ยังเป็นข้อกังขาสังคมไม่จบสิ้นสำหรับแนวทางปฏิบัติจากการตั้งด่านตรวจของเจ้าหน้าที่ตำรวจบนถนนหลวงแผ่นดินทั่วทิศทั่วไทย สุดท้ายแล้วเป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อบังคับใช้กฎหมายกับพี่น้องประชาชนในฐานะผู้ถูกบังคับใช้กฎหมายโดยความสุจริต เที่ยงธรรม และเสมอภาคหรือไม่?
หรือมีวาระซ่อนเร้นโดยอ้างการตั้งด่านและข้อกฎหมายบังหน้า มุ่งแต่จับผิดประชาชนและให้เสียค่าปรับโดยไม่มีการผ่อนปรนว่ากล่าวตักเตือนประชาชน จนตกเป็นจำเลยสังคมเรื่อง“ตำรวจหากินกับค่าปรับ”และถูกถูกแฉรายวันตามสื่อโซเชียลรายวัน ทั้งเรียกรับผลประโยชน์ ขมขู่ กลั่นแกล้ง และยัดข้อหาประหลาด
โดยเฉพาะปมชาวบ้านส่วนใหญ่ที่โดนจับมักเกิดขึ้นกับการตั้ง “ด่านลอย”ที่ถูกสังคมตราหน้าว่าเป็นการตั้งด่านตรวจที่ไม่ถูกต้อง มีตำรวจซุ่มอยู่ใต้ต้นไม้ มุมตึก หลบอยู่ข้างทางเข้าจับกุมคนใช้รถ ชนิดที่เรียกจับกันแบบซึ่ง ๆหน้า สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ใช้รถ-ถนน โดยเฉพาะคนขับรถบรรทุก-ผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถบรรทุก
กับคำถามพวกเขาคาใจและมองว่าเป็นผู้ถูกกระทำจากการตั้งด่านตรวจโดยไม่สุจริต เที่ยงธรรม และเสมอภาค หรือไม่?
ใช้อำนาจอะไรตั้งด่านบนทางหลวงแผ่นดิน
ดร.ทองอยู่ คงขันธ์ ที่ปรึกษาสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย สะท้อนมุมมองในปมร้อนนี้ว่าก่อนอื่นต้องขอเกร่นถึงด่านตรวจ จุดตรวจ และจุดสกัด ที่ประชาชชนทั่วไปยังสับสนอยู่ ผมขอเล่าคร่าวล่ะกันด่านตรวจเป็นเรื่องความมั่นคง จุดตรวจว่าไปตามบริบทกฎหมาย ส่วนจุดสกัดมองเป็นเรื่องเฉพาะหน้าเร่งด่วน แต่ที่เป็นปัญหาสำหรับภาคขนส่งทางบกก็คือว่าการตั้งด่านตรวจ และจุดตรวจที่ไม่เป็นด่านความมั่นคง ที่ได้รับอนุมัติจาก ครม. หรือผู้มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวง หรือ กอ.รมน. หรือด่านประเภทอื่นๆ มันได้สร้างภาระให้กับพี่น้องประชาชนที่ใช้ถนนหนทาง หรือในกลุ่มพวกเราก็พวกรถบรรทุก
“บางส่วนเรามองว่าเป็นการรอนสิทธิเสรีภาพประชาชนของการสัญจรตามรัฐธรรมนูญว่าด้วยบุคคลที่เป็นสัญชาติไทยสามารถเดินทางไปไหนโดยเสรีภาพ แต่ในบางช่วงบางจังหวัดที่มีการตั้งด่านเราถูกรอนสิทธิ และยังมีปัญหาอื่นๆตามมาจากการไปรอนสิทธิพี่น้องประชาชน ก็คือการตั้งด่านโดยไม่สุจริตที่เราพากันเรียกด่านลอยหรือด่านตีไก่ ที่เจ้าหน้ารัฐไปหลบอยู่ตามสุ่มพุมไม้ เสาไฟฟ้า ข้างทาง แล้วก็โผล่มาในปัจจุบันทันด่วนจากการใช้สัญญาณไฟ หรือมืออะไรก็แล้วแต่”
ดร.ทองอยู่ ระบุอีกว่าสิ่งเหล่านี้เป็นต้นสิ่งที่สังคมตั้งคำถามกับการตั้งด่านของตำรวจบนทางหลวงแผ่นดินที่ถกเถียงกันมากที่สุด และก็ไม่มีเจ้าหน้ารัฐที่เกี่ยวข้องไหนสามารถคลายข้อสงสัยได้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะตำรวจเขามีอำนาจหรือหน้าที่อะไรไปตั้งด่านต่างๆบนทางหลางแผ่นดิน
ป่วนระบบขนส่งและโลจิสติกส์
ดร.ทองอยู่ยังสะท้อนข้อคิดผลกระทบที่มีต่อภาคขนส่งด้วยว่าเรื่องต่อไปที่เราอยากจะถามก็คือการตั้งด่านมันสร้างปัญหาให้กับระบบขนส่งและโลจิสติกส์ของประเทศ โดยเฉพาะการขนส่งทางถนนที่เราคิดว่าเราน่าจะได้รับความสะดวกในการเดินทางและขนส่งสินค้าไปสู่ปลายทางเท่าที่ควรจะเป็น ให้สมดุลกับต้นทุนโลจิสติกส์ที่แข่งขันกันด้วยความรวดเร็ว หากมีด่านตรวจต่างๆระหว่างทาง และไม่ใช่แค่ด่านเดียวด้วย ด่านใหญ่ ด่านเล็ก ด่านควันดำ สารพัดด่าน เหล่านี้ย่อมเป็นอุปสรรคในการเดินทางให้ถึงจุดหมายปลายช้า
“ขณะที่เรื่องความปลอดภัยของพนักงานขับรถที่ก็ขาดความเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐตามด่านตรวจ มันเกิดความระแรงไปหมด เพราะไม่รู้ว่าจะถูกยัดหาอะไรเพิ่มเติมจากข้อหาว่าด้วยความผิดกฎจราจรโดยธรรมชาติภาพลักษณ์ตำรวจมันติดลบอยู่แล้วในสายตาประชาชน เพราะเรามองว่าคุณเป็นนักล่าสินบนนำจับ ต้องเข้าใจคำว่าสินบนหมายถึงให้กับคนชี้เป้า ส่วนรางวัลนำจับให้กับคนปฏิบัติหน้าที่ เราไม่มั่นใจในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐว่าสุจริต เที่ยงธรรม และเสมอภาค หรือไม่กับพี่น้องประชาชน”
ตั้งด่านโดยสุจริต เที่ยงธรรม และเสมอภาคหรือไม่?
ดร.ทองอยู่ ย้ำต่อว่าด้วยพฤติกรรมที่น่าระแวงสงสัยในการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจสิ่งเหล่านี้ มันพอกพูนให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยเป็นวงกว้าง เราเคารพต่อเจ้าหน้าที่บางท่านก็ปฏิบัติหน้าที่โดยซื่อสัตย์สุจริตไม่มีอะไรแอบแฝง ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐอีกไม่น้อยที่มุ่งหวังสินบนหรือรางวัลนำจับ หรือมีมูลเหตุแรงจูงใจอย่างอื่นมากว่าการปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายโดยสุจริต เที่ยงธรรม และเสมอภาค
“อีกเรื่องผลกระทบที่คิดและน่าตีแผ่ให้เจ้าหน้าที่รัฐได้รู้ปัญหาความเดือดร้อนจากการตั้งด่าน เมื่อเกิดเหตุซ้ำซ้อนจากการตั้งด่านที่ตั้งกันอย่างสนุนสนานทุกจังหวัดทุกอำเภอตำบล มันเป็นการเพิ่มภาระให้กับประชาชนในการเดินทาง เรียกว่าไม่เป็นสุขภาวะในการเดินทางของประชาชน เมื่อเกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อนคือชนกันในด่านขึ้นมา เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน อาจเกิดจากรถที่เรียกตรวจ หรือจากรถคันที่ตามมาจากคันที่เรียกตรวจ รู้ไหมว่ากว่า 80 % เมื่อเกิดอุบัติเหตุเลิกด่านเก็บด่านหายเลย”
ดร.ทองอยู่ สรุปปิดท้ายว่าคำถามที่ตามมาคือแล้วใครคือผู้รับผิดชอบเรื่องนี้ พอเกิดเรื่องเลิกด่านแล้วคนที่รับผิดชอบไม่ใช่ใคร ก็รถคันที่ถูกเรียกตรวจ หรือรถใกล้ๆที่ถูกเรียกตรวจที่เกิดอุบัติเหตุชนหรือเฉี่ยวชนกันในด่าน หรือไม่ก็ประกันภัย หรือเจ้าของบริษัท ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐนะหรอหายไปไหนไม่รู้ นอกเหนือเจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกสังคมมองว่าเป็นนักล่าสินบินและรางวัลนำจับแล้วก็ต้องรับผิดชอบจากการปฏิบัติหน้าที่ในการตั้งด่านของคุณด้วย ไม่ใช่หนีความรับผิดชอบ
“เหล่านี้ล้วนแล้วเป็นข้อกังขาของประชาชนในฐานะที่เราเป็นผู้ถูกบังคับใช้กฎหมาย รัฐอาจได้ประโยชน์จากการบังคับใช้กฎหมาย เรายินดีปฏิบัติตามกฎหมายทุกประการ แต่ที่ผ่านมาเราเหมือนเป็นผู้ถูกกระทำซะมากกว่า แล้วเมื่อเกิดผลกระทบจากการตั้งด่านแล้วใครจะรับผิดชอบ และใครจะเยียวยาผู้เสียหาย”