“ดร.สามารถ” ดีดลูกคิดรายได้รถไฟฟ้า BTSหลังถูกสั่งปิดวิ่งรถ 3 วันช่วงการชุมนุมกลุ่มเยาวชนปลดแอก ส่งผลกระทบเต็มๆผู้โดยสารลด-รายได้หดกว่า 22.71 ล้าน เหน็บแสบแค่นี้ไม่ใช่ภาระหนักรัฐชดเชยเอกชนที่รับสัมปทาน แต่หนักที่ต้องชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจว่าเหตุใดจึงสั่งให้ปิดรถไฟฟ้า และควรทบทวนว่าใช่การแก้ปัญหาที่เหมาะสมหรือไม่
ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และอดีตส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Dr.Samart Ratchapolsitte ถึงกรณีที่มีคำสั่งปิดการให้บริการรถไฟฟ้าในช่วงสถานการณ์ชุมนุม 3 วันที่ผ่านมาว่าหลังจากวันที่ 15 ตุลาคม 2563 มีการนัดชุมนุมที่แยกราชประสงค์จำนวนมาก เนื่องจากประชาชนสามารถเดินทางได้อย่างรวดเร็วด้วยรถไฟฟ้า จากนั้นในวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ก็มีการนัดหมายให้ไปชุมนุมที่เดิม แต่ทางตำรวจได้บล็อกพื้นที่ไว้ก่อนถึงเวลานัดหมาย กลุ่มเยาวชนปลดแอกจึงต้องเปลี่ยนสถานที่นัดหมายไปที่แยกปทุมวัน ที่สามารถเดินทางได้สะดวกรวดเร็วด้วยรถไฟฟ้าเช่นกัน ทำให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง สั่งปิดรถไฟฟ้าบางสถานี โดยอ้างว่าเพื่อรักษาความปลอดภัยของประชาชน
วันศุกร์ที่ 16 ตุลาคม 2563 สั่งปิดรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีราชดำริ สถานีชิดลม สถานีสยาม สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ และสถานีราชเทวี และสั่งปิดรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที สถานีสามย่าน ทำให้ผู้โดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสลดลงประมาณ 50,000 คน แต่ผู้โดยสารรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีเพิ่มขึ้นประมาณ 8,000 คน เพราะว่าผู้โดยสารเปลี่ยนมาใช้เอ็มอาร์ทีแทนบีทีเอสที่ถูกปิด
วันเสาร์ที่ 17 ตุลาคม 2563 สั่งปิดรถไฟฟ้าบีทีเอส และรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที ทุกสถานี ทำให้จำนวนผู้โดยสารเปลี่ยนแปลง ดังนี้ ผู้โดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสลดลงประมาณ 250,000 คน ส่วนผู้โดยสารรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีลดลงประมาณ 150,000 คน
วันอาทิตย์ที่ 18 ตุลาคม 2563 สั่งปิดรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีพหลโยธิน 24 สถานีห้าแยกลาดพร้าว สถานีหมอชิต สถานีอารีย์ สถานีสนามเป้า สถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สถานีพญาไท สถานีราชเทวี สถานีอโศก สถานีอุดมสุข สถานีบางนา สถานีช่องนนทรี สถานีสุรศักดิ์ สถานีกรุงธนบุรี และสถานีวงเวียนใหญ่ และสั่งปิดรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที สถานีหัวลำโพง สถานีลุมพินี สถานีสุขุมวิท สถานีพหลโยธิน และสถานีจตุจักร ทำให้ผู้โดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสลดลงประมาณ 150,000 คน ส่วนผู้โดยสารรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีลดลง 80,000 คน
วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม 2563 มีการสั่งปิดรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีกรมป่าไม้ สถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสถานีเสนานิคม ทำให้ผู้โดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสลดลงประมาณ 85,000 คน ไม่มีการสั่งปิดรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที
รวมแล้วตั้งแต่วันที่ 16-19 ตุลาคม 2563 จะอยู่ที่ประมาณ 757,000 คน ซึ่งหากคิดค่าโดยสารเฉลี่ยเท่ากับ 30 บาทต่อคน รายได้จากค่าโดยสารลดลงประมาณ 22.71 ล้านบาท โดยเงินจำนวนดังกล่าวแม้จะไม่เป็นภาระหนักของรัฐในการชดเชยให้เอกชนที่รับสัมปทาน แต่เป็นภาระหนักที่จะต้องชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจว่าเหตุใดรัฐจึงสั่งให้ปิดรถไฟฟ้า และควรทบทวนว่าการสั่งปิดรถไฟฟ้าเป็นการแก้ปัญหาที่เหมาะสมหรือไม่