ทอท.ซมพิษโควิดหนักกระทบผู้โดยสารลดวูบ 72% เผชิญปัญหาซ้ำขาดมือ หากจำเป็นต้องกู้เงินเสริมสภาพคล่องเตรียมดัน 4 กลุ่มธุรกิจต่อยอดรายได้ฝ่าวิกฤติโควิด พ่วงแผนผนึกกำลังบริษัทลูกคุมกิจการสนามบิน
นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน)หรือ ทอท. เปิดเผยว่า วิกฤติโควิด-19 ส่งผลโดยตรงต่ออุตสาหกรรมการบิน ทั้งด้านผู้ประกอบการเที่ยวบินต้นทุนต่ำ ทราบมาว่ามีสภาวะพนักงานล้นเกินความต้องการ (Over Employment) จึงต้องพยายามรักษาอัตราจ้างงานไว้ ขณะที่สายการบินแห่งชาติอยู่ระหว่างพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการ ขณะที่ ทอท.เองก็เจอสภาวะตัวเลขผู้โดยสารลดลงมากจนถึงจุดต่ำสุดและคาดว่าจะใช้เวลาฟื้นกลับมาเป็นปกติในเดือน ตุลาคม 2565 หรืออีกกว่า 2 ปีนับจากนี้ โดยเฉพาะช่วงที่ยังไม่เปิดประเทศผู้โดยสารรวมของ ทอท.จะเหลือยอดอยู่เพียง 25% จากยอดผู้โดยสารปกติ เนื่องจากเที่ยวบินระหว่างประเทศฝรั่งหายไปทั้งหมดและเที่ยวบินภายในประเทศชาวต่างชาติที่เป็นสัดส่วน 50% ไม่มีการเดินทาง
“ตัวเลขผู้โดยสารล่าสุดในวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 มีผู้โดยสารเพียง 52,000 คน/วัน จากช่วงปกติมีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 140,000 คน แบ่งเป็น ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เหลือ 15,000 คน จากเดิม 187,000 คน/วัน ลดลง 91.6% ท่าอากาศยานดอนเมือง เหลือ 40,000 คน/วัน จากเดิม 114,000 คน/วัน ลดลง 65% ขณะที่ท่าอากาศยานภูเก็ตลดลง 84% ท่าอากาศยานหาดใหญ่ลดลง 35% และท่าอากาศเชียงรายลดลง 40% คาดการณ์ผู้โดยสารตลอดปี 2563 จะหดตัวลง 72% เหลือ 38.81 ล้านคน เมื่อเทียบกับปีก่อนมียอดผู้โดยสาร 141 ล้านคน ขณะที่ปี 2564 ตัวเลขผู้โดยสารจะเริ่มฟื้นตัวอีกครั้งที่ 14% ยอดรวมทั้งปี 55 ล้านคน ส่วนปี 2565 ตัวเลขผู้โดยสารจะเติบโตต่อเนื่องที่ 132% ยอดรวมทั้งปี 128 ล้านคน จากนั้นปี 2566 ตัวเลขผู้โดยสารจะกลับมาเติบโตกว่าช่วงก่อนเกิดโควิดอีกครั้งที่ 150 ล้านคน ส่งผลให้ ทอท.ต้องเดินหน้าลงทุนพัฒนาสนามบินต่อเนื่องและยืนยันว่าจะไม่หยุดลงทุนเพื่อเตรียมพร้อมรับยุครุ่งเรืองของตลาดการท่องเที่ยวไทยอีกครั้ง”
นายนิตินัย กล่าวต่อว่า สภาวะตลาดการบินจะยังคงมืดมิดและคาดการณ์ไม่ได้จนกว่าจะมีวัคซีนรักษาโควิด-19 ถือเป็นอุปสรรคของ ทอท.ซึ่งต้องแบกรับต้นทุนไปพร้อมกับลงทุนต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปี 2563-2564 มีความเสี่ยงที่จะเจอปัญหาสภาพคล่อง จนต้องเตรียมแผนสำรองเพื่อรับมือ แต่ทุกอย่างนี้ต้องอยู่บนเงื่อนไขว่าจะไม่มีโควิดระลอกที่ 2”
“ยืนยันปี 2563 ทอท.ยังไม่ขาดทุน เนื่องจากตุนเงินทุนสะสมไว้แล้วจากช่วงพีคของการท่องเที่ยวช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 ดังนั้นปัญหาสภาพคล่องและสภาวะขาดทุนของ ทอท.อาจเกิดขึ้นในปี 2564 ซึ่งถือเป็นอีกปีที่ตัวเลขผู้โดยสารตกต่ำมาก แม้ปัจุบันจะมีเงินสดในมือ 50,000 ล้านบาท แต่ก็มีความสุ่มเสี่ยงที่จะไม่เพียงพอในปี 2564 จากงบเบิกจ่ายและลงทุนต่อเนื่อง หลังจากนี้จึงต้องประเมินสถานการณ์อีกครั้งหนึ่ง หากมีความจำเป็นต้องกู้คงดำเนินการกู้ภายในประเทศ ซึ่งมี 2 รูปแบบ คือ 1.กู้สถาบันการเงิน 2.ออกหุ้นกู้(บอนด์) เพื่อระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ แต่ทั้งนี้สมมติฐานทั้งหมดอยู่บนเงื่อนไขที่ว่าไม่มีการแพร่ระบาดโควิดระลอกที่ 2”
กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.ย้ำว่าเมื่อผู้ประกอบการแบกรับต้นทุนหนักอึ้งและผู้โดยสารลดลงอย่างรุนแรง ส่งผลโดยตรงกับกิจการเกี่ยวเนื่องภายในสนามบิน ซึ่ง ทอท.มองเห็นปัญหาอยู่ 4 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ 1.ครัวการบิน 2.คลังสินค้า 3.บริการภาคพื้น 4.ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน เพราะมีความเสี่ยงที่ผู้ประกอบการรายเดิมอาจปิดกิจการ จนอาจส่งผลกระทบงานบริการผู้โดยสารภายในสนามบิน โดยเฉพาะกลุ่มคลังสินค้าและบริการภาคพื้น ซึ่งมีผู้ประกอบการเพียงไม่กี่ราย หากรายใหญ่ล้มเลิกไป รายที่เหลือไม่มีศักยภาพเพียงพอบริการผู้โดยสารแน่นอน ขณะที่กลุ่มครัวการบินยังคงไม่มีความแน่นอนว่า การบินไทย จะเดินไปทางไหนต่อ ดังนั้น ทอท.จึงเตรียมสรุปข้อมูลเพื่อเสนอคณะกรรมการ ทอท.เพื่อเตรียมมาตรการรองรับ เช่น การเตรียมความพร้อมบริษัทลูกของ ทอท.เพื่อเข้าไปดำเนินงานแทนผู้ประกอบการเดิม