ตลาดรถใหญ่ซมพิษโควิด ไตรมาสแรกวูบ 21.3%

0
257

เปิดม่านฟ้าปีหนูไฟบรรลัยกัลป์ได้เพียงไตรมาสแรก ตลาดรถบรรทุกเมืองไทยก็ส่อเค้าอาการโคม่าตั้งแต่ต้นปีซะแล้ว หลังกระอักพิษเจ้าไวรัสมฤตยูมือโควิด-19 จนงอมพระราม ยอดขายรวมทุกค่ายทุกสายพันธุ์ร่วงหนักถึง 21.3 % อีซูซุพี่ใหญ่ตลาดรถญี่ปุ่นไร้อภิสิทธิ์ร่วง 16.2 % ฮีโน่พี่รองโดนด้วย 27.2 % ส่วนยูดีทะยานโตส่วนทางตลาด 47.0 % ฟากฟูโซ่ส่อโคม่าร่วงหนัก 49.5 %

ฟากเวทียุโรปสาหัสไม่แพ้กัน สแกนเนียเจ้าของแชมป์เวทีรถใหญ่ยุโรป 3 ปีซ้อนร่วง 43.0%วอลโว่ ทรัคส์ เคราะห์ซ้ำกรรมซัดร่วงหนักสุด 82.8% ดาวสามแฉกพราวแสงไม่ออกร่วง 47.0% ส่วนพญาราชสีห์ MAN กลับโตแก่นเฟี้ยวพิลึก 57.1%

ผลพวงจากภาวะเศรษฐกิจไทยช่วงขาลง ผสมโรงภาวะวิกฤติการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 กระทืบซ้ำทุกภาคธุรกิจแทบโงหัวไม่ขึ้นไม่เว้นแม้แต่ตลาดรถบรรทุก เพราะเพียงแค่ไตรมาสแรกปี 63 ยอดขายรวมทุกค่ายทุกสายพันธุ์ลดฮวบฮาบชนิดน่าใจหาย

จากสถิติยอดขายรถใหญ่ไตรมาสแรกปี 63 (ม.ค.-มี.ค.) ของทุกค่ายที่รวบรวมโดยบริษัท ฮีโน่มอเตอร์สเซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด พบยอดขายรวมทุกค่ายอยู่ที่ 5,312 คัน หดตัวลงถึง 21.3% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วที่ 6,748 คัน

พี่ใหญ่อีซูซุ-พี่รองฮีโน่ ร่วงทั้งคู่

หากย่อยออกเป็นของแต่ละค่าย พบว่าค่ายอีซูซุพี่เบิ้มรถใหญ่จากแดนปลาดิบบนผืนแผ่นดินไทย เจ้าของสโลแกน “Isuzu King of Trucks”ที่แต่ละปีโกยยอดขายสบายพุงุร่งโรจน์ไล่ล่าความสำเร็จพลางกินสัดส่วนตลาดแตะ 50 % แทบจะทุกปี ทว่าปีนี้ใหญ่แค่ไหนก็มิอาจทัดทานพิษโควิดได้ ปั้มยอดขายได้เพียง 2,778 คัน ลดลง 16.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีที่แล้วที่ 3,315 คัน

ส่วนพี่รองอย่างค่ายฮีโน่ ค่ายรถใหญ่ญี่ปุ่นที่ไล่บี้ไล่เบียดความยิ่งใหญ่เสมือนคู่ต่อกรพี่ใหญ่อีซูซุได้สนุกสูสีทุกปี ก็โดนพิษโควิดเล่นงานไปมิใช่น้อยวิ่งสู้ฟัดสะสมได้ยอดขายในไตรมาสแรก 2,078 คันปรับตัวลดลง 27.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีที่แล้วที่ 2,865 คัน

ยูดี โตสวนทางตลาด ฟูโซ่ จ่อล้มกระดาน

ส่วนเบอร์สามของตลาดอย่างค่ายยูดี ทรัคส์ที่แรงดีต่อเนื่องทุกปีกลับทะยานโตสวนทิศทางตลาด พิษโควิด-19 ที่ว่าร้ายมิอาจระคายเคืองผิวได้ เพราะยูดี ทรัคส์เล่นสอยยอดขายสบายใจเฉิบชนิดไม่กลัวพิษโควิดไปถึง 269 คัน เป็นการทะยานโตถึง 47.0% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วที่ 183 คัน

ส่วนเบอร์สี่ของตลาดอย่างค่ายฟูโซ่ภายใต้ชายคา DCVT ที่ฟอร์มยัง “สาละวันเตี้ยลงๆ”อย่างน่าใจหาย ท่ามกลางกลิ่นไม่ค่อยโสภาที่โชยมามีความเป็นไปได้สูงที่ DCVT มิอาจต้านทานแรงโน้มถ่วงความล้มเหลวการทำตลาดในไทยไว้ได้ คงถึงครา“ล้มกระดาน”ใหม่แล้วรอวันให้นายทุนใหม่ใจดีสมาร์ทสิงคโปร์มา Take Over ไปเซิ้งการตลาดต่อ

ยิ่งโดนพิษโควิดทุบซ้ำกระหน่ำก็ยิ่งตอกหัวตะปูย้ำภาวะ“ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี”ของค่ายชบาแดงในอ้อมอกเดมเลอร์ เพราะทำยอดขายในไตรมาสแรกได้แค่ 50 คัน ปรับตัวลดลง 49.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วที่ 99 คัน ที่เจ็บกระดองใจ more than กว่านี้ ในจำนวน 50 คันที่ว่านี้กลับต้องพึ่งใบบุญจากดิสทริบิวเตอร์เก่าถึง 18 คัน แสดงว่า DCVT ขายได้แค่ 32 คันเท่านั้นในไตรมาสแรก

ตอกหัวตะปูย้ำชัดว่าค่ายฟูโซ่ตกอยู่ในภวังค์ “ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี” และจ่อล้มกระดานรอนายทุนเงินหนาปลุกผีอีกระลอก!

สแกนเนีย ยังพอมีแรงฮึด วอลโว่ อาการน่าเป็นห่วง

ฟากเวทียุโรปปีนี้ ค่ายสแกนเนีย แม้จะทะยานเติบโตต่อเนื่องทุกปีพร้อมเถลิงแชมป์เจ้าตลาดรถใหญ่ยุโรป 3 ปีซ้อน(60-62)หลังโค่นค่ายเพื่อนเดียวกันอย่างวอลโว่ ทรัคส์ ตกบัลลังก์แชมป์เก่ารถใหญ่ยุโรปตลาดกาลลงได้ ครั้นถึงปี 63 นี้เป็นปีแห่งความท้าทายด้วยแรงโน้มถ่วงเศรษฐกิจไทยขาลง ผสมโรงด้วยแรงไวรัสโควิด-19 พ่นพิษ ส่งผลกระทบต่อยอดขายค่ายสแกนเนียในไตรมาสอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โดยสแกนเนีย ปั้มยอดขายฝ่าวิกฤติโควิดได้ 77 คัน ปรับตัวลดลง 43.0% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วที่ 135 คัน ฟากค่ายวอลโว่ ทรัคส์ ค่ายคู่รักคู่แค้นของสแกนเนียที่ไล่บี้ไล่เบียดความยิ่งใหญ่บนแผ่นดินไทยมาอย่างยาวยาน แม้จะเสียท่าให้ค่ายเพื่อนบ้านเดียวกัน 3 ปีติดๆ ถึงกระนั้น ค่ายวอลโว่ ทรัคส์ ยังปักหลักสู้อย่างสมศักดิ์ศรีสมดีกรีมวยคู่เอกแห่งเวทีรถใหญ่ยุโรป

ก็ไม่รู้เพราะเหตุผลกลใด?หรือเพราะเคราะห์ซ้ำกรรมซัดหรือไม่?ทั้งภาวะเศรษฐกิจไทยในทิศทางสาละวันเตี้ยลง ผนวกด้วยพิษวิกฤติโควิด-19 ทำเอายอดขายวอลโว่ ทรัคส์ร่วงอย่างน่าใจหาย โดยยอดขายในไตรมาสแรกวอลโว่ ทรัคส์เก็บมาได้แค่ 22 คัน ปรับตัวลดลงถึง 82.8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วที่ 128 คัน

เบนซ์ เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน MAN โตแคระแก่น

ขณะที่ค่าย “เมอร์เซเดส-เบนซ์”เจ้าแห่งโลโก้ดาวสามแฉกก็มิอาจสาดแสงเจิดจรัสแหวกม่านพิษโควิดไปได้ เก็บเบี้ยใต้ถุนร้านในไตรมาสแรกเพียง 9 คัน หดตัวลงถึง 47.0% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วที่ 17 คัน

ฟากค่ายพญาราชสีห์ MAN อีกหนึ่งแบรนด์พรีเมี่ยมจากเยอรมัน กับก้าวย่างสำคัญหลังหลุดวงโคจรจาก MCVT ในเครือตันจงเมื่อปลายปีที่แล้ว กลับเข้าสู่อ้อมอกของ MAN Truck & Bus Asia Pacific ที่ประกาศเซ็ตอัพ Area APAC ใหม่ในไทย พร้อมวาดวิมานในอากาศที่ไฉไลกว่าเดิม เมิน Importer และเดินหน้าลุยไฟทำตลาด ‘ชงเองกินเอง’ด้วยสโลแกนหรู MAN –Simply #1 ถึงกับลั่นวาจาอีก 3 ปีผงาดเบอร์ 1 หรือ 2 รถใหญ่ยูโรปในไทย

ทว่า พอเข้าสู่ปีหนูไฟบรรลัยกัลป์สัญญาณจากฐานบัญชาการ Area APAC ใหม่ในไทยกลับ “เงียบกริบ”ไร้สัญญาณวิบวับๆเหมือนที่โม้ไว้ก่อนหน้านี้ หลังส่องดูยอดขายของค่าย MAN ในไตรมาสแรกแล้วก็ขอขยี้ตาซะหน่อย เพราะมียอดขายดีขึ้นที่ 11 คัน ทะยานโตขึ้นถึง 57.1% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วที่ 7 คัน ดูตามรูปทรงแล้วถือเป็นการทะยานเติบโตแบบสวยงามยิ่งนักแล

ทว่า ทำไมดูสวนทางกับกลิ่นตุๆที่โชยลมกระทบหูทะแม่งๆ จากการตั้งการ์ดราคาขายไว้สูงลิ่วกว่า MCVT ซ้ำร้ายยังให้ดีลเลอร์สั่ง-จ่ายเงินล่วงหน้า 3 เดือน ย้ำ 3 เดือนก่อนสินค้าจะเข้า ทำเอาดีลเลอร์งงเป็นไก่ตาแตกยกเล้าพลางใส่เกียร์ถอยแทบไม่ทัน

กลยุทธ์สุดพิลึกกึกกือนี้ดีลเลอร์หน้าไหนจะกล้าสั่ง?แล้ว MAN Area APAC จะเอารถที่ไหนมาขายในท้องตลาด?

ทั้งหมดทั้งปวงนี้แค่วงล้อตลาดรถใหญ่ไตรมาสแรกเท่านั้น เกือบทุกค่ายทุกสายพันธุ์ยังกระอักพิษโควิดยอดขายจมพิษร่วงเป็นใบไม้ ผลกระทบจากภาวะวิกฤตินี้จะลากยาวนานแค่ไหนจากนี้ไป สะท้อนชัดว่าตลาดรถบรรทุกเมืองไทยปีหนูไฟบรรลัยกัลป์นี้ส่อเค้าสาหัสสากรรจ์แน่ยิ่งกว่าแช่แป้ง ถือเป็นบทพิสูจน์กึ๋นแม่ทัพของทุกค่ายจะฝ่าวิกฤติครั้งนี้อย่างไร?

…ให้บาดเจ็บน้อยที่สุด!