนี้มาสนับสนุนเพื่อให้ราคาต่อคันของรถยนต์ไฟฟ้ามีราคาต่ำลงได้ แต่ทั้งนี้ทั้ง่นั้นก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลเป็นสำคัญ”

พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้พร้อมรองรับ

อธิบดีกรมสรรพสามิต สรุปปิดท้ายว่านอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญมากในการผลักดันให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ คือ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นการวางระบบ Power Grid การลงทุนใน Charging Station ที่เพียงพอ รวมถึงมาตรการบางด้านที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างในต่างประเทศ กำหนดที่จอดรถยนต์ไฟฟ้าเป็นพิเศษซึ่งในต่างประเทศที่จอดรถหายาก

“ขณะเดียวกันนโยบายส่งเสริมด้านภาษีแก่รถยนต์ รถยนต์ประหยัดพลังงาน หรือ​ eco car ซึ่งจะหมดอายุในปี 2568 ซึ่งผู้ประกอบการรถยนต์ต้องการความความชัดเจนในนโยบายว่า รัฐบาลจะมีนโยบายส่งเสริมรถยนต์ประหยัดพลังงานอย่างไร จะสนับสนุนรถ eco car ต่อไปหรือไม่ หรือจะสนับสนุนรถยนต์ประเภทใด ซึ่งกรมสรรพสามิตจำเป็นต้องทำโครงสร้างภาษีรถยนต์ให้เกิดความชัดเจนในเร็วๆนี้ก่อนที่จะถึงปี 2568 เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลาวางแผนทางธุรกิจ”