กลายเป็นประเด็นร้อนที่สังคมโหมวิจารณ์หนักต่อนโยบายการใช้ยางพาราในงานความปลอดภัยทางถนนกับแบริเออร์และเสาหลักนำทางยางพาราภายใต้ไอเดียสุดบรรเจิดของเสนาบดีคมนาคม“ศักดิ์สยาม ชิดชอบ”เทงบประมาณผูกมัด 3ปีรวมกว่า 8.5 หมื่นล้านบาท ย่อยเป็นของกรมทางหลวง(ทล.) กว่า 7.7หมื่นล้านบาท และกรมทางหลวงชนบท (ทช.)อีกกว่า 8 พันล้านบาท
พุ่งชนเป้าหมายลดความรุนแรงจากอุบัติเหตุ ลดความสูญเสียชีวิต-ทรัพย์สินของประชาชนผู้สัญจรบนทางหลวง และผลักดันการใช้ยางพาราภายในประเทศในหน่วยงานภาครัฐเพิ่มมากขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและเพิ่มเม็ดเงินให้พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
ด้วยเม็ดเงินมหาศาลกว่า 8.5 หมื่นล้านผูกพันงบประมาณแผ่นดิน 3 ปีรวดและยังพันเกี่ยวเลี้ยวลดกับหลายหน่วยงาน ไม่แปลกประหลาดอะไรที่สังคมจะพากันกังขากับโครงการสวยหรูดังกล่าวจะโปร่งใสหรือไม่? จะเกิดมหกรรมโกงกินจากมือที่มองไม่เห็นงาบค่าหัวคิวตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำเหมือนอย่างหลายโครงการสุดอัปยศในอดีตหรือไม่? คุ้มค่าได้มาตรฐานกับงบประมาณที่ทุ่มลงไปหรือไม่?
แล้วที่อ้างกันนักหนาเป็นการเพิ่มเม็ดเงินให้พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น เอาเข้าจริงแล้วเม็ดเงินหรือเรียลประโยชน์จะตกถึงท้องพี่น้องสวนยางจริงๆจะเหลือสักกี่บาทกันแน่? หรือจะไปตกอยู่กับพวกพ่อค้าคนกลางหรือนายหน้าหน้าเงินเล่ห์เหลี่ยมจัดอะไรพันธุ์นั้นกันแน่?
ไม่รอช้าให้ข้อกังขาสังคมถูกกระชากลากโยงไปไหนต่อไหน เจ้ากระทรวงหูกวาง“ศักดิ์สยาม ชิดชอบ”ออกโรงให้ไขกระจ่างทุกข้อกังขาของสังคมด้วยตัวเอง
ซื้อตรงจากสหกรณ์ฯ ไม่ผ่านนายหน้าคนกลาง
รมว.คมนาคม เผยวันนี้ (26 พ.ค.) กระทรวงฯเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบให้ใช้วิธีการจัดซื้อแบริเออร์หุ้มยางพารา (Rubber Fender Barriers)โดยวิธีเฉพาะเจาะจงเพื่อให้กรมบัญชีกลางบรรจุลงรายละเอียดต่อไป รวมถึงพิจารณา (ร่าง) ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่างกระทรวงคมนาคมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “กำหนดให้เกษตรกรเป็นผู้จำหน่ายและผลิตโดยตรงให้กับกรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.)เองโดยไม่ผ่านบริษัทอื่นๆ หรือนายหน้าใดๆทั้งสิ้น”
เบื้องต้นมีชุมนุมสหกรณ์ผู้ผลิตยางพารา 8 แห่งที่มีความพร้อมดำเนินการและจะขยายไปยังสหกรณ์อื่นๆ ทั่วประเทศเมื่อ ครม. เห็นชอบแล้วจะเปิดให้สหกรณ์ทั่วประเทศเข้าสู่การเปิดประกวดราคาได้ เพื่อทำสัญญาซื้อตรงกับสหกรณ์ทันทียืนยันขั้นตอนการดำเนินการต่างๆ“โปร่งใส” และยืนยันด้วยว่าจะไม่มีการรื้อเกาะกลางและเสาหลักของเดิมแน่นอนจะใช้กับโครงการใหม่เท่านั้น
ได้มาตรฐานสากลโลกด้านความปลอดภัย
เจ้ากระทรวงหูกวาง แจงอีกว่าโครงการดังกล่าวเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง เพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนน เนื่องจากแบริเออร์หุ้มยางพาราผ่านการทดสอบมาแล้วจากทั้งในประเทศและประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นสถาบันระดับโลกที่มีมาตรฐานด้านความปลอดภัย
ทว่า ไม่ทราบเจ้ากระทรวงหลงลืมอะไรหรือไม่? เห็นท่านสาธยายแต่แบริเออร์หุ้มยางพาราอย่างเดียว แล้วไอ้เสาหลักนำทางยางพาราที่อวดอ้างสรรพคุณหนักหนาว่าลดความรุนแรงจากอุบัติเหตุ ลดความสูญเสียชีวิต-ทรัพย์สินของประชาชนผู้สัญจรบนทางหลวงอะไรทั้งหลายแหล่น่ะ“ได้ผ่านกระบวนการทดสอบหรือวิจัยการทดลองแล้วหรือยังก่อนจะคลอดออกเป็นนโยบายกรุยทางสู่แนวทางการดำเนินการให้เกิดเป็นรูปธรรม”
งบประมาณคุ้มค่า เงินถึงมือพี่น้องสวนยาง 70 %
ส่วนประเด็นข้อสงสัยการใช้งบประมาณคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพสูงสุดแค่ไหน? เงินจะตกถึงท้องเกษตรกรสักกี่บาทเชียว? ท่านรมต.จอมไอเดียกระฉูกแตก ยืนยันการดำเนินงานโครงการดังกล่าวมีประสิทธิภาพการใช้งบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมกับหยิบยกวิธีดำเนินการในอดีตมาเป็นข้อเปรียบเทียบว่า
“เนื่องจากวิธีดำเนินการในอดีตหากใช้งบประมาณ 100 บาท เงินถึงมือเกษตรกรเพียง 5.1 บาท หรือ 5.1% เท่านั้น แต่วิธีที่กระทรวงคมนาคมดำเนินการ เรื่องแบริเออร์หุ้มยางพาราและเสาหลักนำทา หากใช้งบประมาณ 100 บาท เงินจะถึงมือเกษตรกรชาวสวนยางประมาณ 70 บาทขึ้นไป หรือ 70%”
โอ้ววว!เห็นตัวเลขที่ท่านรมต.หยิบยกมาเปรียบเทียบกับวิธีดำเนินการในรอยอดีตหากมีการใช้งบประมาณ 100 บาทกับโครงการต่างๆ เงินจะตกถึงมือพี่น้องเกษตรกรเพียงแค่ 5.1 บาทเท่านั้น แล้วอีก 95 บาทล่ะมันหายและไหบไปเข้ากระเป๋าใครมั่ง?สะท้อนชัดว่าบ้านเมืองเรานี้ถูกใครต่อใครสูบกินเงินงบประมาณแผ่นดินสนุกสนานบานตะไทยแค่ไหนแล้ว?
อนิจจา!ประเทศชาติย่อยยับและสูญเสียงบประมาณไปมากต่อมากเท่าไหร่แล้ว?…คิดตรองดูล่ะกันเถอะพี่น้อง!
หากทำได้! สถิติเกิดอุบัติเหตุไทยติดอันดับโลกหายไปเลย
รมต.คมนาคม ย้ำอีกว่าจะนำร่องติดตั้งในจุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยๆก่อนเพื่อเก็บสถิติอุบัติเหตุว่าสามารถลดลงหรือเมื่อเวลาเกิดอุบัติเหตุแล้วไม่รุนแรงได้หรือไม่ โดยจากผลการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าสถิติเรื่องอุบัติเหตุลดลงเมื่อมีการชนแล้วแบริเออร์หุ้มยางพาราไม่แตก พร้อมมีแรงเหวี่ยงช่วยให้รถไม่พลิกคว่ำ รวมทั้งรถคันหลังที่วิ่งตามมาจะไม่ชนแรงด้วย
“หากทำได้จริงจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ปัจจุบันไทยมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุอยู่อันดับ 9 ของโลกอาจจะทำให้สถิติของไทยหายไปเลย”
แหม่ะ!เห็นข้อชี้แจงแถลงไขข้อกังขาสังคมแล้วก็น่าทึ่งและสุดสะพรึงในรายละเอียดยิ่งนัก เหนือเหตุผลและความเข้าใจใดๆจากนี้ไป…ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจและมุมมองอันหลากหลายของพี่น้องประชาชนล่ะกันจะแตกซ่านกระเซ่นไปในแง่มุมไหน?เหตุและผลที่เจ้ากระทรวงออกโรงแจงยิบจะมีน้ำหนักพอให้ประชาชนได้เข้าใจและยอมรับได้หรือไม่?บทสุดท้ายในปฏิบัติการจริงจะออกมาเหมือนหนังที่ฉายเป็นตัวอย่างหรือไม่?
….ขอละไว้ในฐานที่เข้าใจล่ะกันครับท่านรัฐมนตรี!