การแข่งขันธุรกิจท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตามวงล้อเศรษฐกิจโลก เทรนด์เทคโนโลยีโลก และพลังพฤติกรรมผู้บริโภค ทุกองค์กรจำเป็นต้องเร่งปรับตัวให้ทันทุกการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจ และสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันในเวทีการค้าทั้งในและต่างประเทศ นำพาองค์กร สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ในฐานะองค์กรผู้นำด้านการขนส่งทางน้ำและโลจิสติกส์ของประเทศ ได้พัฒนาองค์กรมุ่งเน้นการบริการที่เป็นเลิศและทันสมัย เพื่อการเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนมาถึง 69 ปี มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนธุรกิจของประเทศด้านศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางน้ำและโลจิสติกส์ เชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยสู่เวทีการค้าโลก พร้อมเดินหน้าผลักดันภารกิจรองรับ “ภาคธุรกิจส่งออกไทย” อีกหนึ่งในเครื่องยนต์หลักทางธุรกิจ ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตต่อเนื่องทุกปี
ท่ามกลางวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในทุกภาคส่วนธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคธุรกิจการขนส่งทางน้ำที่มีปริมาณลดลงอย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งยังกระทบต่อระบบโลจิสติกส์ทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
กทท. ในฐานะเป็นผู้ให้บริการหลักด้านการขนส่งทางน้ำ ได้ดำเนินมาตรการเยียวยาแก่ผู้ใช้บริการสอดรับนโยบายรัฐบาลในด้านไหนอย่างไรบ้าง? ตลอดถึงการขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ในปีงบประมาณ 2563 ตามแผนวิสาหกิจ กทท. และมาตรการสนับสนุน และสอดคล้องนโยบายรัฐบาลในพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ของประเทศตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจทั้งในส่วนของท่าเรือกรุงเทพ ท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือภูมิภาคต่างๆ ในแง่มุมไหนอย่างไรบ้าง? ภายใต้บทบาท 69 ปีกับการขับเคลื่อนธุรกิจของประเทศด้านศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางน้ำและโลจิสติกส์ เชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยสู่เวทีการค้าโลก
Logistics Time ขอใช้พื้นที่นี้ประมวลภาพรวมผลการดำเนินการและขับเคลื่อนภารกิจ บทบาท และนโยบายต่างๆ ตามประเด็นดังกล่าว ดังนี้ :
เยียวยา 5 กลุ่มธุรกิจขนส่งทางน้ำ-ผู้เช่าทรัพย์สินฝ่าวิกฤติ COVID -19
เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยถึงมาตรการเยียวยากลุ่มธุรกิจขนส่ง ที่ได้ผลกระทบจากวิกฤติ COVID-19 ว่า กทท.ได้กำหนดมาตรการเยียวยาเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้มีส่วนได้เสียของ กทท. และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติดังกล่าว โดยแบ่งเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้ประกอบการสายเดินเรือ ผู้เช่าทรัพย์สิน กทท. ผู้ใช้บริการที่ท่าเรือภูมิภาค บุคลากรทางการแพทย์ และกลุ่มร้านค้าใน กทท. เพื่อให้สามารถร่วมกันขับเคลื่อน เศรษฐกิจให้ดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง
กลุ่มผู้ประกอบการสายการเดินเรือ กทท. ได้ปรับลดค่าธรรมเนียมพิเศษการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของการให้บริการตู้สินค้าและเรือลากจูง ทั้งที่ท่าเรือกรุงเทพและท่าเรือแหลมฉบัง ในอัตราปรับลดลงร้อยละ 5 จากอัตราที่ประกาศใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 และขยายระยะเวลาผ่อนผันให้ชำระเงินตามใบแจ้งหนี้จากเดิมที่กำหนดไว้ 15 วัน เป็น 45 วัน ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่ใบแจ้งหนี้ ที่ลงวันที่ 15 เมษายน 2563 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563
กลุ่มผู้เช่าทรัพย์สินที่เป็นคู่สัญญากับ กทท. กว่า 5,000 สัญญา ที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ยกเว้นหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐ และบริษัทมหาชน จำกัด เป็นระยะเวลา 3 เดือน นับตั้งแต่เดือน พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป กลุ่มผู้เช่าอาคารสำนักงาน อาคารพาณิชย์ และผู้เช่าประกอบธุรกิจ กทท.เรียกเก็บค่าเช่าหรือค่าตอบแทนตามสัญญาแต่ละรายในอัตราร้อยละ 50 ของค่าเช่าหรือค่าตอบแทนแต่ละสัญญา และกลุ่มผู้เช่าที่อยู่อาศัย โดยงดเว้นการเรียกเก็บค่าเช่าหรือค่าตอบแทนตามสัญญาแต่ละราย และขยายเวลาการชำระค่าเช่า หรือค่าตอบแทนโดยไม่คิดค่าปรับกรณีชำระล่าช้า ตลอดระยะเวลาการผ่อนผันไม่เกิน 1 เดือน ของแต่ละรอบการชำระค่าเช่าหรือค่าตอบแทนตามสัญญา รวมมูลค่าเยียวยาผู้เช่าทรัพย์สินของ กทท. ทั้งสิ้นกว่า 33 ล้านบาท
ทั้งนี้ กทท. ได้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ขอใช้พื้นที่ของท่าเรือระนอง (ทรน.) ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน (ทชส.) และท่าเรือเชียงของ (ทชข.) เฉพาะผู้ประกอบการที่ได้ทำสัญญาการใช้พื้นที่ฯ เท่านั้น โดยเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการใช้พื้นที่ในอัตราร้อยละ 70 ของค่าธรรมเนียมการใช้พื้นที่เป็นระยะเวลา 6 เดือน และขยายระยะเวลาการชำระค่าธรรมเนียมฯ โดยไม่คิดค่าปรับกรณีชำระล่าช้า มีระยะเวลาผ่อนผันไม่เกิน 1 เดือนของแต่ละรอบการชำระค่าธรรมเนียม ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป
เผยผลประกอบการ 2 ไตรมาส ปีงบ’63 ตู้สินค้าลดลงร้อยละ 2.5
ส่วนเผยผลประกอบการ 2 ไตรมาส ปีงบ ’63 นั้น ผอ.กทท. เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจมีแนวโน้มหดตัวร้อยละ 5.3 เนื่องจากการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้าได้รับผลกระทบรุนแรงจากการระบาดของ COVID-19 การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะประเทศ คู่ค้าที่สำคัญ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา และการหยุดชะงักของภาคการผลิต ส่งผลต่อรายได้และการบริโภคของครัวเรือน รวมถึงภาคการลงทุน ของธุรกิจและเอกชนก็ได้รับผลกระทบทางลบเช่นกัน
“สำหรับปริมาณการขนส่งทางทะเลในปี 2563 อาจลดลงร้อยละ 5.1 จากปีก่อนหน้าในส่วนของการขนส่งตู้สินค้าคาดว่าจะลดลงร้อยละ 9-10 นอกจากนี้ ในครึ่งปีแรกของปี 2563 คาดว่าบริษัทสายเรือ มีผลกำไรลดลงร้อยละ 25-30 จากปีก่อนหน้า เนื่องจากได้รับผลกระทบโดยตรงจากการยกเลิกการให้บริการในบางเส้นทาง”
การท่าเรือฯ เปรียบเสมือน Logistic Platform ที่เชื่อมต่อการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศย่อมได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจในช่วงดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งผลการดำเนินงานจะแปรผันตามปริมาณการนำเข้าและส่งออก โดยสะท้อนจากตัวเลขของผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นจริงในช่วง 2 ไตรมาสที่ผ่านมา (ตุลาคม 2562 – มีนาคม 2563) มีปริมาณตู้สินค้าผ่านท่า รวมที่ 4.698 ล้าน ทีอียู ลดลงร้อยละ 2.562 รวมรายได้สะสม 6 เดือน จำนวน 7,397 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.20 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
หากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในหลายภูมิภาคทั่วโลกยังไม่สามารถควบคุมได้ คาดการณ์ว่า ผลการดำเนินงานของ กทท. ในภาพรวมในปีงบประมาณ 2563 จะลดลงประมาณร้อยละ 3.0 (คาดการณ์ ณ เดือนเมษายน 2563) โดยจากการคาดการณ์ ทกท. จะมีปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าประมาณ 1.452 ล้าน ทีอียู และ ทลฉ. จะมีปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าประมาณ 7.82 ล้าน ทีอียู
เร่งเดินหน้าท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3
ผอ.กทท. ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนท่าเทียบเรือ F ว่า หลังศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2563 ตัดสิทธิ์กลุ่มกิจการร่วมค้า NCP (ประกอบด้วย บริษัท นทลิน จำกัด บริษัท แอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด บริษัท พริมา มารีน จำกัด บริษัท พีเอชเอส ออแกนิค จำกัด และ China Railway Construction Corporation Limited) ออกจากประมูลโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
“จากนี้ไปคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะได้ดำเนินการเจรจาผลตอบแทนและร่างสัญญากับกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC (ประกอบด้วย บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ และ China Harbour Engineering Company Limited) ที่เป็นผู้ยื่นข้อเสนออีกหนึ่งรายที่เหลืออยู่ให้เป็นไปตาม RFP โดยจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จและลงนามสัญญาให้เร็วที่สุด”
ปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ. การท่าเรือฯ เพื่อสอดคล้องและเหมาะสม
ขณะที่ความคืบหน้าการแก้ไข พ.ร.บ.การท่าเรือฯนั้น ผอ.กทท. ระบุว่า กทท. ได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและความคล่องตัวในการประกอบกิจการท่าเรือและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยร่างพระราชบัญญัติ กทท. ฉบับใหม่ ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ กทท. แล้ว
“สืบเนื่องจากพระราชบัญญัติ กทท. ฉบับ พ.ศ. 2494 ได้ใช้บังคับมาตั้งแต่ปี 2494 ซึ่งจำเป็นต้องแก้ไขให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบัน และรองรับการบริหารงานและการดำเนินธุรกิจเชิงพาณิชย์ของ กทท. โดยมีประเด็นสำคัญของร่างกฎหมาย อาทิ การแก้ไขปรับปรุงคำนิยามตามมาตรา 4 คำว่า “ผู้อำนวยการ” หมายความว่า ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย เป็น “ผู้ว่าการ” หมายความว่า ผู้ว่าการการท่าเรือแห่งประเทศไทย เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายและการเติบโตขององค์กรที่มีหน่วยงานหรือสาขาในสังกัดเพิ่มเติม เป็นต้น”
หลังผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ กทท. แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการประกาศในเว็บไซต์ของ กทท. เพื่อรับฟังความคิดเห็นของพนักงานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทุกภาคส่วน โดยจะนำข้อเสนอแนะต่าง ๆ ที่ได้รับเพื่อประกอบการพิจารณาแก้ไขต่อไป
พร้อมใช้ระบบ e–Payment เต็มรูปแบบรับ-จ่ายเงินทุกประเภท
นอกจากนี้ เรือโท กมลศักดิ์ ยังได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าการใช้ระบบ e-Payment เต็มรูปแบบทั้งรับ-จ่ายเงินทุกประเภทว่า กทท. เริ่มใช้ระบบ e-Payment อย่างเต็มรูปแบบ โดยให้การรับ-จ่ายเงินผ่านระบบ เพื่อให้เป็นไปตามแผนการดำเนินงานมาตรการอำนวยความสะดวกและลดภาระแก่ประชาชน และนโยบาย Thailand 4.0 รวมทั้งลดเอกสารและเพิ่มความสะดวกรวดเร็วให้แก่พนักงานผู้ใช้บริการและผู้มีสิทธิรับเงินทุกภาคส่วน โดยจะเริ่มดำเนินการใช้งานในระบบฯดังกล่าวภายในปี 2563
“ระบบ e-Payment เป็นระบบการรับ-จ่ายเงินแก่ผู้ใช้บริการและผู้มีสิทธิรับเงินทุกภาคส่วน ผ่านบัญชีธนาคาร โดยระบบฯ ดังกล่าวประกอบด้วย การรับ-จ่ายเงินของคณะกรรมการ พนักงาน กทท. และพนักงานบำนาญเกี่ยวกับเงินสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นๆ รวมถึงเงินที่จ่ายให้แก่บุคคลภายนอกหรือนิติบุคคล และเงินที่รับจากผู้ใช้บริการ เช่น ค่าภาระสินค้าเงินเชื่อ ค่างาน เกี่ยวกับการจัดซื้อ-จัดจ้าง ฯลฯ โดยระบบนี้ ทำธุรกรรมผ่านบัญชีธนาคารกรุงไทย ซึ่งจะไม่มีค่าธรรมเนียมการโอน และได้รับเงินโอนภายใน 1 วันทำการถัดไป”
ผอ.กทท. กล่าวอีกว่า สำหรับธนาคารอื่นจะมีค่าธรรมเนียมการโอนประมาณ 8-750 บาท โดยเรียกเก็บตามที่ธนาคารกำหนดขึ้นอยู่กับวงเงินในการโอนและพื้นที่สาขาของผู้มีสิทธิรับเงิน และได้รับเงินภายใน 3 วันทำการ ซึ่งผู้มีสิทธิรับเงินสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มคำขอรับโอนเงินผ่านบัญชีธนาคาร (แบบ อบธ.1) ผ่านเว็บไซต์ กทท. และยื่นแบบฟอร์มฯ พร้อมเอกสารได้ที่กองจัดการการเงิน ชั้น 3 อาคารที่ทำการ กทท. ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป สำหรับการจัดส่งใบรับรองการหักภาษี (50 ทวิ) กทท. จะส่งหลักฐานให้ผู้มีสิทธิรับเงินผ่านทางอีเมล์
ทุ่ม 70.93 ล้าน ปรับปรุงถนนหน้าท่าเทียบเรือ B ทลฉ. รองรับขยายตัวขนส่ง
เรือโท กมลศักดิ์ เปิดเผยถึงการเตรียมปรับปรุงถนนหน้าท่าเทียบเรือ B ของท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ว่า ทลฉ. เตรียมปรับปรุงถนนหน้าท่าผู้ประกอบการฝั่งบี (B1-B5) ทลฉ. เพื่ออำนวยความสะดวกและสนับสนุนกิจกรรมการขนส่งของผู้ประกอบการ ผู้ใช้บริการ และรองรับการขยายตัวของปริมาณเรือและสินค้าให้มีความสะดวกรวดเร็ว ปลอดภัย และลดปัญหาการจราจรติดขัดภายใน ทลฉ. โดยจะเริ่มดำเนินการในปี 2564
“สำหรับถนนที่จะดำเนินการปรับปรุง คือ ถนน เส้นทางหลักหน้าท่าเทียบเรือตู้สินค้าผู้ประกอบการฝั่งบี (B1-B5) ทลฉ.เนื่องจากถนนชำรุดเสียหายบริเวณผิวจราจร ทางเลี้ยว ทางเข้า-ออก และไหล่ทาง รวมถึงการชะลอตัวและการจอดรอคิวของรถบรรทุกสินค้าที่รอเข้าท่าเทียบเรือ B1-B5 เกิดแรงกดน้ำหนักที่พื้นถนนและไหล่ทาง ทำให้ถนนเกิดการชำรุดทรุดตัวอยู่บ่อยครั้ง เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุขณะเดินทางสัญจรไปมา”
ดังนั้น กทท. จึงมีแผนการดำเนินการปรับปรุงถนนบริเวณหน้าท่าเทียบเรือตู้สินค้าผู้ประกอบการฝั่งบี (B1-B5) ที่ ทลฉ. รวมพื้นที่ปรับปรุง 46,500 ตารางเมตร ใช้งบประมาณ 70.93 ล้านบาท โดยจะปรับปรุงจากถนนแอสฟัลท์ติกส์หรือลาดยางมะตอย เป็นถนนคอนกรีต เสริมเหล็ก มีความหนา 28 เซนติเมตร ซึ่งมีความแข็งแรง ทนทาน มีอายุการใช้งานนานกว่า และสามารถรับน้ำหนักของรถบรรทุกได้เป็นอย่างดี ลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซม มีความปลอดภัยในการเดินทางสัญจร ช่วยให้การจราจรเกิดความคล่องตัว และจะทำให้พนักงาน ทลฉ. มีความปลอดภัยขณะปฏิบัติงาน โดยจะเริ่มดำเนินการปรับปรุงถนนดังกล่าวได้ภายในปี 2564 มีระยะเวลาดำเนินการ 240 วัน
ทั้งนี้ กทท. มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ให้มีความทันสมัย พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับสภาพสิ่งแวดล้อมภายในท่าเรือให้มีความปลอดภัย สร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้ใช้บริการ และสามารถแก้ไขปัญหาด้านการจราจรให้เกิดความสะดวกคล่องตัวในการขนส่ง และรองรับการขยายตัวของปริมาณเรือและสินค้าให้มีความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้นในอนาคตอีกด้วย
จัดโปรโมชันพิเศษลดค่าบริการทั้งที่ ทลฉ. และทรน.
เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย ยังเปิดเผยต่อว่า การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ปรับลดอัตราค่าภาระยกขนและเคลื่อนย้ายตู้สินค้าที่ท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) และลดอัตราค่าธรรมเนียมท่าเรือระนอง (ทรน.) เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้ผู้ใช้บริการหันมาใช้บริการที่ กทท. เพิ่มขึ้น เพิ่มความยืดหยุ่นด้านราคา และเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ใช้บริการในการขนส่งทางน้ำ
“สำหรับการปรับลดอัตราค่าภาระยกขนและค่าธรรมเนียมเคลื่อนย้ายตู้สินค้าที่ท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ทลฉ. ในอัตราร้อยละ 20 ซึ่งอยู่ในกรอบอัตราขั้นต่ำ-ขั้นสูง ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ เมื่อ 26 พ.ค. 58 นั้น ได้กำหนดอัตราค่าภาระขั้นต่ำจาก 1,545 บาท ปรับใหม่เป็น 1,236 บาท ต่อตู้สินค้าทุกขนาด และทุกสถานภาพ โดยมีผลตั้งแต่ 28 ม.ค. 63 จนถึง 30 ก.ย. 64”
ในส่วน ทรน. ได้มีการส่งเสริมการขาย โดยลดอัตราค่าธรรมเนียมเฉพาะกลุ่มเรือและตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ เริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค. 63 ที่ผ่านมา เป็นระยะเวลา 10 ปี โดยมีส่วนลดแรกให้กับผู้ใช้บริการของ ทรน. สำหรับตู้สินค้าตั้งแต่ 1-1,000 ทีอียู แบ่งส่วนลดในปีที่ 1-3 มีส่วนลดร้อยละ 60 ปีที่ 4-6 มีส่วนลดร้อยละ 50 ปีที่ 7-10 มีส่วนลดร้อยละ 40 พร้อมทั้งมีส่วนลดเพิ่มเติม (Top up) ในกรณีที่ทำตู้สินค้าเพิ่มได้ตามที่กำหนด คือ 1,001-3,999 ทีอียู , 4,000-5,999 ทีอียู , 6,000-7,999 ทีอียู และ 8,000 ทีอียู ขึ้นไป ให้ส่วนลดเพิ่มเติมร้อยละ 5 ร้อยละ 10 ร้อยละ 15 และร้อยละ 20 ตามลำดับ สำหรับค่าธรรมเนียม การใช้ท่า (Berth Fee) เรือตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ ลดเหลือ 6 บาท/100GT/ชม.
อย่างไรก็ดี เรือโท กมลศักดิ์ กล่าวปิดท้ายว่า การดำเนินการปรับลดค่าภาระท่าเทียบเรือชายฝั่ง A ของ ทลฉ. และค่าธรรมเนียมของ ทรน. ดังกล่าว ถือเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการตลาดและจูงใจให้มีผู้มาใช้บริการมากขึ้น รวมทั้งยังเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายโดยรวมในการขนส่งให้กับผู้ประกอบการ และเป็นปัจจัยที่ทำให้ กทท. มีความสามารถในการแข่งขันด้านการตลาดมากขึ้น อีกทั้งเป็น การสนับสนุนการขนส่งทางน้ำทั้งภายในและต่างประเทศ