3 ประสานเปิดหวูดขนส่งทางราง ตอบโจทย์’ลดต้นทุน-มลภาวะ’

0
366

ยุคการค้าเสรีไร้พรมแดนผนวกยุคเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นแรงส่งให้ทุกภาคธุรกิจผูกปิ่นโตเชื่อมธุรกิจกันได้ง่าย การจะดันทุรันโดดเดี่ยวเอกาเพียงลำพังในเวทีการค้าโลกดูจะปิดตายช่องทางอัตราการเติบโตของธุรกิจที่ควรจะเป็น ทุกธุรกิจล้วนมองหาโอกาสและขยายร่วมมือทางธุรกิจบนเวทีการแข่งการขันเพื่อสร้างการเติบโตและผูกมิตรการค้าอย่างไร้พรมแดนสู่เป้าหมยวินๆทั้งคู่ 

เช่นเดียวกับ 3 ประสาน“เกียรติธนา”ผู้นำขนส่งระดับแถวหน้าด้านวัตถุอันตรายและปิโตรเคมี ผนึกม้าเหล็กไทยผู้ให้บริการทางรางรายเดียว เปิดจุดยุทธศาสตร์ขนส่งภาคอีสาน ทุ่มทุนกว่า 100 ล้านขยายธุรกิจสู่ราง ปักหมุดสถานีบ้านกระโดนฮับขนส่งสินค้า นำร่องดึง “วินีไทย”เปลี่ยนโหมดสู่ระบบรางหวังลดต้นทุน-มลภาวะ ประเดิมเส้นทางโคราช-มาบตาพุด เร่งขยายเส้นทางใหม่ ลูกค้าแห่ติดต่อใช้บริการ มั่นใจปีนี้โตทะลุเป้า 15%

คุณมินตรา มนต์เสรีนุสรณ์  กรรมการผู้จัดการ บริษัท เกียรติธนาขนส่ง  จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทเร่งเดินหน้าธุรกิจเชิงรุกวิกฤติโควิด-19 ในประเทศไทยเริ่มผ่อนคลาย ล่าสุด ได้ประกาศความพร้อมเปิดความร่วมมือกับการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เข้าใช้ประโยชน์พื้นที่สถานีรถไฟบ้านกระโดน ต.หนองไข่น้ำ อ.เมือง จ.นครราชสีมา สำหรับเป็นลานคอนเทนเนอร์และจุดขนถ่ายรองรับการขนส่งสินค้าทางรางในอนาคต

“สถานีรถไฟบ้านกระโดนถือเป็นจุดยุทธศาสตร์การขนส่งรองรับโครงการรถไฟรางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น เชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งผู้โดยสารและสินค้าในพื้นที่ชนบทกับเมืองและเส้นทางระหว่างประเทศ ความร่วมมือครั้งนี้เราใช้เม็ดเงินลงทุนมากกว่า 100  ล้านบาท และนำร่องดึง บริษัท วินีไทย จำกัด(มหาชน) ซึ่งเป็นคู่ค้ากับเรามายาวนานกว่า 20 ปี เปลี่ยนโหมดการขนส่งจากรถบรรทุกมาเป็นราง เส้นทางบ้านกระโดน/โคราช – มาบตาพุด/ระยอง เพื่อขนส่งสินค้าเข้าสู่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดโดยตรง”

เสริมศักยภาพรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืน

คุณมินตรา ระบุต่อว่าไม่หยุดแค่นี้เรายังวางแผนขยายการให้บริการขนส่งทางรถไฟในเส้นทางอื่นๆ ตามจุดขนส่งสำคัญๆทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หลังเปิดตัว บริษัท เคที เทรน จำกัด ในเครือเกียรติธนา ถือเป็นบริการใหม่ล่าสุด และคาดหวังว่าจะเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพการเติบโตได้อย่างยั่งยืนในอนาคต

“เหตุผลสำคัญที่เราขยายธุรกิจสู่ระบบราง เพราะการขนส่งทางรถไฟเป็นที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ทั้งโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC – Eastern Economic Corridor ) ทั้งมีข้อได้เปรียบ ในเรื่องของราคาที่ต่ำกว่าและปริมาณการขนส่งที่มากกว่าการขนส่งทางรถบรรทุก ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยิ่งไปกว่านั้นบริษัทฯ จะถือเป็นผู้ให้บริการการขนส่งอย่างครบวงจรเป็นรายแรกอีกด้วย”  

นอกจากนี้ เคยมีการประมาณการณ์ธุรกิจขนส่งสินค้าทางบก(ศูนย์วิจัยกสิกรไทย) มีมูลค่าสูงถึง 145,100 -147,300 ล้านบาท อัตราเติบโต 5-7% โดยเปรียบเทียบสัดส่วนการขนส่งสินค้าทั้งระบบพบว่า  การขนส่งทางถนนโดยรถบรรทุกประเภทต่างๆ ยังมีสัดส่วนมากสุดประมาณ 81% ส่วนการขนส่งทางรถไฟหรือระบบราง ซึ่งมีผู้ให้บริการเพียงรายเดียว คือ รฟท. ยังมีสัดส่วนเพียง 1.9% จึงมีช่องว่างการสร้างรายได้อีกจำนวนมาก ที่เหลือเป็นการขนส่งทางท่อ 8.7% การขนส่งทางน้ำ 8.5% และการขนส่งทางอากาศ 0.01%

คาดสร้างรายได้กว่า 100 ล้านดันโต 10% ทุกปี

คุณมินตรา กล่าวอีกว่าการจับมือกับ รฟท.ถือเป็นการรุกเซกเมนต์บริการขนส่งใหม่อย่างจริงจังและมีโอกาสเติบโตสูงมาก เนื่องจาก รฟท.มีโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่หลายสาย จะสามารถสร้างเครือข่ายการขนส่งให้กว้างขวางขึ้นอีกหลายเท่าตัว เรามั่นใจบริการการขนส่งทางรางจะกลายเป็นแหล่งรายได้มูลค่ามหาศาล โดยดูจากจำนวนลูกค้าที่สนใจติดต่อเข้ามามากขึ้นเพื่อเปลี่ยนโหมดมาใช้บริการทางรถไฟเป็นสัญญาณที่ดีมาก คาดจะสามารถสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทและมีอัตราเติบโตเฉลี่ย 10% ทุกปี

“ขณะที่บริการขนส่งทั่วไปด้วยรถบรรทุกของบริษัทยังมีกลุ่มลูกค้าหลักและกำลังเจรจาสัญญาใหม่กับลูกค้าอีกหลายราย บริษัทไม่ได้กังวลกับสถานการณ์ต่างๆโดยประเมินจากแนวโน้มธุรกิจขนส่งเคมีภัณฑ์และวัตถุอันตรายครึ่งหลังปี 2563 ยังอยู่ในทิศทางบวก แม้ครึ่งปีแรกประเทศไทยประสบปัญหาการแพร่ระบาดไวรัส โควิด-19  แต่ธุรกิจการขนส่งทั่วไปและขนส่งเคมีภัณฑ์ยังเติบโต  ประกอบกับเคมีภัณฑ์บางชนิดเป็นวัตถุดิบผลิตสินค้าที่จำเป็นต้องใช้ ทำให้การขนส่งยังดำเนินการปกติและมีคอนแท็กต์ว่าจ้างการขนส่งระยะยาว 3-10 ปี นอกจากนี้ ยังเร่งขยายฐานการขนส่งเคมีภัณฑ์อันตรายไปต่างประเทศ เช่น ประเทศลาว ซึ่งมีโรงงานและโรงกลั่นเคมีภัณฑ์เกิดขึ้นจำนวนมาก”

คุณมินตรา ย้ำว่าเรามั่นใจหากการดำเนินธุรกิจเป็นไปตามแผนที่วางไว้ รายได้ปีนี้จะเติบโต 15% จากปีก่อน ซึ่งในปีที่ผ่านมา (ปี 2562) มีรายได้รวม 955.19 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 110.10 ล้านบาท โดยไตรมาสที่ผ่านมาของปี 2563  มีรายได้แล้วถึง 247.24 ล้านบาท กำไรสุทธิ 56.96 ล้านบาท (ตัวเลขจากตลาดหลักทรัพย์)

“รฟท.-วินีไทย”สอดประสานยกระดับการขนส่งทางราง  

ด้านนายฐากูร อินทรชม ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการเดินรถ และรักษาการแทนผู้อำนวยการฝ่ายบริการการสินค้า การรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่าสถานีรถไฟบ้านกระโดน อ.เมือง จ.นครราชสีมา อยู่ระหว่างสถานีหนองแมวกับสถานีบ้านเกาะตามแนวเส้นทางรถไฟทางคู่ชุมทางจิระ-ขอนแก่น จะถูกยกระดับสถานีขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้าที่สำคัญของภาคอีสาน

“การร่วมมือกับภาคเอกชนในครั้งนี้ ถือเป็นการส่งสัญญาณที่ดีต่อการขับเคลื่อนการบริการขนส่งทางรางให้เป็นที่สนใจและแพร่หลาย ซึ่งเป็นโหมดการขนส่งนอกเหนือจากช่วยให้ผู้ใช้บริการประหยัดต้นทุนค่าขนส่งเป็นอย่างมาก การขนส่งต่อเที่ยวมีปริมาณมาก มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูง อีกทั้งยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ที่สำคัญเมื่อโครงการรถไฟทางคู่สายตะวันออกเฉียงเหนือช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กม. วงเงิน 29,968 ล้านบาท เปิดให้บริการในปี 2565 จะสามารถรองรับขบวนรถเพิ่มขึ้นได้ไม่น้อยกว่า 2 เท่าตัว”

มร.​ฮิโรอากิ​ ซาโนะ บริษัท วินีไทย จำกัด(มหาชน) กล่าวเสริมว่าการร่วมมือกันในครั้งนี้ถือเป็นการยกระดับการขนส่งทางรางด้วยการขนส่งเกลือจาก อ.พิมาย จ.นครราชสีมาไปนิคมฯมาบตะพุด จ.ระยอง เบื้องหลังความสำเร็จในครั้งนี้ เกิดจากความร่วมมือของทีมงานมืออาชีพจากหลายองค์กรด้วยกัน

“ผมมั่นใจในคุณภาพการบริการของการรถไฟฯ และถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์และก้าวสำคัญทางธุรกิจของเรากับการเปลี่ยนโหมดจากการขนส่งทางถนนมาใช้บริการทางรถไฟ เราตระหนักและมุ่งมั่นในการตอบสนองของลูกค้าด้วยวิสัยทัศน็ของบริษัท เคที เทรน จำกัด ในเครือเกียรติธนาขนส่ง ในฐานะพันธมิตรธุรกิจของเรามาอย่างยาวนานที่มีผลต่อการตัดสินใจผนึกกำลังกันในครั้งนี้”

มร.ฮิโรอากิ ย้ำว่าการขนส่งทางรถไฟมิใช่เพียงแค่การขนส่งในปริมาณมากๆมีประสิทธิภาพเท่านั้น แต่ยังมีความปลอดภัย อีกทั้งยังช่วยบรรเทาการจราจรที่คับคั่งในชุมชนได้อีกด้วย ในฐานะพันธมิตรที่ท่านไว้วางใจ วินีไทยที่เปี่ยมด้วยนวัตกรรม เรายังคงมุ่งมั่นในการพัฒนาและการดำเนินงานเพื่อสร้างความเติบโตของธุรกิจ เราเต็มใจเป็นอย่างดีในการร่วมมือกับภาครัฐและพันธมิตรทางธุรกิจด้วยดีตลอดมา เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย

การผนึก 3 พลังจาก 3 องค์กรเพื่อขับเคลื่อนการขนส่งทางราง หวังพุ่งชนเป้าหมายการลดต้นทุนการขนส่ง อีกทั้งยังเป็นช่องทางการชนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย ยิ่งเมื่อการรถไฟฯกำลังเร่งก่อสร้างรถไฟทางคู่ให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคในเวลานี้

ถือเป็นจุดเริ่มต้นความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโต สร้างงาน สร้างรายให้กับห่วงโซ่ที่เกี่ยวข้อง ในอนาคตอันใกล้นี้อาจได้เห็นความร่วมมือในเส้นทางรถไฟทางคู่อื่นๆเพิ่มมากขึ้นก็เป็นได้