TTLA ลุยจัดเวทีเสวนา “แพลตฟอร์มกลาง”ภายใต้ศูนย์กลางกลุ่มระบบนิเวศน์ธุรกิจดิทิทัล หวังเชื่อมผู้ให้-ใช้บริการในระบบเดียวกัน เสริมอาวุธลับผู้ให้บริการธุรกิจโลจิสติกส์มืออาชีพฝ่ากระแสยุค “ดิจิทัล ดิสรัปชั่น”พาเหรดกูรูผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม ผู้ให้-ใช้บริการขนส่งและโลจิสติกส์ ตัวแทนภาครัฐ สมาคมฯสมาพันธ์ฯและพันธมิตรขนส่งตบเท้าเข้าร่วมรับฟัง แลกเปลี่ยนความรู้ และสะท้อนมุมมองแก่ผู้ร่วมงานคับคั่งภายใต้ความร่วมเสวนาด้วยการรักษาระยะห่างสังคม(Social Distancing)ตามนโยบายรัฐ ณ สถานีขนส่งสินค้าพุทธมณฑล เมื่อ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมา
ดร.ชุมพล สายเชื้อ นายกาสมาคมขนสินค้าและโลจิสติกส์ไทย(TTLA) เปิดเผยว่าท่ามกลางโลกธุรกิจยุคดิจิทัลดิสรัปชั่น ยิ่งผสมแรงบวกภาวะวิกฤติการระบาดไวรัสโควิด-19 เป็นแรงส่งให้ทุกธุรกิจถูกแพลตฟอร์มทางดิจิทัลเข้าแทรกแซงจนก่อให้เกิดโมเดลทางธุรกิจแบบใหม่ขึ้นมากมายบนโลกใบนี้ หนุนให้พฤติกรรมผู้บริโภคและรูปแบบการดำเนินธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะของการซื้อขายในระบบอิเล็กทรอนิกส์หรือที่เรียกว่า“อีคอมเมิร์ซ”มากขึ้น โดยจะมีการใช้ระบบที่เรียกว่า “แอปพลิเคชั่น” หรือ“แพลตฟอร์มดิจิทัล”เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงและสอดรับพฤติกรรมผู้บริโภค ที่มีทั้งผู้ซื้อ-ผู้ขายได้มาตกลงการค้ากันเสร็จสรรพในระบบเดียวกัน
“ผมในฐานะนายกสมาคมฯTTLA พร้อมคณะกรรมการได้มีนแนวคิดและพันธกิจในการช่วยเหลือมวลสมาชิกให้ก้าวทันความเปลี่ยนเทรนด์เทคโนโลยีโลกและนำมาประยุกต์ใช้กับการบริการขนส่งและโลจิสติกส์อย่างมืออาชีพ ซึ่งมีการพูดคุยกันตั้งแต่เดือนม.ค.63 และมีการตั้งคณะกรรมการศึกษา ประสานงาน และเตรียมการในส่วนต่างๆเรื่อยมา จึงได้มีโครงการการพัฒนา“แพลตฟอร์มกลาง”เชื่อมผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้าด้วยกัน และได้จัดเวทีเสวนาภายใต้โครงการดังกล่าวขึ้นเพื่อยกระดับองค์ความรู้และพัฒนาให้เป็นผู้ให้บริการขนส่งและโลจิสติกส์อย่างมืออาชีพ”
นายกสมาคมฯTTLA กล่าวอีกว่าต้องยอมรับว่าแพลตฟอร์มมีบทบาทและเป็นกลไกต่อการพลิกผันธุรกิจในยุคนี้ ซึ่งก็มีผู้ให้ความสนใจและให้ความร่วมมือเกินความคาดหมาย ทั้งในส่วนผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐ นักวิชาการ ที่สำคัญคือบรรดาผู้พัฒนาแพลตฟอร์มต่างๆก็ยินดีจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งการผนึกความร่วมมือครั้งนี้ เพื่อต่อยอดมุ่งมั่นให้เป็นประโยชน์กับผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการการขนส่งและโลจิสติกส์โดยที่เราไม่ต้องไปเริ่มต้นพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่
“จุดมุ่งหมายการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางที่รวบรวมแพลตฟอร์มต่างๆเข้ามาไว้ในจุดเดียวกันก็จะง่าย เราก็เหมือนเป็นตัวกลางสร้างให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดได้มาอยู่ในพื้นที่กลางนี้ ที่เราเรียกว่าระบบนิเวศน์ธุรกิจดิจิทัล ทุกคนทุกภาคส่วนสามารถเห็นกันและกัน สร้างความสะดวก ลดเวลา และต้นทุนในการค้นหารวมถึงการบริการจัดการที่ไม่ซ้ำซ้อนภายใต้ 3 ลำดับของการจัดการ”
อันดับแรกพื้นฐานเราเป็นตัวกลางในการเชื่อมให้ทุกคนมาเจอกัน ใครจะตกลงให้บริการอะไรกันอย่างไรก็เป็นไปคุยในรายละเอียดกันเอง เราเพียงแค่เปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้มาเจอกันได้ง่ายขึ้น อันดับต่อไปเราจะเพิ่มการคัดกรองวัดผลประเมินผลเพื่อให้ดาวให้เกรดให้แต้มกับการให้บริการภายใต้คุณภาพและมาตรฐานการให้บริการของแต่เจ้า เพื่อให้ผู้ใช้บริการสะดวกในลดความเสี่ยง และช่วยให้การตัดสินใจในการเข้ารับการบริการได้ง่ายมากขึ้น
สุดท้ายเราจะช่วยกันคิดค้นสร้างนวัตกรรมใหม่ๆและมูลค่าเพิ่มในแพลตฟอร์ตต่างๆที่มีอยู่ในระบบระบบนิเวศน์ธุรกิจดิจิทัล เช่น แพลตฟอร์มที่อยู่ในฟากการขนส่งก็อาจจะเชื่อมต่อไปยังระบบไฟแนนซ์ให้เข้ามาสนับสนุนการบริการปล่อยสินเชื่อให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว เป็นต้น ขณะผู้พัฒนาแพลตฟอร์มต่างๆก็จะได้ประโยชน์ในส่วน Big Data ของผู้ใช้บริการซึ่งจะมีจำนวนมาก หลากหลาย และมีค่ามหาศาลสู่การเชื่อมโยงและต่อยอดในอีกหลายธุรกิจด้วยกัน
อย่างไรก็ดี ดร.ชุมพล กล่าวปิดท้ายว่าจากนี้ไปเราก็จะตกผลึกมาเป็นแผนธุรกิจกับการโครงการนี้ พอเราได้แผนธุรกิจแล้วก็จะเข้าสู่กระบวนการที่สอง ก็คือการระดมทุนผ่านช่องทางต่างๆสู่การพัฒนาและการผลักดันให้การพัฒนาแพลตฟอร์มกลางในระบบระบบนิเวศน์ธุรกิจดิจิทัลสู่การใช้งานอย่างสมบูรณ์ต่อไป