“ฟ้าหลังฝนย่อมสดใสเสมอ”ยังเป็นคำกล่าวค้ำจุนจิตใจผู้คนในยามเผชิญวิกฤติได้ดีเสมอ เช่นเดียวกับวิกฤติโควิด-19 ที่พ่นพิษใส่เศรษฐกิจไทย-โลกจนงามพระราม แม้มวลพายุวิกฤติครั้งนี้ใหญ่นี้ดูท่าจะอ่อนกำลังลงไปบ้างแล้ว จำนวนผู้ติดเชื้อ-ผู้เสียชีวิตที่ลดลงจนเหลือศูนย์ฟากรัฐบาลเริ่มคลายล็อกดาวน์ไปแล้วถึงระยะที่ 2
ทว่า พิษร้ายจากไวรัสโควิด-19 ได้ทิ้งความบอบช้ำทางเศรษฐกิจทั้งมหภาคและจุลภาคไว้อย่างสาหัสสากรรจ์ ยังไม่นับรวมผลกระทบทางสังคมที่บอบช้ำไม่แพ้กัน หลายภาคส่วนเริ่มเตรียมการถึงความพร้อมในการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่บอบช้ำและรับมือความท้าทายหลังวิกฤติโควิด-19 ผ่านไปให้พลิกฟื้นกลับมาเหมือนเดิม
หลังจากนี้ไปถือช่วงเวลาที่ท้าทายอย่างมากสำหรับธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ นอกจากต้องปรับตัวเข้าสู่วิถีความปกติใหม่ (New Normal) แล้ว ยังต้องมองหาช่องทางหรือรูปแบบของธุรกิจใหม่ๆ เพื่อเตรียมพร้อมรับความเสี่ยงหากต้องเผชิญโรคนี้ไปอีก 2-5 ปีตามที่มีมีคาดการณ์ไว้รวมถึงวิกฤติอื่นๆในอนาคตด้วย
คำยอดฮิตเมื่อสถานการณ์วิกฤติเริ่มคลี่คลายแล้ว ประเทศไทยเราต้องใช้เวลาฟื้นฟูธุรกิจกี่ปี? นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)และประธานสายงานส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรม สะท้อนมุมมองในเรื่องนี้ว่า เราต้องอยู่กับโควิด-19ไปอีกพักใหญ่เพราะยังไม่รู้จะค้นพบวัคซีนได้เมื่อไหร่ เมื่อค้นพบแล้วจะเพียงพอต่อการแจกจ่ายไปทั่วโลกแค่ไหน และเมื่อคลี่คลายแล้วก็ต้องใช้เวลาฟื้นฟูความเชื่อมั่น ฟื้นฟูธุรกิจให้กลับมาสู่ภาวะปกติองใช้เวลานานอย่างน้อย 1-2 ปี
“การกลับมาฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาดังเดิมไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเวลานี้หลายประเทศเผชิญภาวะคนตกงาน ขณะที่ประเทศไทยก่อนหน้านี้คณะกรรมการร่วมภาครัฐเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ระบุถ้าควบคุมการแพร่ระบาดขไวรัสโควิด-19ได้ภายในปลายเดือนมิถุนายนนี้ก็จะมีคนตกงานราว 7 ล้านคน แต่ถ้ายืดเยื้อไปถึงเดือนกันยายนและเดือนตุลาคมปี 2563 คนตกงานก็จะเพิ่มเป็น 10 ล้านคน และกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวจะต้องเกิดการสร้างงานก่อน ซึ่งจะต้องใช้เวลาหลายเดือนอาจนานเป็นปีกว่าจะฟื้นฟูไปสู่ภาวะปกติได้”
พึ่งพาตัวเองมากขึ้น ส่งเสริมสินค้าไทย
รองประธานสภาอุตฯ ระบุอีกว่าสำหรับประเทศไทยโครงสร้างรายได้กว่า 70% พึ่งพาการส่งออก และ 12% พึ่งพาภาคท่องเที่ยว เฉพาะ 2 ส่วนนี้เราต้องพึ่งพาทั่วโลกมากถึง 80% ในแง่การผลิตเมื่อวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนบางอย่างต้องนำเข้าทำให้สายพานการผลิตสดุดลง การอาศัยฐานการผลิตนอกบ้านทำให้การผลิตในประเทศไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ ทั้งที่มีออเดอร์เข้ามา ช่วงโควิด-19 ระบาดไทยจะต้องนำเข้าชิ้นส่วนต่างๆที่ผลิตจากจีนแผ่นดินใหญ่มากถึง 20%
“ตรงนี้เองจะเห็นว่าถึงแม้ไทยมีการส่งออกสินค้าไปจีน 12% แต่ไทยก็นำเข้าจากจีน 21% ในช่วงวิกฤติโควิดจะเห็นว่าอุตสาหกรรมที่เราเคยขายดี พอจีนปิดโรงงานเราก็ไม่สามารถผลิตได้ เพราะต้องพึ่งการนำเข้าชิ้นส่วนจากจีนทำให้ไทยเสียโอกาส ดังนั้นเชื่อว่าหลายภาคส่วนด้านการผลิตต้องใช้บทเรียนช่วงนี้มาทบทวนว่าเราต้องหันกลับมาพึ่งพากันเองในประเทศมากขึ้น”
นอกจากนี้ ต้องมุ่งเน้นหลักการพึ่งพาตนเองเป็นหลักโดยเฉพาะนโยบายผลิตและใช้ของไทย ส่วนนี้ถ้าผู้ประกอบการทำได้เท่ากับว่าเป็นการสร้างแบรนด์เป็นของตัวเองด้วยในระยะยาว และไทยจะได้หลุดพ้นจากคำว่าโออีเอ็มที่ได้ประโยชน์แค่เพียงค่าแรงงานเท่านั้น อีกทั้งยังเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างควรมีการเน้นการซื้อและใช้สินค้าในประเทศไทยเป็นหลักก่อน
ฟอร์มทีมฟื้นฟูโควิด-19
รองประธานสภาอุตฯ กล่าวอีกว่ากรณีตัวอย่างอเมริกาออกมาเคลื่อนไหวบอกว่าจีนต้องชดใช้ความเสียหายจากการปล่อยเชื้อโควิด โดยการเก็บภาษีอากรขาเข้าจากจีนสูงขึ้นกับสินค้าที่จีนส่งไปยังอเมริกา จากกรณีนี้ทำให้ส.อ.ท. ต้องรับมือโดยการตั้งคณะอนุกรรมการฟื้นฟูโควิด-19 ขึ้นมาโดยมีตนนั่งเป็นประธานชุดนี้ ซึ่งก็ต้องรับมือตรงนี้เพื่อปรับไปสู่Localization หรือการพึ่งพาตัวเองให้มากขึ้น
“เบื้องต้นได้เชิญประธาน 11 กลุ่มคลัสเตอร์ที่ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อมาทำแผนยุทธศาสตร์ร่วมกัน เช่น ไปดูเรื่องการย้ายฐานการผลิต ดูเรื่องการพึ่งพาการใช้สินค้าภายในประเทศ รวมถึงการโยกย้ายคนข้ามบริษัทเพื่อช่วยแรงงานที่ว่างงานชั่วคราว และดูเรื่องการปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ เป็นต้น”
ไทยเนื้อหอมดูดนักลงทุนทั่วโลก
อย่างไรก็ดี รองประธานสภาอุตฯ ย้ำทิ้งท้ายว่าต่อไปจะเกิดการค้าขายในระดับภูมิภาคมากขึ้นในCLMV และไทย รวมถึงตลาดไทยและอาเซียนรวมตลาดที่มีกำลงซื้อ 650 ล้านคนการที่เราหันมาพึ่งพาตัวเองในประเทศมากขึ้นบวกกับการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19ได้ดีเมื่อเทียบกับหลายประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งนั้นก็ยิ่งจะเป็นโอกาสทองที่ช่วยหนุนให้ประเทศไทยกลับมาเป็นฮับในหลายอุตสาหกรรมมากขึ้น
“โดยเฉพาะการบูมด้านสุขภาพและเครื่องมือแพทย์ที่จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการมากขึ้น ขณะเดียวกันคาดว่าหลังวิกฤติครั้งนี้นักลงทุนจากจีนแผ่นดินใหญ่จะโยกย้ายเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้นด้วยเหตุผลที่ไทยเราบริหารจัดการการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ได้ดีมากระดับโลกทั้งที่เราเป็นประเทศเล็กๆกำลังพัฒนา ทำให้เป็นที่น่าจับตามองจากนักลงทุนจากทั่วโลกที่น่าลงทุนมากที่สุดของโลก ทั้งหมดทั้งมวลน่าจับตามองเหตุการณ์หลังโควิด-19 อาจเป็นโอกาสของไทยครั้งสำคัญอีกครั้งก็ได้ในแง่การลงทุนและการย้ายฐานการผลิต”