“เหวียน ถิ เฟือง เถา”CEO เวียตเจ็ท นักธุรกิจหญิงทรงอิทธิพลสุดในเอเชียปี 2019

0
458

ฟอบส์ เอเชีย (Forbes Asia) เปิดเผย 25 รายชื่อนักธุรกิจหญิงทรงอิทธิพลสูงสุดในภูมิภาคปีนี้ มีบทบาทสำคัญในการกำหนดสภาวะเศรษฐกิจเอเชียช่วง 2-3 ทศวรรษข้างหน้า สตรีเหล่านี้ได้รับการคัดเลือกโดยพิจารณาจากความสำเร็จและผลงานในอดีตที่ผ่านมา และเป็นตัวแทนภาคธุรกิจที่หลากหลายในเอเชีย โดยให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการวิสาหกิจ นักลงทุน ผู้บริหารระดับสูง รวมถึงสตรีที่สามารถแปรรูปวิสากิจครอบครัวจนประสบความสำเร็จ โดยทั้งหมดล้วนมีภูมิหลังที่แตกต่างกัน หากสามารถท้าทายแบบแผนและทลายข้อจำกัดเดิมๆในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้อย่างน่าชื่นชม

แม้ผู้หญิงจะมีบทบาทในอุตสาหกรรมการบินมานานกว่า 116 ปีทั้งในฐานะนักบินและผู้บริหารระดับสูงของสายการบินก็ตาม แต่ทว่า “นางเหวียน ถิ เฟือง เถา”ได้สร้างประวัติศาสตร์ใหม่ในธุรกิจนี้ที่ผู้ชายเป็นใหญ่มาช้านาน เธอเป็นสตรีเพียงคนเดียวที่ก่อตั้งและดำเนินธุรกิจสายการบินพาณิชย์ขนาดใหญ่ด้วยตัวเอง นั่นก็คือ สายการบินเวียตเจ็ท

ดังนั้น เธอจึงเป็นตัวอย่างที่โดดเด่นของนักธุรกิจหญิงทรงอิทธิพลในแง่มุมผู้ประกอบการวิสาหกิจหญิงที่ฉีกกฎเกณฑ์เดิม ๆ และทลายทุกข้อจำกัดที่เคยมีได้อย่างงดงาม ความสำเร็จในธุรกิจเวียตเจ็ททำให้เธอมั่งคั่งอย่างมหาศาล จนกลายเป็นมหาเศรษฐีนีที่สร้างฐานะด้วยตนเองคนแรกของเวียดนามด้วยมูลค่าทรัพย์สินราว 2.5 พันล้านดอลลาร์ และยังเป็นสตรีผู้สร้างฐานะด้วยตนเองที่มั่งคั่งสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ปัจจุบันเธอกำลังสั่งซื้อเครื่องบินเจ็ทลำใหม่เพื่อสร้างความได้เปรียบในอุตสาหกรรมการเดินทางทางอากาศของภูมิภาคที่กำลังเติบโตแบบก้าวกระโดดและนำสายการบินเวียตเจ็ทสู่เวทีการแข่งขันระดับโลก เธอพร้อมก้าวไปข้างหน้าแม้ต้องฝ่าฟันกับปัญหาสาธารณูปโภคพื้นฐานของเวียดนามที่ค่อนข้างเก่า ภาวะขาดแคลนนักบิน และการปฏิบัติตามข้อกำหนดการบินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

คุณเถาได้พิสูจน์แล้วว่าตนเองสามารถก้าวผ่านอุปสรรคต่าง ๆ ได้ ทำให้ในวันนี้ สายการรบินเวียตเจ็ทของเธอซึ่งก่อตั้งขึ้นในปีค.ศ.2007 มีขนาดใหญ่กว่าสายการบินเจ้าถิ่นอย่างเวียดนามแอร์ไลน์เมื่อประเมินจากจำนวนผู้โดยสาร เธอสร้างการเติบโต โดยเฉพาะจากการนำเสนอบริการที่โดดเด่น โดยมีการจัดแสดงจากนางแบบในชุดบิกินีเดินแบบบนเที่ยวบินที่เดินทางสู่แหล่งท่องเที่ยวชายหาดในช่วงวันหยุด ความโลดโผนในครั้งนั้นส่งผลให้สายการบินถูกปรับโดยรัฐบาล แต่เวียตเจ็ทก็ได้กลายเป็นกระแสข่าวโด่งดังไปทั่วโลก และแน่นอน บัตรโดยสารที่ขายดียิ่งขึ้น

นับจากจุดเริ่มต้นที่มีเพียงเส้นทางบินภายในประเทศ เวียตเจ็ทค่อย ๆ ขยายธุรกิจจนมีเครื่องบินกว่า 80 ลำให้บริการสู่จุดหมายปลายทาง 120 แห่ง “กลยุทธ์ของเราคือการขยายเส้นทางบินสู่ตลาดระดับภูมิภาคภายในระยะทาง 2,500 กม.” คุณเถากล่าว “ทำให้เราสามารถสร้างฐานการดำเนินงานที่ครอบคลุมผู้บริโภคจำนวนครึ่งหนึ่งบนโลกใบนี้”

ในปี 2017 เวียตเจ็ทได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นครโฮจิมินห์ด้วยมูลค่าการออกหุ้นที่ 1.4 พันล้านดอลลาร์ ในปีต่อมาเวียตเจ็ทให้บริการแก่ผู้โดยสารกว่า 23 ล้านคนคิดเป็น 46%ของจำนวนผู้โดยสารเครื่องบินทั้งหมดของเวียดนาม แม้จะมีจำนวนผู้โดยสารเพียงครึ่งหนึ่งของสายการบินราคาประหยัดชั้นนำของภูมิภาคอย่างแอร์เอเชีย ซึ่งมีจำนวนผู้โดยสารเมื่อปีก่อนถึง 44 ล้านคน แต่เวียตเจ็ทก็มีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าสายการบินยักษ์ใหญ่แห่งมาเลเซียรายนี้

รายรับเวียตเจ็ทเพิ่มขึ้นถึง 27% ที่ 54 ล้านล้านดอง (2.3 พันล้านดอลลาร์) ในปี ค.ศ. 2018 ในขณะที่รายรับของแอร์เอเชียเพิ่มขึ้น 9% ที่ 10.6 พันล้านริงกิต (2.5 พันล้านดอลลาร์) และสำหรับปีนี้ เวียตเจ็ทคาดว่าจะเติบโตเร็วยิ่งขึ้น โดยคาดว่าจะให้บริการแก่ผู้โดยสารราว 30 ล้านคน เพิ่มขึ้น 30% จากปีที่ผ่านมา “เราตั้งฐานะทางการตลาดของเวียตเจ็ทสู่การเป็นสายการบินระดับภูมิภาคและระดับสากลนับตั้งแต่เริ่มเปิดตัว” คุณเถาในวัย 49 กล่าว สายการบินทั้งสองยังมีประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวพันกัน โดยในช่วงแรกเมื่อปี 2010 แอร์เอเชียพยายามจับมือเป็นพันธมิตรกับเวียตเจ็ทเพื่อรุกตลาดการบินเวียตนาม แต่ก็ล้มเลิกข้อเสนอไปในปี 2011

กุญแจสู่ความสำเร็จของเวียตเจ็ทคือการรักษาระดับราคาให้ต่ำด้วยการขนส่งผู้โดยสารคราวละมาก ๆ เมื่อพิจารณาจากตัวชี้วัดประสิทธิภาพของอุตสาหกรรมการบินอย่างปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เวียตเจ็ทมีต้นทุนต่อหน่วยเพียง 2.3 เซนต์ เมื่อเปรียบเทียบกับแอร์เอเชียซึ่งอยู่ที่ 3.1 เซนต์ จะเห็นว่าเวียตเจ็ทมีการดำเนินงานที่คุ้มทุนกว่ามาก (ในขณะที่สายการบินในสหรัฐที่มีบริการเต็มรูปแบบจะอยู่ที่ 7 เซนต์) โดยในวันนี้ เวียตเจ็ทยังต้องการเพิ่มจำนวนผู้โดยสารในเครื่องบินรุ่นใหม่ Airbus A321neo ให้มากยิ่งขึ้น โดยเครื่องบินรุ่น A321neo ลำใหม่นี้จะมีที่นั่งถึง 240 ที่นั่ง ในขณะที่สายการบินส่วนใหญ่บรรทุกผู้โดยสารในเครื่องบินรุ่นA321neo เพียง 180 ที่นั่ง ทำให้เวียตเจ็ทมีจำนวนผู้โดยสารมากกว่าราว 1 ใน 3 ต่อลำ

แม้อาจดูมีจำนวนมาก แต่เที่ยวบินของเวียตเจ็ทมีอัตราการใช้บริการเฉลี่ยที่ 88% “นับเป็นสมการที่เต็มไปด้วยตัวแปรปริศนาจำนวนมากที่คุณต้องแก้โจทย์ให้ได้ และคุณต้องแก้ให้ได้ในทันที” คุณเถากล่าวถึงการรับมือกับความท้าทายที่เผชิญอยู่ “มีคำถามมากมายที่คุณต้องตอบให้ได้ และหากคุณตอบไม่ได้เพียงข้อเดียว คุณจะล้มเหลวแน่นอน”

เอเชียถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพสำหรับการขยายธุรกิจของเวียตเจ็ท โดยสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ ไออาตา (International Air Transport Association: IATA)  ประเมินว่าอุปสงค์การเดินทางทางอากาศในเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเป็นตลาดการเดินทางที่เติบโตเร็วที่สุดของโลก จะมีอัตราเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าภายใน 2 ทศวรรษข้างหน้า โดยจะทำให้มีผู้โดยสารเดินทางเพิ่มขึ้นอีก 2.8 พันล้านคนต่อปี อัตราการเดินทางในเวียดนามก็กำลังพุ่งสูงขึ้นเช่นกัน เนื่องจากชนชั้นกลางในประเทศที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยสนามบินต่าง ๆ ในประเทศต้องรองรับผู้โดยสารกว่า 106 ล้านคนในปี ค.ศ. 2018 เพิ่มขึ้น 13% จากปีก่อนหน้าซึ่งในจำนวนนั้นรวมถึงผู้โดยสารชาวต่างประเทศ 16 ล้านคนซึ่งเพิ่มขึ้น 20% จากปีก่อนหน้า