กทท. เผยผลประกอบการ 2 ไตรมาส ปีงบ’63 ตู้สินค้าลดลง 2.5% เซ่นพิษ COVID-19

0
114

            เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานให้บริการเรือ สินค้า และตู้สินค้าผ่านท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.)          ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน (ทชส.) ท่าเรือเชียงของ (ทชข.) และท่าเรือระนอง (ทรน.) ในช่วง 6 เดือน ของปีงบประมาณ 2563 (ตุลาคม 2562 – มีนาคม 2563) โดยเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

สรุปดังนี้

              ทกท. เรือเทียบท่า 1,977 เที่ยว เพิ่มขึ้น 6.176 % สินค้าผ่านท่า 11.024 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 5.747 %ตู้สินค้าผ่านท่า 0.725 ล้าน ที.อี.ยู. เพิ่มขึ้น 1.163 %

             ทลฉ. เรือเทียบท่า 5,200 เที่ยว ลดลง 5.213 % สินค้าผ่านท่า 43.545 ล้านตัน ลดลง 4.964 %ตู้สินค้าผ่านท่า 3.973 ล้าน ที.อี.ยู. ลดลง 3.212 %

             ทชส.  เรือเทียบท่า 1,775 เที่ยว เพิ่มขึ้น 18.761 % สินค้าผ่านท่า 120,876.85 ตัน เพิ่มขึ้น 6.840% ตู้สินค้าผ่านท่า 5,434.50 ตู้ เพิ่มขึ้น 37.414%

             ทชข.  เรือเทียบท่า 145 เที่ยว ลดลง 317.931 % สินค้าผ่านท่า 1,858.48 ตัน ลดลง 1,592.126 %

             ทรน. เรือเทียบท่า 164 เที่ยว ลดลง 11.585 % สินค้าผ่านท่า 70,697 ตัน ลดลง 14.704 % ตู้สินค้าผ่านท่า 2,182 ตู้ เพิ่มขึ้น 5.454%

               จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจมีแนวโน้มหดตัวร้อยละ 5.3 เนื่องจากการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้าได้รับผลกระทบรุนแรงจากการระบาดของ COVID-19    การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา และการหยุดชะงักของภาคการผลิต ส่งผลต่อรายได้และการบริโภคของครัวเรือน รวมถึงภาคการลงทุนของธุรกิจและเอกชนก็ได้รับผลกระทบทางลบเช่นกัน

             สำหรับปริมาณการขนส่งทางทะเลในปี 2563 อาจลดลงร้อยละ 5.1 จากปีก่อนหน้า ในส่วนของการขนส่งตู้สินค้าคาดว่าจะลดลงร้อยละ 9-10 นอกจากนี้ ในครึ่งปีแรกของปี 2563 คาดว่าบริษัทสายเรือ          มีผลกำไรลดลงร้อยละ 25-30 จากปีก่อนหน้า เนื่องจากได้รับผลกระทบโดยตรงจากการยกเลิกการให้บริการในบางเส้นทาง

            การท่าเรือฯ เปรียบเสมือน Logistic Platform ที่เชื่อมต่อการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศย่อมได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจในช่วงดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งผลการดำเนินงานจะแปรผันตามปริมาณการนำเข้าและส่งออก  โดยสะท้อนจากตัวเลขของผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นจริงในช่วง 2 ไตรมาสที่ผ่านมา (ตุลาคม 2562 – มีนาคม 2563)  มีปริมาณตู้สินค้าผ่านท่ารวมที่ 4.698 ล้าน ที.อี.ยู. ลดลงร้อยละ 2.562    รวมรายได้สะสม 6 เดือน จำนวน 7,397 ล้านบาท ลดลง 1.20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

          หากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในหลายภูมิภาคทั่วโลกยังไม่สามารถควบคุมได้ คาดการณ์ว่า  ผลการดำเนินงานของ กทท.  ในภาพรวมในปีงบประมาณ 2563 จะลดลงประมาณร้อยละ 3.0 (คาดการณ์    ณ เดือนเมษายน 2563)  โดยจากการคาดการณ์ ทกท. จะมีปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าประมาณ 1.452 ล้านที.อี.ยู. และ ทลฉ. จะมีปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าประมาณ 7.82 ล้าน ที.อี.ยู.