วิกฤติไวรัสโควิด-19 (COVID-19) หรือเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในห้วงนี้ได้แพร่ระบาดหนักไปทั่วภูมิภาคเอเชียและลุกลามไปอีกหลายประเทศทั่วโลก กลายเป็นเชื้อไวรัสเขย่าขวัญมวลมนุษยชาติพลางกระทืบซ้ำให้เศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-โลกให้ย่ำแย่กว่าเดิม
เมื่อพญามังกรในฐานะ “ต้นทาง”ของการระบาดกำลังเผชิญภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจ คาดการณ์กันว่าการเติบโตจีดีพีจีนจะลดลงเหลือ 4% เท่านั้นในไตรมาส 1 ปี 63 ยิ่งทางการจีนสั่งปิดเมืองอู่ฮั่นอันเป็นแหล่งอุตสาหกรรมการผลิต ส่งออก และมีนักท่องเที่ยวออกเดินทางตลอดทั้งปีก็ส่งผลให้ทุกอย่างหยุดชะงักเข้าขั้นวิกฤติกระทั่งประธานาธิบดีจีน”สี จิ้น ผิง”ออกคำสั่งด่วนห้ามคนจีนเที่ยวทั่วโลกหวังสกัด”ไวรัสโควิด-19″
ขณะที่ประเทศไทยเองก็มิอาจหลีกเลี่ยงผลกระทบเช่นกัน เนื่องจากเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของคนจีน เมื่อนักท่องเที่ยวจีนไม่เดินทางย่อมส่งผลให้ “ธุรกิจท่องเที่ยว”ทั้งระบบได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมถึงธุรกิจอื่นๆที่โดนผลกระทบเป็นลูกโซ่ กันระนาว ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการบิน นำเข้าส่งออกก็ล้วนตกอยู่ในภาวะเสี่ยงด้วยกันทั้งนั้น
Logistics Time ขอให้พื้นที่นี้สะท้อนผลกระทบจากไวรัสโควิด-19ต่อธุรกิจการบิน-ท่องเที่ยว-นำเข้าส่งออกและข้อเสนอแนะจากผู้ประกอบการ ตลอดถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภาครัฐ ดังนี้
ภูเก็ตน่าห่วง!รถบัสนำเที่ยวจอดสนิทกว่า 1.2พันคัน
นายวิพงศ์ศักดิ์ มงคลบุตร ผู้ประกอบการรถบัส 30 สำหรับให้บริการรับส่งนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาเป็นกรุ๊ป กล่าวว่า ทางรถบัส 30 ได้รับผลกระทบนับตั้งแต่ทางการจีนประกาศห้ามไม่ให้พลเมืองของเขาเดินทางออกนอกประเทศ โดยเฉพาะที่เดินทางกันมาเป็นกลุ่มใหญ่ๆเฉพาะตั้งแต่ 27 มกราคมเป็นต้นมา ทางเอเย่นทัวร์ได้ทยอยแจ้งยกเลิกการนำนักท่องเที่ยวเข้ามา ทำให้รถบัสที่ให้บริการรับส่งนักท่องเที่ยว จำนวน ประมาณ 1,200 คัน ต้องจอดนิ่ง เนื่องจากไม่มีงานทำ
“สิ่งที่อยากให้หน่วยงานรัฐ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนของผู้ประกอบการ ต้องการให้ภาครัฐเข้าไปคุยกับสถานบันการเงิน โดยเฉพาะไฟแนนท์ พักชำระหนี้อย่างต่ำ 6 เดือน ส่วนของพนักงานขับรถ ได้เข้ามาดูแลและหาแนวทางในการเยียวยา เนื่องจากเขามีภาระที่ต้องรับผิดชอบครอบครัวและอื่นๆ เมื่อไม่มีงานทำลำบาก เช่น ประกันสังคม เป็นต้น”
นายวิพงศ์ศักดิ์ ย้ำด้วยว่า ขณะนี้ได้มีการประสานไปยังสมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย (สปข.) ที่กรุงเทพฯ เพื่อรวบรวมเอกสารผู้ประกอบการรถบัสที่รับส่งทัวร์จีนในจังหวัดภูเก็ตที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนาไปยื่นให้กับทาง สปข. เพื่อนำปัญหาทั้งหมดเสนอไปยังคณะรัฐมนตรีได้รับทราบปัญหาของผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต และจะได้ช่วยหาแนวทางการช่วยเหลือต่อไป
สมาคมฯรถทัวร์ 30 ขอรัฐช่วยเหลือด่วน
ดร.วสุเชษฐ์ โสภณเสถียร นายกสมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย (สปข.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ไวรัสโควิด-19ที่กำลังแพร่บาดไปทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอย่างมาก และคาดว่าจะส่งผลต่อไปในระยะยาว สมาคมฯ จึงได้ทำการสำรวจผลกระทบวิกฤตไวรัสดังกล่าวจากสมาชิกของสมาคมฯ ซึ่งประกอบธุรกิจรถเช่าโดยสารเพื่อการท่องเที่ยว อันเป็นธุรกิจหนึ่งในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการเดินทางของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย อีกทั้งได้รับผลกระทบจากวิกฤตนี้
“ผลการสำรวจจากสมาชิกของสมาคมฯ จำนวน 350 บริษัท ได้รับผลกระทบในการประกอบธุรกิจจากการถูกยกเลิกหรือเลื่อนการเดินทางของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่ท่องเที่ยวในประเทศไทยมากถึง 100% ส่งผลให้มีจำนวนรถโดยสารไร้งานทำมากถึง 7,500 คัน และมีพนักงานขับรถและเจ้าหน้าที่อีก 12,500 คนที่ขาดรายได้ ซึ่งสูญเสียรายได้คิดเป็นเดือนละ 750 ล้านบาท”
ดร.วสุเชษฐ์ ระบุอีกว่าสมาคมฯจึงส่งหนังสือถึงนายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อขอรับการสนับสนุน อันเนื่องจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 รวมทั้งช่วยแก้ปัญหาเบื้องตัน โดยเป็นการแก้ไขปัญหาในเรื่องฝุ่น PM 25 ในเขตกรุงเทพฯ และช่วยเหลือผู้ประกอบการรถขนส่งไปพร้อมๆ กัน
“อันดับแรกให้หน่วยงานของรัฐฯใช้รถโดยสารสาธารณะในการ รับ-ส่ง ข้าราชการพนักงาน เดินทางมาปฏิบัติงานแทนการใช้รถยนต์ส่วนตัวงบประมาณ 18 ล้านบาทต่อเดือน จำนวน 3 เดือน เป็นเงินจำนวน 54 ล้านบาท แ ละถัดมาส่งเสริมให้แรงงานต่างด้าวในประเทศ เดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดใกล้เคียง โดยใช้รถโดยสารสาธารณะ ซึ่งภาครัฐฯ ให้การสนับสนุนงบประมาณ 32 ล้านบาทต่อเดือน จำนวน 3 เดือนเป็นเงินจำนวน 96 ล้านบาท รวม 2 โครงการเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 150 ล้านบาท”
ททท.คลอดบิ๊กแพ็กเกจฟื้นท่องเที่ยว
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย.เปิดเผยว่า ททท.ได้เสนอมาตรการแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วน ด้วยการใช้การสื่อสารเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยทุกหน่วยงานจะต้องสื่อสารเนื้อหาให้เป็นทิศทางเดียวกันในลักษณะข้อความเกี่ยว (Single message) คือการแสดงออกถึงความห่วงใย ให้ความสําคัญกับสุขภาพและความปลอดภัยของคนไทยมาเป็นลําดับแรก ขณะเดียวกันเราไม่ลืมที่จะแสดงความเห็นใจไปยัง ผู้ที่ได้รับผลกระทบบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงจากกระทรวงสาธารณสุข
“ททท.ได้เสนอมาตรการฝ่าวิกฤตไวรัสโควิด-19ด้วยกาการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการในภาวะวิกฤติ รวมถึงการเสริมสภาพคล่องทางการเงิน เช่น การลดอัตราดอกเบี้ย การให้ผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อ และลดเงื่อนไขการเข้าถึงแหล่งทุน การค้ำประกัน การปรับ โครงสร้างหนี้ และมาตรการทางด้านภาษี ขณะเดียวกันจะต้องมีมาตรการสร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นการท่องเที่ยว Safety & Healthy ให้ผู้ประกอบการดูแลความสะอาด ทุก touch point โดยปฏิบัติตามคําแนะนําของกรมควบคุมโรค”
3 แบงก์ปล่อยซอฟท์โลน 1.23 แสนล้านอุ้มท่องเที่ยว
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติ 4 ก.พ.63 เห็นชอบมาตรการการเงินการคลังเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยว ปี 2563 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ทั้งมาตรการด้านภาษีเป็นต้นว่าขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษี ให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามประมวลรัษฎากร ภ.ง.ด. 90 และ ภ.ง.ด. 91 ซึ่งจะต้องยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีภายในเดือนมีนาคมของปี 2563 ให้ขยายกำหนดเวลาดังกล่าวออกไปเป็นภายในเดือนมิถุนายนของปี 2563
“มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่ง หรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการอบรมสัมมนาภายในประเทศที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้จัดขึ้นให้แก่ลูกจ้าง หรือรายจ่ายที่ได้จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เพื่อการอบรมสัมมนาภายในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 เป็นจำนวน 2 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง”
“ส่วนมาตรการด้านการเงินนั้น สถาบันการเงินของรัฐต่างๆ เช่น ธนาคารออมสิน เอสเอ็มอีแบงก์ และธกส.มีการดำเนินมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเงื่อนไขผ่อนปรน และการขยายเวลาชำระหนี้และค่าธรรมเนียม เพื่อเป็นเงินทุนสำหรับเสริมสภาพคล่องและปรับปรุงสถานประกอบการ สำหรับผู้ประกอบการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโคโรนา รวมถึงเพื่อแบ่งเบาภาระของผู้ประกอบการในช่วงที่ได้รับ ขณะที่มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเงื่อนไขผ่อนปรน ของธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) วงเงินรวม 123,000 ล้านบาทดอกเบี้ยเริ่มต้นร้อยละ 3 ต่อปี”
นายลวรณ ย้ำว่ากระทรวงฯคาดมาตรการการเงินการคลังข้างต้นจะช่วยกระตุ้นภาคธุรกิจการท่องเที่ยว ปี 2563 ในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยจะช่วยเสริมสภาพคล่องและแบ่งเบาภาระให้ผู้ประกอบการ ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น สนับสนุนการปรับปรุงกิจการโรงแรม ซึ่งจะมีส่วนเป็นการ จูงใจนักท่องเที่ยวให้เกิดการท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น รวมถึงบรรเทาผลกระทบให้แก่อุตสาหกรรมการบินในประเทศไทย
การบินระส่ำ!ผดส.ลดเหลือวันละ 1.4 แสนคน
นาวาอากาศโท สุธีรวัฒน์ สุวรรณวัฒน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ส่งผลกระทบต่อยอดนักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านสนามบินสุวรรณภูมิ เฉพาะเดือน ก.พ.63 ผู้โดยสารปรับลดเหลือวันละ1.4 แสนคนหรือปรับลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนมากถึง 30% หรือลดลงวันละ 6 หมื่นคน เนื่องจากนักท่องเที่ยวในภูมิภาค เช่น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น เริ่มชะลอการเดินทาง ทั้งนี้หากปัญหาดังกล่าวยื้อเยื้อไปจนถึงเดือน เม.ย.นี้ คาดว่าอัตราการเติบโตของผู้โดยสารจะโตเท่ากับปีก่อนประมาณ 3
ขณะที่ทอท.ก็แจ้งว่าปัญหาการแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 ได้ส่งผลกระทบทำให้สายการบินที่ทำการบินผ่านสนามบินสุวรรณภูมิ ระหว่างว 24 ม.ค.- 13 ก.พ.63 หรือในช่วง 21 วัน ได้แจ้งขอยกเลิกการทำการบิน รวม 2,762 เที่ยวบิน หรือคิดเป็นยกเลิกเฉลี่ย132 เที่ยวบิน/วัน
ส่วนบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) แจ้งว่า หลังจากรัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศเตือนประชาชนให้ชะลอการเดินทางมายังประเทศไทย และประเทศในกลุ่มเสี่ยงการแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 พบว่า ยอดการจองตั๋วโดยสารเส้นทาง กรุงเทพฯ-โซล และโซล-กรุงเทพฯ ปรับลดลงมากถึง 30% ดังนั้นการบินไทยจึงตัดสินใจประกาศยกเลิกเที่ยวบินเส้นทางไปกลับ กรุงเทพฯ-โซล 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 2 เดือน ระหว่างวันที่ 26 ก.พ.- 28 มี.ค.63
ส่งผลให้จำนวนเที่ยวบินเส้นทางไปกลับ กรุงเทพฯ-โซล ของการบินไทย ปรับลดลงจาก 25 เที่ยวบิน/สัปดาห์ เป็น 21 เที่ยวบิน/สัปดาห์ ขณะเดียวกันเวลานี้นักท่องเที่ยวจากญี่ปุ่นก็เริ่มชะลอการเดินทางมาไทย การบินไทยจึงอยู่ระหว่างพิจารณา คาดว่าจะประกาศยกเลิกเที่ยวบินบางส่วนด้วย เนื่องจากยอดจองลดลงต่อเนื่องเช่นกัน
นอกจากการบินไทยจะประกาศยกเลิกเที่ยวบินกรุงเทพฯ-โซลแล้ว สายการบินสัญชาติเกาหลีใต้หลายสายการบินที่ทำการบินในไทย ยังเริ่มยกเลิกทำการบินเที่ยวบิน เส้นทางกรุงเทพฯ-เกาหลีใต้แล้ว ซึ่งประกอบด้วย สายการบิน Eastar Jet , สายการบิน jeju เป็นต้น
ส่งออกเซ่นพิษไวรัส คาดโต 0 -1
ขณะที่ธุรกิจนำเข้า-ส่งออกไทยก็สาหัสไม่แพ้กัน โดยไทยมีการส่งออกไปจีนคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 11.8% จากการส่งออกไปทั่วโลก แต่สถานการณ์ปัจจุบันที่ศุลกากรยังไม่อนุญาตให้เคลียร์สินค้าเข้าประเทศจีน ทำให้สินค้าคงค้างอยู่ท่าเรือปลายทาง จึงกระทบต่อการส่งออกของไทยในระยะสั้น ขณะเดียวกัน กลุ่มคนที่นำเข้าสินค้าจากจีน เช่น รับพรีออร์เดอร์ ขายของออนไลน์ ซื้อสินค้าจากจีนมาขาย ช่วงนี้ก็ต้องขาดรายได้ไป เพราะไม่สามารถสั่งสินค้าจากจีนได้เช่นกัน
ขณะที่ น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยหรือ สรท.เปิดเผยว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโค วิด-19จะทำให้การส่งออกของไทยไตรมาส 1/2563 ติดลบ 0.87% หรือเม็ดเงินหายไปประมาณ 2,000 ล้านบาท อีกทั้งยังลุ้นให้รัฐบาลจีนโดยเฉพาะที่เมืองอู่ฮั่นจะเปิดเส้นทางขนส่งทั้งทางบก น้ำ และอากาศ เนื่องจากขณะนี้เรือขนส่งสินค้าของไทยไม่สามารถส่งสินค้าเข้าจีนได้ ทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบโดยเฉพาะสินค้าที่เป็นของสด
“ภาพรวมการส่งออกของไทยปี 2563 สรท.ยังประเมินว่าจะกลับมาขยายตัว 0-1% จากปัจจัยบวกคือ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19ที่อาจจะทำให้ไทยได้รับอานิสงส์สำหรับ Spot Shipment จากลูกค้าจีนที่หันมานำเข้าสินค้าหรือวัตถุดิบจากไทย ขณะที่ค่าเงินบาทคาดว่าจะอ่อนค่าลงเล็กน้อยเป็นโอกาสดีระยะสั้นสำหรับผู้ประกอบการส่งออกในการประมาณซื้อ forward rate ได้ชัดเจนขึ้นและช่วยดึงให้นักท่องเที่ยวชาติอื่นเข้ามาเพิ่มขึ้นทดแทนนักท่องเที่ยวจีน ส่วนสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ หลังลงนามความตกลงระยะแรกส่งผลดีต่อบรรยากาศการค้าระหว่างประเทศให้ผ่อนคลายมากขึ้น”
ประธานสรท.ย้ำว่าการแพร่ระบาดของไวรัสที่จะทำให้ภาคการท่องเที่ยวของไทยเม็ดเงินหายเกือบแสนล้านบาท การลงทุนและการส่งออกของไทยระยะสั้นจะได้รับผลกระทบเพราะส่งออกไปจีนไม่ได้ รวมทั้งกรณีบาทแข็ง ปัญหาภัยแล้งที่คาดว่าจะรุนแรงกว่าปีก่อน และความล่าช้าในการผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563
หากสถานการณ์ยังยืดเยื้อไม่สามารถสกัดเจ้าไวรัสร้ายนี้ได้ ถือเป็นเชื้อไวรัสร้ายเขย่าขวัญและคุกคามมวลมนุษยชาติอย่างแท้จริงในแง่มุมอารมณ์ความรู้สึก อีกทั้งยังกระทืบซ้ำเศรษฐกิจโลกอย่างแท้จริง ก็ได้แต่หวังว่าจะสกัดไว้ได้ในเวลาอันใกล้นี้
มิเช่นนั้นโลกกลมๆใบนี้ถึงคราปั่นป่วนเป็นแน่แท้!