เดิมพันต่อสัญญา BTS… จ่อลากยาวเป็นมหากาพย์

0
260

กับเรื่องของการขยายสัญญาสัมปทานหรือต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว 30 ปี ให้กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ของ กรุงเทพมหานคร (กทม.) และกระทรวงมหาดไทย ที่ถูกกระทรวงคมนาคมกระตุกเบรกหัวทิ่ม เพราะจัดทำความเห็นทัดทานแบบ “หมูไม่กลัวน้ำร้อน” ทำเอา พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หรือ มท.1 ถึงกับ “หัวร้อน” ขึ้นมาทีเดียว!

แม้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม จะยืนยันข้อโต้แย้งของกระทรวงคมนาคมที่ทำความเห็นคัดค้านการต่อสัญญาสัมปทานให้แก่รถไฟฟ้า BTS ครั้งนี้ ไม่ได้มีเบื้องหน้าเบื้องหลังแอบแฝง แต่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้หารือกัน  แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ “เหตุใดกระทรวงคมนาคมถึงได้จัดทำความเห็นในเรื่องนี้ ถึง 3 Papers ซึ่งแต่ละเปเปอร์ที่ส่งไปยัง กทม. และคณะทำงานนั้นก็แตกต่างกันลิบลับ”..

แม้ก่อนหน้านี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเรียกทั้งสองฝ่ายมาหารือกันเพื่อให้ได้ข้อยุติ แต่ก็ยังไม่สามารถจะสยบศึกร้าวลึกนี้ลงได้!

โดยประเด็นสำคัญที่ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ก็คือ เรื่องของราคาค่าโดยสาร ซึ่งกระทรวงมหาดไทย โดย กทม. กำหนดไว้ไม่เกิน 65 บาทตลอดสาย (68.2 กม.) ขณะที่กระทรวงคมนาคมโดยกรมขนส่งทางรางเห็นว่า ยังเป็นราคาที่สูงเกินไป น่าจะยังเจรจาต่อรองลงมาได้อีก พร้อมทั้งเกทับบลั๊ฟแหลกว่า อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า สายสีน้ำเงินที่ BEM ให้บริการอยู่ภายในการกำกับของกระทรวงคมนาคมนั้นต่ำกว่าเข้าไปอีก

ล่าสุด คณะกรรมาธิการ (กรธ.) คมนาคม ที่มีนายโสภณ ซารัมย์ อดีต รมว.คมนาคม เป็นประธาน กรธ. ก็กระโดดเข้ามาร่วมวงไพบูลย์เขย่าติ้วการขยายสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายนี้ด้วย จึงทำให้ทุกฝ่ายจับตาไม่กระพริบ เส้นทางการขยายสัญญาสัมปทานจะจบลงอย่างไร และโดยเฉพาะมีการวิเคราะห์กันต่อไปด้วยว่า กระทรวงคมนาคม กำลังจับเอาโครงการนี้เป็นเครื่องต่อรอง เพื่อบีบกลุ่ม BTS ให้รามือจากการประมูลสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่ รฟม.กำลังโม้แป้งอยู่

นายโสภณ ซารัมย์ ประธาน คณะกรรมาธิการคมนาคม (กมธ.คมนาคม) กล่าวถึงกรณีที่ กรธ.ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปจัดทำข้อมูลกรณีการต่อสัญญาสัมปทาน รถไฟฟ้าสายสีเขียว 30 ปี เสนอกลับมายัง กรธ.ว่า ทาง กรธ. ไม่ได้ต้องการจ้องจับผิดหน่วยงานใด เป็นเพียงการตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติเท่านั้น  

ทั้งนี้ สิ่งที่ กรธ.ติดใจมี 3 ประเด็นด้วยกัน คือ..

1. เหตุใดจึงต้องเร่งพิจารณาต่อสัญญาณกันในช่วงนี้ ทั้งที่ยังมีเวลาจนถึงปี 2572

2. ที่มีของการคำนวณค่าโดยสารตลอดสายสูงสุด ไม่เกิน 65 บาทนั้น มีที่มาอย่างไร ซึ่งก่อนหน้านี้ แม้ กทม.จะได้ชี้แจงต่อ กรธ.แล้ว แต่ยังไม่ชัดเจน จึงได้ให้ไปจัดทำเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษรกลับมาอีกครั้ง

และ 3. ประเด็นความครบถ้วนตามมติ ครม.เมื่อปี 2561 ซึ่งหากข้อมูลที่ชี้แจงมามีความกระจ่างเพียงพอก็จบไป ทางกรรมาธิการก็คงรายงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป แต่หากยังไม่กระจ่างก็ต้องว่ากันไปตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่

ด้าน นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า หากรับฟังข้อมูลของ กทม.ที่ออกมายอมรับก่อนหน้านี้ว่า ขาดสภาพคล่องไม่สามารถจะแบกรับภาระหนี้จากการก่อสร้างที่มีรวมกันกว่า 84,000 ล้าน มีภาระดอกเบี้ยอีกปีละกว่า 1,500 ล้าน และค่าจ้างเดินรถอีกปีละกว่า 5,000 ล้าน ทำให้ กทม.ไม่มีทางเลือกจึงต้องเร่งพิจารณาต่อสัญญาให้เอกชนรับโครงการออกไปบริหารจัดการ  

ส่วนเรื่องของค่าโดยสารที่กำหนดไว้สูงสุดไม่เกิน 65 บาทนั้น หากคำนวณตามสูตรที่กระทรวงคมนาคมกำหนดไว้ คือ ค่าแรกเข้า 15 บาท บวกค่าโดยสาร กม.ละ 3 บาทแล้ว ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวจะสูงถึง 158 บาท แต่ในการเจรจาเพื่อต่อสัญญาสัมปทานที่จะมีขึ้นกทม.ได้เจรจาปรับลดค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 65 บาท ซึ่งอัตราดังกล่าวเทียบกับค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินของ รฟม.ที่จัดเก็บอยู่ 44 บาทต่อการให้บริการระยะทาง 26 กม.นั้น

เห็นได้ว่าค่าโดยสารรถไฟฟ้า สายสีเขียวยังต่ำกว่ามากทั้งที่เอกชนเป็นผู้แบกรับภาระลงทุนเอง นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ BTS ต้องจ่ายส่วนแบ่งให้กับกทม.ตลอดสัญญาอีก 200,000 ล้านขณะที่สายสีน้ำเงิน ไม่มีการจ่ายส่วนแบ่งรายได้ใด ๆ คืนให้รัฐ   

“แน่นอนหากพิจารณาทางเลือกต่างๆ ที่มีอยู่เวลานี้  หากรัฐบาลและกระทรวงการคลังสามารถจัดหาแหล่งเงินทุนให้กับ กทม.ได้เพื่อนำไปจ่ายหนี้ค่างและว่าจ้างการเดินรถได้ คงไม่มีปัญหาสามารถยื้อการขยายสัญญาสัมปทานหรือดึงโครงการนี้มาเป็นของรัฐเลยโดยตรงก็ย่อมได้ แต่เมื่อพิจารณาทางเลือกและข้อจำกัดต่างๆ ที่มี่แล้ว การต่อขยายสัญญาสัมปทานในเวลานี้เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในเวลานี้”

กับจุดยืนและเหตุผลของกระทรวงคมนาคม ที่ออกมาทักท้วงการขยายสัญญา และเกทับบลั๊ฟแหลกว่าอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินของ BEM ที่ให้บริการอยู่ต่ำกว่า แต่เนื้อแท้ที่กระทรวงคมนาคม และ รฟม. ไม่ได้กล่าวถึงเลยก็คือ มูลเหตุที่ทำให้ BEM จัดเก็บค่าโดยสารได้ต่ำในเวลานี้ เพราะรัฐได้เข้าไปแบกรับภาระค่าลงทุนส่วนงาน Civil work และค่าเวนคืนแทนเอกชนทั้งหมด เอกชนเพียงแต่ลงทุนตัวระบบรถไฟฟ้าแค่ 20-30% ของมูลค่าลงทุนเท่านั้น แต่กระนั้นหากเปรียบเทียบค่าโดยสารปลายทางที่ออกมาแล้วค่าโดยสารรถไฟฟ้า สายสีน้ำเงิน ไม่ได้ต่ำกว่าแต่อย่างใด แถมยังจะสูงกว่าเสียด้วยซ้ำ

เมื่อเจอย้อนศรประเด็นเหล่านี้  ดูเหมือนกระทรวงคมนาคมจะยังคงไม่ยอมรามือ และยังคงดั้นเมฆจะลากเอา โครงการขยายสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอสนี้ ไปพันตูอยู่กับการประมูลรถไฟฟ้า สายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี ระยะทาง 35.9 กม.วงเงินลงทุนกว่า 1.42 แสนล้านบาทที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)กำลังโม่แป้งอยู่  

แม้ก่อนหน้านี้ศาลปกครองกลางจะมีคำสั่งคุ้มครองและทุเลาการบังคับใช้เกณฑ์การประมูลสุดอื้อฉาวของ รฟม. ที่ลุกขึ้นมาปรับรื้อเกณฑ์คัดเลือกกลางอากาศ หลังจากขายซองประมูลไปกว่า 2 เดือน  แต่กระนั้น รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ก็ยังคง “ดั้นเมฆ” จะใช้เกณฑ์ประมูลดังกล่าวอย่างไม่ลดละ โดยได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อขอให้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งคุ้มครองและทุเลาการบังคับหลักเกณฑ์ประมูลอื้อฉาวดังกล่าว

แต่จนแล้วจนรอด ศาลปกครองสูงสุดก็ยังไม่มีคำสั่งใด ๆ ลงมาจนกระทั่งวันนี้

สิ่งที่ทุกฝ่ายได้แต่ “อึ้งกิมกี่” กับพฤติกรรม “ลับ ลวง พราง” ของ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ก็คือ ขณะที่ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ขอเลื่อนการยื่นคำชี้แจงต่อศาลปกครองกลางถึงไปถึง 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเลื่อนยื่นคำชี้แจงไป 28 พ.ย. 63 และครั้งที่ 2 ขอเลื่อนไปเป็น 15 ธ.ค. 63 แต่ในอีกด้าน รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกกลับดอดไปยื่นอุทธรณ์คำสั่งคุ้มครองและทุเลาการบังคับใช้เกณฑ์พิจารณาคัดเลือกใหม่ดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุด  ด้วยข้ออ้าง “เป็นโครงการเร่งด่วน  ไม่สามารถรอฟังคำขี้ขาดของศาลปกครองกลาง” ได้

จนทำให้ทุกฝ่าย ได้แต่ตั้งข้อกังขาว่า ตกลงโครงการนี้ เป็นโครงการเร่งด่วนดั่งที่ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือก ยืนยันแน่หรือ?

เพราะหากเป็นโครงการเร่งด่วนจริง เหตุใด รฟม.ถึงไม่เร่งยื่นคำชี้แจงเหตุผล ความจำเป็นในการรื้อเกณฑ์คัดเลือก เพื่อที่ศาลปกครองจะได้เร่งพิจารณาชี้ขาดลงมา หรือหากอยากพิสูจน์ว่าอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าเปรียบเทียบที่เป็นจริงควรเป็นเท่าไหร่นั้น ก็น่าจะมาพิสูจน์กันที่การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มนี้กันไปเลย  

จะไปปรับเปลี่ยนรื้อหลักเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกให้ยุ่งขิงทำไมกัน เหตุใดจึงไม่ประมูลไปตามหลักเกณฑ์เดิมเพื่อเปิดทางให้ทั้ง BTS และ BEM ได้ขับเคี่ยวและสู้กันบนพื้นฐานเดียวกันเพื่อที่ทุกฝ่ายจะได้กระจ่างว่า ราคาค่าโดยสารของ BEM ต่ำกว่า BTS จริงหรือไม่

หรือกลัวว่าไอ้ที่ ”หมกเม็ดกันไว้ไต้พรม” จะโผล่ออกมาฟ้องหัวเอา จริงหรือไม่จริง ฯพณ ท่าน รมต.ศักดิ์สยาม ชิดชอบ ที่เคารพ!