ทล.เข้ม 6 มาตรการเร่งด่วนรับมือภัยพิบัติหน้าฝน

0
164

ทล.เข้ม 6 มาตรการเร่งด่วนรับมือภัยพิบัติหน้าฝน เพื่อป้องกันและบรรเทาสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในกว่า 3,000 เส้นทาง ระยะทางรวมทั้งหมด 72,000กม.ทั่วประเทศ ย้ำประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือ หรือพบเหตุบนทางหลวง แจ้งได้ที่สายด่วนกรมฯ 1586 ตลอด 24 ชม.

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า ขณะนี้เข้าสู่ฤดูฝน เกิดฝนและลมกระโชกแรงในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก เกิดวาตภัย ต้นไม้ล้มทับทาง ดินโคลนถล่ม ส่งผลกระทบต่อระบบคมนาคมขนส่ง และการสัญจรของประชาชนผู้ใช้ทางบนโครงข่ายถนนของ ทล. กว่า 3,000 เส้นทาง ระยะทางรวมทั้งหมด 72,000กม. ทั่วประเทศ

เพื่อป้องกันและบรรเทาสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้น จึงสั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัด ทั้งสำนักงานทางหลวง แขวงทางหลวง และหมวดทางหลวงทั่วประเทศ ดำเนินการตามมาตรการ ดังนี้

1.ให้ตรวจสอบสภาพความเรียบร้อยของผิวทาง ต้องไม่มีหลุมบ่อพร้อมสำรวจพื้นที่เสี่ยงต่อภัยพิบัติ ตรวจสอบสะพาน ท่อระบายน้ำ ร่องน้ำในเขตทางให้อยู่ในสภาพดี พร้อมใช้งานและดำเนินขุดลอกร่องระบายน้ำบริเวณสองข้างทาง ทำความสะอาดอาคารระบายน้ำ กำจัดขยะเศษวัชพืชไม่ให้กีดขวางทางระบายน้ำ

รวมทั้งตัดแต่งกิ่งต้นไม้ และจัดเตรียมเครื่องจักร ยานพาหนะ วัสดุอุปกรณ์ เครื่องสูบน้ำ สิ่งอำนวยความปลอดภัย ป้ายจราจร และป้ายจราจรแบบเคลื่อนที่ (Knock Down) หลักนำทาง และไฟกระพริบ ให้สามารถใช้งานทันทีเมื่อเกิดสถานการณ์ภัยพิบัติ

2.กรณีเมื่อเกิดภัยพิบัติ ให้หน่วยงานในพื้นที่เข้าไปดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยเร็วที่สุด รวมทั้งให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้น 3.เมื่อมีสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงหรือมีความจำเป็นเร่งด่วนให้ดำเนินการแก้ไขทันที พร้อมทั้งรายงานระดับผู้บริการ ทล. ให้ทราบทันทีและรายงานอย่างต่อเนื่อง จนกว่าเหตุการณ์จะยุติลง

4.เมื่อเกิดเหตุทางขาด หรือสะพานขาด หรือชำรุด ให้ขอความร่วมมือจากศูนย์สร้างทาง ศูนย์สร้างและบูรณะสะพาน เพื่อขอรับการสนับสนุนเจ้าหน้าที่ เครื่องจักรและสะพานเบลี่ย์ ให้เข้าดำเนินการแก้ไขร่วมกับแขวงในพื้นที่

5.ติดตามและรายงานข้อมูลสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเข้าระบบบริหารงานภัยพิบัติและสถานการณ์ฉุกเฉิน (EMS) พร้อมกับอัพเดทสถานการณ์หรือภาพถ่ายอย่างต่อเนื่อง จนกว่าเหตุการณ์จะปกติและยุติการในระบบทันที และ 6.ให้ทุกหน่วยงานติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ การเตือนภัยของกรมอุตุนิยมวิทยา และศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอย่างใกล้ชิด

นายสราวุธ กล่าวอีกว่า รวมทั้งดูแลทางเดินเท้าฟุตบาทปรับปรุงให้ปลอดภัยช่วงหน้าฝน ไม่เปรอะเปื้อน โดยเฉพาะถนนที่ผ่านชุมชน โรงเรียน โรงพยาบาล พร้อมจัดเตรียมเจ้าหน้าที่วัสดุและชิ้นส่วนสะพานเบลี่ย์ เครื่องจักร ยานพาหนะ สนับสนุนทุกหน่วยงานที่ในกรณีถนนหรือสะพานขาด ติดตั้งป้ายเตือน ป้ายแนะนำและอุปกรณ์อำนวยความสะดวกเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุประชาชนสอบถามสภาพเส้นทางการจราจรบนถนนทางหลวงในเขตพื้นที่ประสบอุทกภัย ทั้งนี้ประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือ หรือพบเหตุบนทางหลวง เช่น ต้นไม้ล้ม ทางขาด แจ้งได้ที่สายด่วนกรมฯ 1586 ตลอด 24 ชม.