รองนายกฯ-รมว.พาณิชย์ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์”ลงพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพร่วมหารือภาครัฐ-เอกชนบรรเทาผลกระทบให้กับภาคส่งออกของประเทศ พร้อมวาง 6 แนวทางแก้ไขปัญหาขาดแคลนตู้สินค้าเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ส่งออกที่กำลังได้รับผลกระทบ
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ เปิดเผยว่าได้รับเรื่องจากการประชุม กรอ. พาณิชย์ในประเด็นดังกล่าว จึงได้มาตรวจเยี่ยมท่าเรือกรุงเทพและก็เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องหาข้อสรุปและหาทางบริหารจัดการและดูเรื่องกฎระเบียบที่สามารถจัดการได้โดยเร็ว ทั้งนี้ สถานการณ์การขาดแคลนตู้สินค้ามาจากในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ค่าระวางการขนส่งทางทะเลต่ำทำให้สายเรือหลายบริษัทได้ปิดตัวลงและมีการควบรวมกิจการ ส่วนการขาดแคลนตู้สินค้าเกิดจากสายเรือลดการให้บริการจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพราะหลายประเทศชะลอหรือเลิกการนำเข้าส่งออกชั่วคราว และมีตู้สินค้าชะงักและติดค้างอยู่ที่จีนและสหรัฐฯจำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถขนส่งสินค้าได้ ระยะเวลาหมุนเวียนของตู้สินค้าไปสหรัฐ เพิ่มจาก 7 วันเป็น 14 วัน และเทศกาลคริสมาสต์ ปีใหม่ ตรุษจีน ทำให้มีความต้องการตู้สินค้ามากขึ้นในการขนส่งสินค้าไปสหรัฐฯ และยุโรป
ดังนั้น จึงส่งผลต่อการปรับเพิ่มขึ้นของค่าระวาง โดยอัตราค่าระวาง (Freight) ค่าบริการภายในประเทศ (Local Charge) และค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่ม (Surcharge) มีการปรับตัวในอัตราที่สูงขึ้น และการจองพื้นที่จัดสรรระวาง (ตู้สินค้า) มีความไม่แน่นอน อาจดำเนินการจองแล้วถูกยกเลิก เนื่องจากพื้นที่เรือไม่เพียงพอต่อความต้องการ (Space Allocation)
ในการนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบนโยบายและแนวทางแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการขาดแคลนตู้สินค้า ดังนี้
1.ให้กระทรวงพาณิชย์ การท่าเรือฯ หน่วยงานภาคเอกชนและหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เร่งหาวิธีการนำตู้สินค้ากลับเข้ามาภายในประเทศเพื่อให้เพียงพอต่อการบรรจุสินค้าส่งออก
2. ให้นำตู้สินค้าเก่ามาซ่อมแซม เพื่อใช้หมุนเวียนในการบรรจุสินค้าส่งออก
3. ส่งเสริมการขนส่งสินค้าโดยไม่ใช้ตู้สินค้า โดยหันมาใช้เป็นการบรรจุแบบเทกองหรือหีบห่อ(Conventional vessels)
4. สนับสนุนให้ SME มีการจองตู้สินค้าล่วงหน้าผ่านสมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ
5.เร่งดำเนินการให้เรือสินค้าที่มีขนาดความยาว 400 เมตร สามารถเข้าเทียบท่าที่ท่าเรือแหลมฉบังได้ เพื่อเพิ่มการบรรจุตู้สินค้ามากับเรือสินค้าได้คราวละมากๆ
6. ลดต้นทุนการนำเข้าตู้สินค้า
สำหรับค่าบริการภายในประเทศ (Local Charge) อยู่ระหว่างการพิจารณาร่วมกับการท่าเรือฯ และภาคเอกชนเพื่อหาแนวทางการลดอัตราค่า Local Charge เป็นระยะเวลา 6 เดือน (มกราคม-มิถุนายน 2564) เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบการไทย สำหรับปัญหาการถูกยกเลิกการจองตู้บนเรือของผู้ประกอบการ กระทรวงพาณิชย์จะเป็นหน่วยงานหลักในการรับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวและจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ทั้งนี้ ผู้อำนวยการท่าเรือกรุงเทพ กล่าวว่า การท่าเรือฯพร้อมสนับสนุนนโยบายในทุกด้าน และพร้อมร่วมมือในการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน เพื่อผลักดันให้ระบบโลจิสติกส์ของประเทศขับเคลื่อนได้ในทุกมิติและผ่าวิกฤตินี้ไปด้วยกัน