กทม.ห้ามรถบรรทุกวิ่งเข้ากทม.ตั้งแต่ 6 โมง-3ทุ่ม แยกเป็น 6 ล้อห้ามเข้าพื้นที่ชั้นในส่วน 10 ขึ้นไปห้ามเข้าพื้นที่ชั้นนอก เริ่ม1 ธ.ค.63-ก.พ.64 ชี้ลดฝุ่น PM2.5 ได้ถึง 27% พร้อมคลอดมาตรการละเอียดยิบควบคุมค่าฝุ่นทั้งสถานการณ์ปกติและเข้าขั้นวิกฤติ
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2/2563 (17 พ.ย.2563)โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและนักวิชาาร คณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญร่วมประชุม ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า)ว่าภายหลังการประชุมมีการแถลงผลจากการหารือทุกฝ่ายได้สรุปมาตรการที่จะดำเนินการในช่วงสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในปีนี้ ระหว่างเดือนธันวาคม 2563 – กุมภาพันธ์ 2564 โดยกรุงเทพมหานครจะออกข้อบัญญัติควบคุมรถบรรทุกตั้งแต่ 6 ล้อ ขึ้นไปห้ามเข้าพื้นที่กรุงเทพฯชั้นใน(วงแหวนรัชดาภิเษก)และรถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไปห้ามเข้าพื้นที่กรุงเทพฯชั้นนอก(วงแหวนกาญจนาภิเษก)ตั้งแต่เวลา 06.00-21.00 น.โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมนี้ เป็นระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งจะช่วยลด PM2.5 ได้ถึง 27%
สำหรับมาตรการในสถานการณ์ปกติ ค่าฝุ่น PM2.5 ไม่เกิน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) มีดังนี้ 1.กำกับดูแลสถานที่ก่อสร้างให้ปฏิบัติตามกฎหมาย มีที่กั้นไม่ให้ฝุ่นฟุ้งกระจาย 2.ตรวจเช็คควันดำโดยกทม.บริการให้ฟรี 3.ควบคุมสถานประกอบการที่ปล่อยควันเกินมาตรฐาน 4.ล้างถนนให้มากกว่าเดิมเพื่อป้องกันการเกิดฝุ่นฟุ้งกระจาย 5.กวดขันไม่ให้มีการเผาในที่โล่ง ประสานจังหวัดใกล้เคียงเข้มงวดด้วย 6.งดกิจกรรมกลางแจ้งของเด็กเล็กในโรงเรียน 7.ติดตั้งเครื่องวัดปริมาณฝุ่นในสวนสาธารณะ 20 แห่ง และพื้นที่ 50 เขต 8.เปิดคิลนิกมลพิษทางอากาศในโรงพยาบาลสังกัดกทม. 3 แห่ง ที่โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ และโรงพยาบาลตากสิน 9.ฉีดพ่นละอองน้ำบนอาคาร 10.เปิดสายด่วน 1584 แจ้งเบาะแสรถควันดำ และ 11.แอพ Air BKK พยากรณ์สถานการณ์ฝุ่นล่วงหน้า 3 วัน
หากสถานการณ์ฝุ่นเข้าขั้นวิกฤต ค่าฝุ่น PM2.5 เกิน 50-75 มคก./ลบ.ม. เพิ่มมาตรการ ดังนี้ 1.ปิดการเรียนการสอนครั้งละไม่เกิน 3 วัน 2.บังคับใช้กฎหมายผู้เผาในที่โล่ง 3.งดกิจกรรมก่อสร้างทุกชนิดที่เกิดฝุ่น 4.ห้ามจอดรถริมถนนสายหลักสายรองที่จะทำให้รถติด 5.จัดเซฟโซนในศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนกทม. 6.เก็บขยะให้เสร็จก่อน 04.00 น. ป้องกันรถติด และ 7.ออกหน่วยบริการสาธารณสุขเคลื่อนที่ หากสถานการณ์รุนแรง ค่าฝุ่นเกิน 76-100 มคก./ลบ.ม. หรือเกิน 100 มคก./ลบ.ม. จะเพิ่มมาตรการ 1.สั่งหยุดก่อสร้างรถไฟฟ้า 5-7 วัน 2.ปิดการเรียนการสอน ครั้งละไม่เกิน 15 วัน 3.บุคลากรกทม.เหลื่อมเวลาทำงาน และงดใช้รถยนต์ส่วนตัว และขอร้องหน่วยงานอื่นปฏิบัติด้วย 4.จับ-ปรับ จอดรถไม่ดับเครื่องสาเหตุเกิด PM2.5 เพิ่ม 5 เท่า 5.ใช้กฎหมายเข้มงวดผู้เผาในที่โล่ง และ 6.ตรวจรถควันดำในรถไม่ประจำทางทุกคัน ในส่วนของการฉีดน้ำได้ข้อสรุปจากการหารือแล้วจะดำเนินการใน 4 แบบ คือ ล้างใบไม้ , ล้างถนน , ฉีดพ่นในเขตก่อสร้าง และ ฉีดพ่นบนอาคารสูง
CR.ข้อมูลจาก Siamrath.co.th